หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > Deposit Scheme ใหม่สำหรับบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่ซื้อกลับบ้าน มีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคมนี้

Deposit Scheme ใหม่สำหรับบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่ซื้อกลับบ้าน มีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคมนี้

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ประกาศใช้มาตรการใหม่สำหรับบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use food packaging) โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 นี้ ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารแบบซื้อกลับบ้าน (Take Away) และจัดส่งถึงบ้าน (Home Delivery) จะไม่สามารถให้บริการลูกค้าด้วยบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกต่อไป ลูกค้าจะต้องจ่ายค่าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มาตรการ Deposit Scheme ใหม่นี้ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการใช้ภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้(Re-use) และลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกำหนดค่าบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ด้วยตัวเอง และผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดเตรียมทางเลือกสำหรับบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ให้แก่ผู้บริโภค และสามารถกำหนดอัตราค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วยตัวเองเช่นกัน โดยรัฐบาลได้กำหนดแนวทางในการกำหนดอัตราค่ามัดจำ 0.25 ยูโรสำหรับถ้วยและแก้วบรรจุเครื่องดื่ม 0.50 ยูโรสำหรับภาชนะบรรจุอาหาร และ 0.05 ยูโรสำหรับบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กที่มีการบรรจุหีบห่อล่วงหน้า (Pre-packaged) เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว และเครื่องปรุงรส นอกจากนี้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคสามารถทำได้คือสามารถนำบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มของตนเองมาใส่อาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้านได้

มาตรการ Deposit Scheme ใหม่นี้จะใช้กับถ้วยหรือแก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้งหมด รวมถึงถ้วยหรือแก้วน้ำที่ประกอบด้วยพลาสติกเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ถ้วยกาแฟกระดาษเคลือบด้วยพลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุอาหารที่สามารถรับประทานได้โดยตรงโดยไม่ต้องมีการเตรียมอาหารเพิ่มเติม บรรจุภัณฑ์ที่ประกอบด้วยพลาสติกทั้งหมดหรือบางส่วน และมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เพียงครั้งเดียว เช่น จานพลาสติกที่ใส่มันฝรั่งทอดหรือสลัด หรือภาชนะขนาดเล็กที่มีการแบ่งส่วนอาหาร เช่น ถั่ว ผัก และผลิตภัณฑ์จากนม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงถุงและพลาสติกห่อ (Wrap) เช่น ถุงใส่มันฝรั่งทอด หรือ พลาสติกห่อแซนวิช มาตรการดังกล่าวไม่รวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่ลูกค้าจะต้องอุ่น ปรุง อบหรืออย่างก่อนรับประทาน

และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จะมีมาตรการห้ามใช้บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะบรรจุอาหารแบบพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งสำหรับการบริโภคอาหารภายในร้าน(Dine-in) เช่นกัน รวมถึงถ้วยกาแฟจากตู้จำหน่ายกาแฟอัตโนมัติ ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่สามารถใช้บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะบรรจุอาหารแบบพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อให้บริการอาหารพร้อมรับประทานสำหรับลูกค้าได้ อาทิ ร้านอาหารในโรงอาหาร ร้านอาหารในสำนักงาน ร้านอาหารหรือ Snack Bar ในงานเทศกาล เป็นต้น โดยจะต้องเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

คณะรัฐมนตรีรายงานว่าเนเธอร์แลนด์มีบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งประมาณ 19 ล้านชิ้นต่อวัน Vivianne Heijnen รัฐมนตรีกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการน้ำกล่าวว่า มาตรการใหม่นี้จะเป็นการช่วยลดปริมาณขยะลงอย่างมาก และจะช่วยให้โลกใบนี้สะอาดและน่าอยู่มากขึ้นสำหรับเด็กๆ ในอนาคต มาตรการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตาม European Directive ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use-plastics) ของเนเธอร์แลนด์ และยังมีมาตรการอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Directive อาทิ การห้ามใช้ช้อนส้อม จาน และที่คนกาแฟที่ทำจากพลาสติก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2564 มาตรการDeposit Scheme สำหรับขวดพลาสติก และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้มีการประกาศใช้มาตรการ Deposit Scheme สำหรับกระป๋อง เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งมาตรการ

บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีมากประเทศหนึ่ง มีมาตรการที่หลากหลายในการที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนในประเทศมีความใส่ใจ ให้ความสำคัญ และช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ ระบบเงินมัดจำ Statiegeld คือการนำขวดเปล่า เช่น ขวดเบียร์ ขวดน้ำอัดลม ไปคืนที่ร้านค้าและจะได้รับเงินมัดจำค่าขวดคืน ซึ่งทำให้คนดัชต์ส่วนใหญ่ยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ทำให้มีการขยายการใช้มาตรการ Deposit Scheme ไปใช้กับขวดพลาสติก กระป๋อง และจะปรับใช้กับบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งสำหรับการซื้อกลับบ้านและการจัดส่งถึงบ้าน เพื่อส่งเสริมการใช้ภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ (Re-use) และลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การรณรงค์และส่งเสริมการใช้พลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้จะช่วยให้ทุกคนตระหนักถึงผลกระทบและช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มีเพิ่มมากขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงภาคธุรกิจค้าปลีกและซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีการจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะผักและผลไม้ในบรรจุภัณฑ์พลาสติก จะเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยลดขยะบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก และเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าผักและผลไม้สดที่ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากต้องมีการใช้พลาสติกห่อหุ้มเพื่อลดปัญหาการเน่าเสียระหว่างการขนส่ง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรต้องปรับตัวและพิจารณาทางเลือกในการลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก และหันไปใช้วัสดุทางเลือกจากธรรมชาติที่มีความยั่งยืนมากกว่า หรือใช้พลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติซึ่งย่อยสลายได้ง่ายและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ข้าวโพด เปลือกมันฝรั่ง เป็นต้น

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login