จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่ค่อยมี Discounter รายใดที่กล้าหรือพร้อมที่จะส่งออกสินค้าอุปโภค – บริโภคของตัวเอง จะมีก็แต่เพียงที่ Lidl กับ Aldi เท่านั้น ที่กล้าลองส่งสินค้าตัวเองไปยังตลาดนอกกลุ่ม EU อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ จากประเด็นดังกล่าวนี้เองทำให้จุดประกายให้กับ Aldi Süd เริ่มหันมาพิจารณาและตัดสินใจเจาะตลาด Home Delivery เองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และหากพูดถึง Aldi Süd ถือว่าเป็น Discounter Supermarket (เป็นผู้ค้าปลีกในสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่เน้นขายราคาที่ถูกกว่า Supermarket โดยทั่วไป) รายใหญ่แห่งหนึ่งของเยอรมนี โดยได้เริ่มให้บริการ Home Delivery ขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2566 เป็นต้นมา และเริ่มทดลองขายใน 3 เมืองเล็ก ๆ ของเยอรมนี ได้แก่ (1) Mülheim an der Ruhr (2) Duisburg และ (3) Oberhausen ซึ่งการตัดสินใจของ Aldi ครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญและสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นในวงการ Discounter เพราะไม่ใช่แค่เน้นขายสินค้าราคาถูกและการปรับโฉมหน้าร้านใหม่ Aldi ได้เพิ่มธุรกิจบริการเข้าไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้คู่แข่งอย่าง Rewe และ Edeka ต้องเร่งปรับตัวตามให้ทัน สำหรับสาเหตุที่ Aldi Süd ตัดสินค้าที่จะบุกตลาดดังกล่าว ก็เพราะไม่ต้องการปล่อยให้กลุ่มธุรกิจ Start-ups ครองส่วนแบ่งในตลาดเพียงอย่างเดียว โดยกลุ่ม Start-ups อย่างพวก Gorillas หรือ Flink นี้ จะเน้นส่งสินค้าจำนวนน้อย ๆ แต่รวดเร็วให้แก่กลุ่มลูกค้าที่อาศัยในเมืองใหญ่ แต่ของ Aldi จะเน้นลูกค้าทั่วไปที่ซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีแรงจะยกของกลับบ้าน ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ยินดีและพร้อมที่จะจ่ายค่าขนส่งพิเศษ เพื่อให้ได้รับบริการที่ตอบโจทย์กับศักยภาพของร่างกาย และได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าตอบโจทย์แก่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ในเยอรมนี เพราะปัจจุบันสังคมเยอรมันเป็นสังคมสูงอายุเรียบร้อยแล้ว (Aging Society)
สำหรับ ลูกค้าที่ต้องการจะใช้บริการ Home Delivery ของ Aldi สามารถเรียกใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น “Mein Aldi” โดยในแอพพลิเคชั่นนี้จะมีสินค้าให้เลือกซื้อกว่า 1,300 รายการ ซึ่งขั้นตอนการส่งสินค้าจะไม่ใช่การที่มีพนักงานไรเดอร์ (พนักงานบริการส่งอาหาร/สินค้า) มารับสินค้าจากหน้าร้านแล้วนำไปส่งมอบให้ถึงมือลูกค้า แต่จะเป็นแบบที่พนักงานจะเข้าไปรับสินค้าจากคลังสินค้า แล้วจัดส่งให้แก่ลูกค้าถึงมือ อย่างไรก็ดีขณะนี้ Aldi Süd ยังไม่สามารถที่จะทำให้บริการ Home Delivery ได้เต็มความศักยภาพเพราะแอพพลิเคชั่นยังไม่รองรับการจองเวลาในการรับสินค้า ดังนั้น ลูกค้าจึงจำเป็นต้องรอเท่านั้น (ไม่สามารถบริหารเวลาไปทำธุระอย่างอื่นในระหว่างที่รอได้) นอกจากนี้ เวลาที่ใช้ในการจัดส่งสินค้าก็ยังไม่แน่นอนเพราะการขนส่งมีเส้นทางการเดินรถที่จัดไว้ล่วงหน้า (คล้ายกับการส่งของผ่านไปรษณีย์) ในตลาดที่มีการแข่งขันในเรื่องผลิตภัณฑ์ราคาถูก การให้บริการ Home Delivery นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะทำกำไรให้แก่บริษัท เนื่องจากการขายสินค้าราคาต่ำโดยมีกำไรเล็กน้อย บวกกับการให้บริการส่งสินค้าถึงมือลูกค้านั้น มักจะไม่คุ้มกับต้นทุนที่จ่ายไป สาเหตุที่ทำให้ Aldi ต้องการที่จะดำเนินการให้บริการ Home Delivery ก็คือ Aldi ไม่ต้องการให้ส่วนแบ่งตลาดนี้ (ออนไลน์) ถูกแย่งชิงไปโดยคู่แข่งทางการค้า
จาก Handelsblatt 18 กันยายน 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)