หน้าแรกTrade insight > จีนแผ่นดินใหญ่กลับมาอนุญาตการนำเข้าน้อยหน่าจากไต้หวัน

จีนแผ่นดินใหญ่กลับมาอนุญาตการนำเข้าน้อยหน่าจากไต้หวัน

น้อยหน่า สับปะรด และชมพู่ เป็นสามประเภทผลไม้ที่จีนแผ่นดินใหญ่มีการนำเข้าจากเขตปกครองพิเศษไต้หวันมากที่สุด โดยตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2564 เป็นต้นมา กรมศุลกากรประกาศระงับการนำเข้าน้อยหน่าจากไต้หวัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของศัตรูพืชตามกฎหมายและมาตรฐานการนำเข้า เนื่องจากมีการตรวจพบแมลงศัตรูพืช อาทิ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอยชนิดต่างๆ เป็นต้น ที่ปะปนมากับผลไม้หลายครั้ง หลังจากระงับการนำเข้าได้ 638 วัน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 กรมศุลกากรจีนแผ่นดินใหญ่กลับมาอนุญาตการนำเข้าน้อยหน่าจากไต้หวันอีกครั้ง โดยสินค้านำเข้าต้องมาจากโรงงานบรรจุภัณฑ์และสวนผลไม้ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนการส่งออก และมีการดำเนินการตรวจสอบสินค้าที่เป็นไปตามกฎระเบียบแล้วเท่านั้น

 

ปัจจุบัน จีนแผ่นดินใหญ่ได้ฟื้นฟูให้มีการนำเข้าเฉพาะน้อยหน่าเท่านั้น ส่วนชมพู่และสัปปะรด ยังคงระงับการนำเข้า ข้อมูลจากศุลกากรจีน ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา จีนนำเข้าน้อยหน่าจากไต้หวันสะสมมากกว่า 82,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 1,830 ล้านหยวน ราคาต่อหน่วยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 20-24 หยวนต่อกิโลกรัม ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2564 เพียงปีเดียว จีนนำเข้าน้อยหน่าจากไต้หวันมากกว่า 16,000 ตัน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 20 เมื่อเทียบเป็นรายปี ปริมาณและมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

ไต้หวันถือเป็นแหล่งผลิตน้อยหน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมณฑลไถตง เป็นพื้นที่มีการปลูกน้อยหน่ามากที่สุดในไต้หวัน โดยมีพื้นที่ปลูกถึง 5,500 เฮกตาร์ น้อยหน่าจากไต้หวันถือเป็นการเปิดประสบการณ์การลิ้มลองผลไม้ชนิดนี้ให้กับผู้คนในแผ่นดินใหญ่ ข้อมูลจากศุลกากรจีน ระบุ ในปี 2562 จีนนำเข้าน้อยหน่าทั้งหมดปริมาณ 15,345.4 ตัน คิดเป็นมูลค่า 51.97 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 353 ล้านหยวน) ในจำนวนนี้ จีนนำเข้าจากไต้หวันปริมาณ 14,000 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 90.71 ของการนำเข้าน้อยหน่าทั้งหมดจากทั่วโลก) คิดเป็นมูลค่า 325 ล้านหยวน (คิดเป็นร้อยละ 92 ของมูลค่าการนำเข้าน้อยหน่าทั้งหมดจากทั่วโลก)

 

ก่อนการระงับการนําเข้าผลไม้หลักสามชนิดจากไต้หวัน ผลไม้สามชนิดขายไปยังจีนแผ่นดินใหญ่คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 90 ตามสถิติของ Global Times ระบุว่า ในปี 2563 มูลค่ายอดขายรวมผลไม้สามชนิดไปยังจีนแผ่นดินใหญ่สูงถึง 4,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (หรือประมาณ 930 ล้านหยวน) โดยไต้หวันมีการส่งออกชมพู่ทั้งหมด 4,942 ตัน ในจำนวนนี้ ส่งออกไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ 4,792 ตัน คิดเป็นร้อยละ 98.1 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด ไต้หวันส่งออกน้อยหน่าไปยังจีน 12,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 95 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด (คิดเป็นมูลค่า 264 ล้านหยวน) และไต้หวันส่งออกสัปปะรดไปยังจีน 41,200 ตัน คิดเป็นร้อยละ 91 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด (คิดเป็นมูลค่า 362 ล้านหยวน)

 

ปัจจุบัน ไต้หวันมีโรงงานบรรจุภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 3 แห่ง และสวนผลไม้ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 25 แห่ง ถึงแม้ว่าจีนได้ฟื้นฟูการนำเข้าน้อยหน่าจากไต้หวันแล้ว แต่ผลผลิตที่พร้อมส่งออกจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไต้หวันได้มีกำชับและเตรียมพร้อม ในการควบคุมคุณภาพและการบรรจุภัณฑ์สินค้าให้พร้อมสำหรับการส่งออก หลังจากถูกระงับการนำเข้ามาเป็นเวลานาน ซึ่งการกลับมาอนุญาตนำเข้าน้อยหน่าในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาแรงกดดันทางเศรษฐกิจของเกษตรกรผลไม้ในท้องถิ่นไต้หวันเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณสําคัญที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจช่องแคบจีน-ไต้หวันอีกด้วย

 

น้อยหน่าเป็นผลไม้ที่กระจายอยากกว้างขวางในเขตร้อนของทวีป แอฟริกา อเมริกา เอเชียและประเทศใกล้มหาสมุทรแปซิฟิก อย่าง เปรู เม็กซิโก บราซิล คิวบา และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเพาะปลูกอย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเชีย ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในแถบประเทศอินเดีย ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ในประเทศจีนก็มีการเพาะปลูกในพื้นที่กึ่งเขตร้อน อาทิ มณฑลมณฑลไหหลำ ฝูเจี้ยน กว่างซี ยูนนาน เสฉวน และกว่างตง เป็นต้น แต่พื้นที่การเพาะปลูกไม่ใหญ่ และมีผลผลิตไม่สูง น้อยหน่าที่ขายในตลาดส่วนใหญ่มาจากไต้หวันและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาก “รายชื่อภูมิภาคของประเทศที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าผลไม้สดและผลไม้สด” โดยศุลกากรจีน ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 แหล่งนำเข้าน้อยหน่าที่จีนอนุญาตให้นำเข้ามีเพียงภูมิภาคไต้หวันและประเทศไทยเท่านั้น

 

ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : จากการระงับการนำเข้าน้อยหน่าและชมพู่จากภูมิภาคไต้หวันของจีนตั้งแต่ กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งนำเข้าเดียว นับได้ว่าเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกของผลไม้ทั้งสองชนิดไปยังจีน แต่ตั้งแต่ 20 มิถุนายน 2566  จีนเริ่มค่อยๆ ฟื้นฟูการนำเข้าผลไม้จากไต้หวันที่มีการระงับก่อนหน้า เริ่มจากน้อยหน่า แต่ถึงอย่างไรปริมาณผลผลิตน้อยหน่าของไทย ยังคงไม่มากพอเมื่อเทียบกับขนาดตลาด ซึ่งจากข้อมูลตัวเลขการนำเข้า แสดงว่า ปี 2565 ที่จีนระงับการนำเข้าน้อยหน่าจากไต้หวันแล้ว ยังคงนำเข้าจากไทยเพียงประมาณ 770 ตัน โดยในช่วงปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าที่จีนจะระงับการนำเข้าน้อยหน่าจากไต้หวันนั้น ขนาดตลาดการนำเข้าน้อยหน่าของจีนสูงถึง 12,423 ตัน ในขณะที่นำเข้าจากไทยอยู่ที่ประมาณ 600-700 ตัน คิดเป็นเพียง เกือบร้อยละ 5 ของการนำเข้าน้อยหน่าทั้งหมดของจีนเท่านั้น ดังนั้น ตลาดยังคงมีช่องว่าง

 

จากสถิติจากศุลกากรจีน ประมวลโดย Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่าหลังจากที่จีนแผ่นดินใหญ่ระงับการนำเข้าจากไต้หวัน ในช่วงกันยายน 2564 ทำให้ไทยเป็นแหล่งนำเข้าน้อยหน่าของจีนเพียงหนึ่งเดียว  ส่งผลให้ ปี 2565 ถึงพฤษภาคม 2566 ตัวเลขการนำเข้าน้อยหน่า ของจีนนำเข้าจากประเทศไทย 100 % โดยปี 2565 ที่ผ่านมาจีนนำเข้าน้อยหน่า (HS Code 08109050 : Fresh Sugar Apple) ปริมาณทั้งสิ้น 770 ตัน ลดลงร้อยละ 95.47  YoY  คิดเป็นมูลค่า 2.40 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 95.63 YoY โดยจีนนำเข้าน้อยหน่าจากไทยปริมาณ 770 ตัน ลดลงร้อยละ 2.14 YoY (คิดเป็นสัดส่วน 100 ของประเทศและภูมิภาคที่จีนนำเข้าน้อยหน่าทั้งหมด)  คิดเป็นมูลค่า 2.40 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.97 YoY  ในช่วงห้าเดือนแรกของปี 2566 จีนนำเข้าน้อยหน่าจากไทยแล้วปริมาณ 195 ตัน ลดลงร้อยละ 15.97 YoY คิดเป็นมูลค่า 278,936 เหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 54.63 YoY  เมื่อจีนกลับมาอนุญาตการนำเข้าน้อยหน่าจากไต้หวัน คาดว่าไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมากนักเนื่องจากปริมาณผลผลิตของไทยไม่มาก สิ่งสำคัญคือผู้ผลิตต้องรักษาคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานที่จีนกำหนดอย่างเคร่งครัด อนึ่ง ถึงปัจจุบันจีนอนุญาตนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทย จำนวน 22 ชนิด โดยน้อยหน่าเป็นหนึ่งในนั้น และในบรรดาประเทศอาเซียน ประเทศไทยได้รับอนุญาตนำเข้า มีชนิดของผลไม้สด มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นแหล่งนำเข้าผลไม้ของจีนมากที่สุดอันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง

 

                       ที่มา:

https://finance.eastmoney.com/a/202306202758875748.html

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

21 กรกฎาคม 2566

บทความที่เกี่ยวข้อง

Login