เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมาคณะกรรมการการลงทุน (Investment Commission) ได้ประกาศสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 6,850 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 29.29 ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่หดตัวลงจากปีก่อนหน้า แต่ก็ถือเป็นมูลค่าที่สูงเป็นอันดับ 2 ในรอบ 10 ปี โดยเป็นการลงทุนจากประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของรัฐบาลไช่อิงเหวิน (18 ประเทศ รวมไทยด้วย) คิดเป็นมูลค่ารวม 2,280 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย เป็นประเทศ 3 อันดับแรกที่มีการลงทุนในไต้หวันสูงสุดในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.88 จากช่วงเดียวกันของปี 2565
ในส่วนของการลงทุนจากประเทศไทยในไต้หวันในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 คิดเป็นมูลค่ารวม 86.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 84.57 โดยประเภทการลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ Professional, Scientific and Technical Services คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.89 ของการลงทุนจากไทยทั้งหมด รองลงมาได้แก่ Wholesale and Retail Trade (สัดส่วนร้อยละ 27.22) และ Financial and Insurance (11.38) ตามลำดับ
สำหรับในส่วนของการไปลงทุนในต่างประเทศของบริษัทไต้หวันในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2566 Investment Commission ได้อนุมัติการลงทุนคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 10,390 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 106.58 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการลงทุนโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น TSMC, Yageo Corp เป็นต้น โดยในจำนวนนี้ เป็นการลงทุนในประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่คิดเป็นมูลค่า 2,430 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.38 โดย 3 ประเทศแรกที่ไต้หวันเข้าลงทุนมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยในส่วนของการเข้าลงทุนในประเทศจีนของไต้หวัน มีมูลค่า 2,010 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.78 อันเกิดจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนไต้หวันหันไปลงทุนในตลาดอื่นแทนตลาดจีนมากขึ้น โดยไต้หวันเข้าลงทุนในไทยคิดเป็นมูลค่า 146.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.38
นอกจากนี้ ในส่วนของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศของไต้หวัน ก็มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน ซึ่งจากการประกาศของกระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน มูลค่าคำสั่งซื้อจากต่างประเทศของไต้หวันประจำเดือนกรกฎาคม 2566 ใน 5 ตลาดหลัก มีเพียงตลาดอาเซียนที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ด้วยมูลค่า 880 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.7 ในขณะที่ตลาดสหรัฐฯ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างก็หดตัวร้อยละ 18.6, 4.2, 32.0 และ 6.7 ตามลำดับ โดยคำสั่งซื้อจากอาเซียนในสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีการขยายตัวมากที่สุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.8 ในขณะที่คำสั่งซื้อจากจีนในสินค้าหมวดนี้ ขยายตัวร้อยละ 7.8 โดยผู้ประกอบการทั่วโลกได้ Shift คำสั่งซื้อจากจีนไปยังภูมิภาคอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่ผู้ประกอบการจีนก็ต้องรีบกักตุนสินค้า ก่อนที่คำสั่งห้ามจำหน่ายสินค้าเทคโนโลยีที่เป็นลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ให้กับบริษัทจีนของรัฐบาลสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้คำสั่งซื้อจากทั้งสองภูมิภาคนี้ในสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ที่มา : Economic Daily News / Commercial Times / Xin Media (August 22, 2023)
ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนแล้ว ยังทำให้การค้าระหว่างไต้หวัน-จีนได้รับผลกระทบ ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานกิจการไต้หวันของจีนได้ประกาศห้ามการนำเข้ามะม่วงสดจากไต้หวันโดยให้มีผลในทันที และทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า จีนอาจมีแนวโน้มที่จะลดสิทธิพิเศษที่มีให้กับไต้หวันทั้งในด้านภาษีและมาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์ ผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Cross-Strait Economic Cooperation Framework Agreement) โดยที่ผ่านมา จีนได้ประกาศห้ามนำเข้าสินค้าจากไต้หวันหลายรายการ เช่น สับปะรด น้อยหน่า ปลาเก๋า ปลาซัมมะ เป็นต้น โดยจากสถิติของกรมศุลกากรจีน ในเดือนมิถุนายน 2566 ไต้หวันส่งออกมะม่วงสดไปจีนปริมาณ 394 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ในขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้ามะม่วงสดอันดับ 1 ของจีนโดยมีสัดส่วนร้อยละ 60.25 ของการนำเข้าทั้งหมดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การห้ามนำเข้าสินค้าไต้หวันของจีนในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่จะขยายตลาดจีนได้มากขึ้น
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)