40-Hour Workweek ของชิลี

สภาผู้แทนราษฎรของชิลีได้อนุมัติร่างกฎหมายลดจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์จาก 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 โดยประธานาธิบดี (นาย Gabriel Boric) ได้ลงนามในร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว และกระบวนการต่อไปคือการประกาศลงในสื่อสิ่งพิมพ์ทางการของชิลี ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนในการทะยอยแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อลดผลกระทบต่อการจ้างงานและต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ร่างกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ ให้มีเวลาพักผ่อนและใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานที่มีการทำงานต่อเนื่องติดต่อกันหลายชั่วโมง เช่น ผู้ที่ทำงานในเหมืองแร่ เป็นต้น
การปรับลดชั่วโมงการทำงานตามกรอบกฎหมายจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้
• ปรับลดจาก 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็น 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในปีแรกหลังกฎหมายมีผลใช้บังคับ
• ปรับลดเป็น 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในปีที่ 3 หลังกฎหมายมีผลใช้บังคับ
• ปรับลดเป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในปีที่ 5 หลังกฎหมายมีผลใช้บังคับ
ทั้งนี้ หน่วยงานหรือภาคเอกชนที่ต้องการปรับลดชั่วโมงการทำงานเป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เร็วกว่าที่กรอบกฎหมายกำหนดดังกล่าว สามารถดำเนินการได้
สาระสำคัญของร่างกฎหมายฯ
• การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมิได้จำกัดเฉพาะลูกจ้างภายในประเทศ และการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างชดเชยในสัปดาห์ที่มีการทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมง พร้อมด้วยวันลาพักผ่อน
• กฎหมายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มสมดุลของชีวิตครอบครัวและการทำงานของชาวชิลี และเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ครอบครัวที่มีเด็กออายุต่ำกว่า 12 ปี ให้บิดาและมารดาได้ปรับตารางชั่วโมงการทำงานให้เหมาะสมกับวันเรียนของเด็กได้ดียิ่งขึ้น และการทำงานล่วงเวลาสามารถชดเชยได้โดยนายจ้างสามารถให้วันหยุดเพิ่มเติมสูงสุด 5 วันต่อปี
• การทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สามารถดำเนินการในรูปแบบของการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ และมีวันพักผ่อน 3 วัน โดยหน่วยงานหรือบริษัทที่ต้องการใช้ระเบียบการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ดังกล่าว ก่อนกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด จะต้องดำเนินการจัดทำข้อตกลงระหว่างบริษัทและพนักงาน ทั้งนี้ ชิลีมีตลาดแรงงานที่มีลักษณะเฉพาะ โดยรัฐบาลมุ่งให้การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านการกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน และหน่วยงาน National Training and Employment Service (Sence)
• ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงได้รับการยกเว้นนตามเงื่อนไขของการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามประมวลกฎหมายแรงงาน
• กฎหมายได้กำหนดทางเลือกให้แก่หน่วยงาน/บริษัทได้จัดทำข้อตกลงกับพนักงานให้เป็นไปตามเงื่อนไขการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยมีระยะเวลาเฉลี่ย 4 สัปดาห์ และสามารถทำงานได้ 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในสัปดาห์ใด ๆ ที่กำหนด โดยการทำงานที่เกินกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ติดต่อกันมากกว่า 2 อาทิตย์ ไม่สามารถกระทำได้ หากพนักงานของหน่วยงาน/บริษัทเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน จะต้องทำข้อตกลงกับสหภาพแรงงานก่อน
แรงงานในภูมิภาคลาตินอเมริกามีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งถือว่ามีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ เช่น เปรู อาร์เจนตินา เม็กซิโก และปานามา ในขณะที่ บราซิลมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเอกวาดอร์ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ การจัดทำกฎหมายเพื่อลดชั่วโมงการทำงานในชิลี ได้รับการวิเคราะห์ว่าการทำงานที่ระยะเวลายาวนานขึ้นมิได้ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยยกตัวอย่างการทำงานของประเทศฝรั่งเศส ที่มีการทำงาน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยแรงงาน/พนักงานมีประสิทธิผลการทำงานที่ดีมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และยังเป็นที่ตั้งขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำระหว่างประเทศที่สำคัญ นอกจากนี้ หลายประเทศในสภาพยุโรปมีการทดลองลดเวลาการทำงานลงเพื่อทดสอบประสิทธิภาพการทำงาน

บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต.
ข้อดีหรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการลดชั่วโมงการทำงาน ได้แก่ 1) การเสริมสร้างสมาธิและแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมของพนักงานที่จะมีต่องานมากขึ้น เนื่องจากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง รวมถึงความพึงพอใจต่อการทำงานเพิ่มขึ้น 2) การบริโภคที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการมีเวลาเพิ่มขึ้นส่งผลดีในภาพรวมต่อการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ
จากรายงาน Working Time and Work-Life Balance Around the World ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ที่เผยแพร่เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2566 ที่ศึกษาเวลาทำงานและการจัดเวลาทำงาน และผลกระทบของทั้งประสิทธิภาพทางธุรกิจและสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานของคนทำงาน โดยผลการรายงานแนะนำชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่น จะเป็นผลดีต่อธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพคนทำงาน สร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน โดยองค์กรต่าง ๆ ให้การยอมรับมากขึ้นต่อการทำงานจากระยะไกลและการเพิ่มความยืดหยุ่นของตารางการทำงานให้สอดคล้องกับวิถีการใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ โดยยังคงประสิทธิการทำงานสูงสุด ทั้งนี้ สคต. ณ กรุงซันติอาโก เห็นว่ารัฐบาลของชิลีมีความพยายามในการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีการปรับใช้มาตรฐานและแนวทางการดำเนินงานต่าง ๆ ที่มีการยอมรับจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งการออกกฎหมายการลดจำนวนชั่วโมงการทำงานในประเทศที่มีแนวปฏิบัติในทิศทางเดียวกันกับประเทศสมาชิกของ OECD แสดงให้เห็นว่าชิลีให้ความสำคัญต่อการใช้แรงงานในประเทศ และชิลียังเป็นประเทศหนึ่งที่มีการบังคับกฎหมายแรงงานอย่างเข้มงวด แม้ว่าชิลีจะมีทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก เป็นแหล่งแร่ธาตุสำคัญ อาทิ ทองแดง เงิน ลิเทียม รวมถึงพลังงานทดแทน โดยรัฐบาลชิลีมีนโยบายที่เปิดกว้างต่อการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ และชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นในธุรกิจต่าง ๆ ได้ถึงร้อยละ 100 แต่การบังคับใช้กฎหมายด้านแรงงานที่เข้มงวดของชิลี อาจทำให้นักลงทุนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงความคุ้มค่าของผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน โดยโอกาสการลงทุนในสาขาที่ชิลีมีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ไร่ไวน์ การท่องเที่ยว/การโรงแรม เหมืองแร่ และพลังงานทดแทน
______________________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
มิถุนายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login