“ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีควาต้องการบริโภคสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”
ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ (5 Human Senses) ได้แก่ การสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น และการรับรส เป็นสมรรถภาพทางสรีระที่มีบทบาทสำคัญต่อการการดำรงชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสาทสัมผัสทางด้านการได้กลิ่นและการรับรสซึ่งมีความสัมพันธ์ทางตรงต่อความรู้สึกอยากรับประทานอาหาร
ทั้งนี้ ภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่ในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนหลายล้านคนทั่วโลกทำให้ต้องสูญเสียความสามารถในการได้กลิ่นและรับรสบางส่วนหรือทั้งหมดไป แม้ว่าจะหายจากภาวะการติดเชื้อแล้วก็ตามซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของกลุ่มผู้สูญเสียประสาทสัมผัสดังกล่าว จนเป็นที่มาของการจัดตั้งสมาคมการได้กลิ่นและการรับรสโลก (World Taste & Smell Association) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนเห็นตระหนักถึงความสำคัญของประสาทสัมผัสมนุษย์และเพื่อให้สามารถปรับคุณภาพการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
โดยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมสัมมนาผ่านช่องทางออนไลน์ในหัวข้อ แนวโน้มกลิ่นและรสอาหารในอนาคต (Future Trends in Taste and Scent) เพื่อเสวนาให้ข้อมูลด้านการรับรสและทิศทางแนวโน้มตลาดสินค้าอาหารในอนาคตซึ่งสามารถสรุปเทรนด์อาหารที่มีแนวโน้มเป็นที่นิยมได้ 3 ประการ ดังนี้
1. เทรนด์อาหารที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี (A Focus on Well-Being) นอกจากประเด็นด้านแนวโน้มเทคโนโลยีและมาตรฐานการผลิตสินค้าในอนาคต เช่น เทคโนโลยีการเกษตรแนวตั้ง จะเป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบันแล้ว ประเด็นด้านการสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดี (Well-Being) ก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคในตลาดสนใจจับตามองมากด้วย
โดย Mr. Steven Pearce นักพัฒนารสชาติและกลิ่น (Developer of Flavors and Fragrances) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคในตลาดต่างตระหนักว่า อาหารเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต (Mental Health) โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตาลและไขมัน ทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมควบคุมปริมาณการบริโภคอาหารที่มีวัตถุดิบดังกล่าวมากขึ้น
นอกจากนี้ ผู้บริโภคในตลาดยังตระหนักว่ารสชาติ (Flavors) และกลิ่น (Fragrance) ในอาหารมีส่วนช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีและสุขภาพจิตของผู้บริโภคได้นอกจากนี้ Ms. Olivia Jezler นักอนาคตศาสตร์ (Futurologist) ยังกล่าวว่า ผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตมากขึ้น เช่น อาการวิตกกังวล (Anxiety) และอาการภาวะซึมเศร้า (Depression) โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อีกทั้ง สถานการณ์ยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการในตลาดจึงควรพิจารณาพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีอรรถประโยชน์ต่อสุขภาพจิตของผู้บริโภค ซึ่งน่าจะเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
2. เทรนด์อาหารรสขม (Bitter is Better) Dr. Morgaine Gaye ผู้ที่เคยสูญเสียการรับรู้รสและกลิ่นอันเป็นผลจากภาวะการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 กล่าวว่า ปัจจุบันพบผู้บริโภครุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มประชากร Millennials นิยมรับประทานอาหารที่มีรสชาติขมมากขึ้น เช่น ช็อคโกแลต และผักแคล (Kale) และน่าจะเป็นโอกาสสำหรับอาหารรสขมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพรายการอื่นด้วย
3. เทรนด์โปรตีนจากกระบวนการหมัก (Rarefied Air) ผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันให้ความสนใจกระบวนการผลิตโปรตีนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต่างพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตโปรตีนที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนจากการหมักที่ใช้อากาศน้อย (Rarefied Air) ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่คล้ายกับการหมักโยเกิร์ต หรือ ชีส ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตที่ช่วยเพิ่มเนื้อสัมผัส (Texture) รสชาติของอาหารและได้รับความสนใจมากในขณะนี้
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
อาหารและเครื่องดื่มเป็นกลุ่มสินค้ามีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคในตลาดสูงมาโดยตลอด ซึ่งกระแสนิยมของพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละช่วงมีอิทธิพลต่อการขยายตัวของตลาด โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมากระแสนิยมสินค้าอาหารและเครื่องดื่มธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์มีบทบาทและได้รับความนิยมสูงทำให้ตลาดมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงเกือบสองเท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจากเดิม 3.50 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 เป็น 6.76 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.8 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยสินค้าอาหารปลอดสารพิษเพียงอย่างเดียวแต่ยังคงให้ความสำคัญลงลึกไปถึงแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดำเนินกิจการที่เป็นธรรมทั้งต่อสังคมและแรงงาน (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ เช่น กลุ่มประชากร Millennials และ Generation Z ที่เริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น
โดยล่าสุดในปี 2565 คาดว่า สหรัฐฯ มีประชากรกลุ่มดังกล่าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 140 ล้านคน คิดเป็นกำลังการซื้อ (Purchasing Power) รวมทั้งสิ้นเกือบ 3.0 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีบทบาทสูงที่สุดในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในขณะนี้ นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวยังมีพฤติกรรมกล้าใช้จ่ายเงินในการเลือกซื้อสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการและความเชื่อของตน รวมถึงสินค้าที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านราคาเป็นลำดับรอง จึงทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นที่ผู้ประกอบการต้องการจะเจาะตลาด
ทั้งนี้ กลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีลักษณะพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าที่โดดเด่นเฉพาะตัว นอกจากการเลือกพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มตามแนวโน้มกระแสนิยมในตลาดทั้งสามที่กล่าวมาข้างต้น ได้แก่ สินค้าเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี สินค้ารสขม และสินค้าโปรตีนใหม่ๆ แล้ว การพัฒนาสินค้าโดยเน้นอรรถประโยชน์ของสินค้าและการสร้างประสบการณ์ในการบริโภคสินค้าก็เป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้มักจะใช้ร่วมกับการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มอรรถประโยชน์ (Functional Food and Beverages) ที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพและมีสรรพคุณช่วยสนับสนุนการนอนหลับ การลดน้ำหนัก การลดความเครียด การเพิ่มสมาธิ การเพิ่มพลังงาน และการบำรุงสมรรถภาพด้านสมอง เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยเองมีความได้เปรียบในด้านทรัพยากรสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายชนิดซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและให้อรรถประโยชน์ตามที่ผู้บริโภคในตลาดสนใจ เช่น ขิง ข่า กระชาย ขมิ้นชัน ไพร น้ำมันมะพร้าว น้ำผึ้ง และมะขามเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สมุนไพรไทยที่มีประโยชน์เหล่านี้ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภคในตลาด ดังนั้น การสนับสนุนการศึกษาวิจัยคุณสมบัติทางวิทยาศาสตร์สมุนไพรไทยอย่างจริงจังให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือในระดับสากลและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ประโยชน์ของสมุนไพรไทยอย่างต่อเนื่องจริงจังในตลาดจะช่วยสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ ควรศึกษากฎระเบียบคุณภาพสินค้าขององค์กรอาหารและยาสหรัฐฯ (US FDA) เช่น กฎระเบียบคุณภาพความปลอดภัยสินค้าต่อผู้บริโภค และกฎระเบียบการแสดงสลากสินค้าเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าในอนาคต โดยเฉพาะการอวดอ้างสรรพคุณที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลมาก หากสินค้าแสดงสรรพคุณในการรักษาหรือป้องกันอาการเจ็บป่วยของโรคต่างๆ ก็จะเข้าข่ายถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในหมวดยา ซึ่งมีระเบียบและข้อบังคับในการอนุญาตนำเข้าที่เข้มงวดมาก อีกทั้ง สินค้ายังจำเป็นจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพสินค้าจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์และจะต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานฯ ก่อนวางจำหน่ายสินค้าในตลาด (Premarket Approval หรือ PMA) ซึ่งยุ่งยากและใช้เวลานานมากกว่ามากกว่าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มทั่วไปด้วย
“สินค้าอาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชั่นยังคงมีโอกาสในการขยายตลาดในสหรัฐฯ”
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)