หน้าแรกTrade insightข้าว > 1 กรกฎาคม 2568 ออสเตรเลียยุติระบบตลาดข้าวแบบผูกขาดที่ยาวนานกว่าศตวรรษ

1 กรกฎาคม 2568 ออสเตรเลียยุติระบบตลาดข้าวแบบผูกขาดที่ยาวนานกว่าศตวรรษ

ช่วงเดือนสิงหาคมปี 2567 รัฐบาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ผ่านร่างกฎหมายปฏิรูประบบการผูกขาดข้าวที่ถูกเสนอโดยนาง Tara Moriarty รัฐมนตรีเกษตรรัฐนิวเซาท์เวลส์ส์ ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านกฎหมายจะเริ่มมีผลในพื้นที่ปลูกข้าวทางตอนเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลส์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 และมีผลใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยุติระบบผูกขาดในอุตสาหกรรมข้าวออสเตรเลีย ส่งเสริมโอกาสในการเจรจาต่อรองสัญญาส่งออกข้าวโดยตรงกับผู้รับซื้อต่างประเทศตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพทางการแข่งขันในตลาดข้าวแก่เกษตรกรในระยะยาว นับว่าจะเป็นการยุติระบบผูกขาดอุตสาหกรรมข้าวในออสเตรเลียที่มีมายาวนานกว่าศตวรรษ

การตัดสินใจของรัฐบาลรัฐนิวเซาท์เวลส์เกิดขึ้นหลังจากรายงานของ Australian Bureau of Agricultural and Resource Economics and Sciences (ABARES) ระบุว่า ระบบการผูกขาดจำกัดความสามารถและการพัฒนาประสิทธิภาพผลผลิตในช่วงเวลาที่น้ำมีจำกัดและส่งผลให้การผลิตข้าวภูมิภาคลดลง และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในรัฐนิวเซาท์เวลส์ยื่นคำร้องเพื่อเปิดตลาดข้าวโดยยกเลิกระบบผูกขาดซึ่งจำกัดเสรีภาพในการทำตลาดข้าวของเกษตรกร

ล่าสุด เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ประมาณ 20 ราย) ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ได้ระดมทุนเพื่อลงทุนสร้างโรงสีข้าวแห่งใหม่ในพื้นที่ชนบทเมือง Jerilderie ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐนิวเซาท์เวลส์มูลค่า 10 ล้านเหรียญออสเตรเลียสำหรับการสีข้าวและแปรรูปข้าวในเขตพื้นที่ Riverina ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตข้าวสูงถึงร้อยละ 98 ในออสเตรเลีย และเพื่อเป็นก้าวแรกสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนในพื้นที่ชนบทต่อไป โดยแรงผลักดันในการสร้างโรงสีข้าวนี้เกิดขึ้นในระหว่างการระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ยืดยาวกว่า 3 ปี และเป็นช่วงที่ห้างซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในออสเตรเลียประสบภาวะขาดแคลนข้าว สร้างความตื่นตระหนกต่อความมั่นคงทางอาหารในออสเตรเลีย จึงเป็นต้นเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเพื่อยุติบทบาทการผูกขาดซึ่งมีบริษัท SunRice เป็นผู้มีสิทธิ์เต็มที่ในการทำตลาดและจำหน่ายข้าวของรัฐนิวเซาท์เวลส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมายาวนานกว่า 100 ปี

การระดมทุนของกลุ่มเกษตรกรในครั้งนี้ ได้สร้างโรงสีข้าวขนาดเล็กและโรงสีข้าวขนาดใหญ่ที่สามารถแปรรูปข้าวได้สูงถึง 7 ตันต่อชั่วโมง อีกทั้งผลการสำรวจโดยกลุ่มผู้ปลูกข้าวพบว่า ผู้บริโภคต้องการข้าวหลากหลายชนิดบนชั้นวางในซุปเปอร์มาร์เก็ต จึงเห็นโอกาสที่จะเพิ่มผลตอบแทนโดยการปลูกและขายข้าวพันธุ์ชนิดพิเศษ (ข้าวดำ ข้าวม่วง ข้าวแดง และข้าวพันธุ์พื้นเมืองบางชนิด) ซึ่งโรงสีข้าวทั้งสองแห่งมีศักยภาพในการแปรรูปข้าวพันธุ์ชนิดพิเศษได้ เพื่อตอบสนองความต้องการทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันหรือทิศทางการบริโภคเพื่อสุขภาพ ทำให้กลุ่มเกษตรกรในรัฐนิวเซาท์เวลส์ประสบความสำเร็จในการนำแบรนด์ Nice Rice เข้าสู่เครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ทั้งหมดภายใต้แนวคิดสร้างโดยเกษตรกร เพื่อเกษตรกร

โดยกลุ่มเกษตรกรที่อยู่เบื้องหลังโครงการนี้ คาดหวังว่า โรงสีข้าวแห่งใหม่ที่ติดตั้งด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยจากญี่ปุ่นจะช่วยเพิ่มผลกำไรและโรงสีข้าวนี้อาจเป็นแบบแผนสำหรับชุมชนชนบทและกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ ในการแปรรูปผลผลิตของตนเองต่อไป

เปรียบเทียบราคาข้าวแบรนด์ Nice Rice กับข้าวแบรนด์หลักในตลาด*

ประเภทข้าว แบรนด์ Nice Rice

ปลูกในเขต Riverina

ประเภทข้าว แบรนด์ Private label ของซุปเปอร์มาร์เก็ต (นำเข้าจากไทย) ประเภทข้าว แบรนด์ SunRice  (นำเข้าจากไทย)
หอมมะลิ ราคา 5 AUD/Kg หอมมะลิ ราคา 3.5 AUD/Kg หอมมะลิ ราคา 7.5 AUD/Kg
Long Grain ราคา 3.5 AUD/Kg Long Grain ราคา 1.8 AUD/Kg Long Grain ราคา 3 AUD/Kg
Medium Grain ราคา 5 AUD/Kg Medium Grain (local) ราคา 3 AUD/Kg Medium Grain (local)ราคา 4.5 AUD/Kg
Brown Rice ราคา 5 AUD/Kg Brown Rice (local) ราคา 2.5 AUD/Kg Brown Rice (local) ราคา 4.5 AUD/Kg
Sushi Rice ราคา 6 AUD/Kg Sushi Rice (local) ราคา 4.7 AUD/Kg

* ราคา ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2568

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรและสมาคมผู้ปลูกข้าวต่างมีความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวแตกต่างกันระหว่างกลุ่มเกษตรกรรุ่นเก่าที่ได้รับประโยชน์จากระบบผูกขาดที่ให้ผลตอบแทนอย่างมั่นคงและยังไม่สามารถรับมือกับความเสี่ยงในการทำตลาดและต้นทุนในการแปรรูปที่สูง กับกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สนับสนุนเสรีภาพทางการตลาดเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรในการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ

อ่านข่าวฉบับเต็ม : 1 กรกฎาคม 2568 ออสเตรเลียยุติระบบตลาดข้าวแบบผูกขาดที่ยาวนานกว่าศตวรรษ

Login