หน้าแรกTrade insightยางพารา > ไทยร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจโลกมุสลิม “COMCEC” พร้อมหารือขยายตลาดตุรกี

ไทยร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจโลกมุสลิม “COMCEC” พร้อมหารือขยายตลาดตุรกี

เมื่อวันที่ 4-5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ตุรกีได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารด้านเศรษฐกิจและการค้าขององค์การความร่วมมืออิสลาม (Standing Committee for Economic and Commercial Cooperation of the Organization of the Islamic Cooperation หรือ COMCEC) ครั้งที่ 40 ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการค้าของกลุ่มประเทศสมาชิก OIC ที่สำคัญที่สุดซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และในครั้งนี้ทางตุรกีถือเป็นวาระพิเศษที่ครบรอบ 40 ปี ของการจัดตั้งกลไกการประชุมดังกล่าว โดยในโอกาสนี้ทางรัฐบาลไทยได้มอบหมายให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนเข้าร่วมในการประชุมดังกล่าวในฐานผู้สังเกตุการณ์ และหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าของตุรกีเพื่อหาแนวทางขยายความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายร่วมกัน

 

 

ในพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐตุรกี นายเรเจป ตัยยิบ แอรโดก์อาน ได้กล่าวสุนทรพจน์ถึงการมีส่วนร่วมของตุรกีและผู้นําของตุรกีรวมทั้งข้าราชการระดับสูงในยุคนั้น ในการจัดตั้ง COMCEC และถือว่าองค์กรนี้มีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าพร้อมจะทำงานด้วยความยึดมั่นในความสามัคคีและเจตนาที่ดีเพื่อความก้าวหน้าต่อไปของตุรกีและทุกฝ่าย

 

 

สุนทรพจน์ของนายแอรโดก์อานในปีนี้เริ่มต้นด้วยการให้ความสนใจกับความทุกข์ทรมานและการข่มเหง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กลุ่มประเทศมุสลิมต่างๆ โดยเขาได้แสดงความเสียใจต่อการโจมตีที่โหดร้ายและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์ ฉนวนกาซา และเลบานอน “ชาวปาเลสไตน์กว่า 50,000 คนต้องสูญเสียชีวิตไปในการโจมตีฉนวนกาซาของอิสราเอล โดยผู้เสียชีวิตส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็กในของการโจมตีเหล่านี้” ทั้งนี้ ประธานาธิบดีแอรโดก์อานได้กล่าวระลึกถึงการพยายามป้องกันตนเองอย่างมีเกียรติของชาวปาเลสไตน์และขอความเมตตาต่อผู้สูญเสียในนามของมนุษยชาติทั้งหมด พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าตุรกีถือเป็นประเทศหลักในการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังปาเลสไตน์ โดยเขาได้ระบุอีกว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมน้ำหนักรวมกว่า 85,000 ตัน ได้ถูกส่งไปยังฉนวนกาซาแล้ว และตุรกีได้ยุติความสัมพันธ์ทางการค้ากับอิสราเอล เขายังเรียกร้องให้ทุกประเทศยอมรับรัฐปาเลสไตน์และเรียกร้องให้มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความสามัคคีมากขึ้นในเรื่องนี้

 

 

สำหรับประเด็นด้านเศรษฐกิจ เขากล่าวว่า เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงที่ยากลำบาก อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และการกีดกันทางการค้าก็เป็นอุปสรรคสำคัญ นายแอรโดก์อานเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก OIC ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยระบุว่าควรเพิ่มการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกและควรพัฒนาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งความร่วมมือนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 

 

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการสําคัญด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสีเขียว เขากล่าวว่าพวกเขาให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับโครงการ Zero Waste ซึ่งริเริ่มภายใต้การนําของนางเอมิเน แอรโดก์อาน (ภริยาของประธานาธิบดี) และได้กลายเป็นความคิดริเริ่มที่สำคัญของหลายๆ ประเทศ ทั้งยังเน้นย้ำถึงบทบาทของผู้หญิงในเศรษฐกิจสีเขียวและระบุว่าโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก

 

 

 

นายแอรโดก์อาน ให้ความสนใจกับการพัฒนาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และดิจิทัล โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในความร่วมมือมากขึ้นเพื่อเอาชนะจุดอ่อนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของโลกอิสลาม เขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องเยาวชนจากภัยคุกคามทางดิจิทัล และเชิญชวนให้ประเทศสมาชิก COMCEC พัฒนาโครงการร่วมเพิ่มเติมในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์

 

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ

 

กลุ่มประเทศ OIC หรือ Organization of the Islamic Cooperation เป็นการรวมตัวกันของประเทศมุสลิมรวม 57 ประเทศ จากทุกภูมิภาคทั่วโลก นับเป็นการรวมกลุ่มประเทศที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่ง มีความร่วมมือกันในหลายด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยตุรกีซึ่งเป็นสมาชิกก่อตั้งได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม COMCEC อย่างต่อเนื่องมาจนถึงในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 40 อย่างไรก็ตาม ตามปกติแล้วความร่วมมือกันในกลุ่ม OIC นั้นเป็นไปในรูปแบบความร่วมมือกันอย่างหลวมๆ ไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายใดๆ แต่เน้นในเรื่องของการเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ในกลุ่มสมาชิกเพื่อพัฒนาไปสู่กลไกอื่นที่เป็นรูปธรรมกว่าต่อไป

 

 

ในส่วนของประเทศไทยนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสุชาติ ชมกลิ่น) ได้เป็นหัวหน้าคณะนำผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว และภายหลังจากพิธีเปิดการประชุมฯ ได้มีการหารือทวิภาคีกับนายมุสตาฟา ตุซคู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าของตุรกี โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือถึงแนวทางที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลับเข้าสู่การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ตุรกี ซึ่งได้หยุดชะงักลงตั้งแต่ปี 2565 โดยขอให้คณะเจรจาของทั้งสองฝ่ายกลับเข้าสู่การเจรจาโดยเร็วโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ฝ่ายตุรกียังได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ Joint Trade Committee (JTC) ระดับรัฐมนตรี ณ กรุงอังการา ซึ่งเป็นกลไกการหารือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับตุรกีที่สองฝ่ายได้เคยจัดตั้งกันไว้แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีการประชุมระหว่างกัน โดนสำนักงานฯ จะติดตามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อจะได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 33 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 4 ในตะวันออกกลาง โดยในระยะ 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2567 นี้

 

 

การค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายมีมูลค่า 1,221 ล้านดอลลาร์  สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และเส้นใยประดิษฐ์ และสินค้านำเข้า ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องประดับอัญมณี น้ำมันดิบ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

 

 

ที่มา: https://www.aa.com.tr/tr/gundem/cumhurbaskani-erdogan-son-asrin-en-vahsi-soykirimlarindan-biri-hemen-yani-basimizda-gazzede-yasaniyor/3383348

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ไทยร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจโลกมุสลิม “COMCEC” พร้อมหารือขยายตลาดตุรกี

Login