หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > ไต้หวันประกาศห้ามใช้อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารแบบใช้แล้วทิ้งที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ

ไต้หวันประกาศห้ามใช้อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารแบบใช้แล้วทิ้งที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ

พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติภายหลังจากการใช้งาน ถูกมองว่าจะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสามารถนำมาใช้ทดแทนพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากอุตสาหกรรม
ปิโตรเคมีได้ โดยพลาสติกชีวภาพถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายหลังจากรัฐบาลไต้หวันประกาศห้ามใช้อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารแบบใช้แล้วทิ้งที่ผลิตจากพลาสติกธรรมดา อย่างไรก็ดี เนื่องจากการกำจัดพลาสติกชีวภาพ จำเป็นต้องมีการคัดแยกขยะและสถานที่สำหรับการย่อยสลายโดยเฉพาะ ล่าสุด ทบวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไต้หวันประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป หน่วยงาน/องค์กรรวม 8 ประเภท ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ สถานศึกษาของรัฐ ห้างสรรพสินค้าและชอปปิงมอลล์ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อเชนสโตร์ ร้าอาหารฟาสต์ฟู้ดเชนสโตร์ รวมถึงร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีหน้าร้าน ห้ามใช้อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารแบบใช้แล้วทิ้ง ไม่ว่าจะผลิตจากพลาสติกธรรมดาหรือพลาสติกชีวภาพ ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับตั้งแต่ 1,200 – 6,000 เหรียญไต้หวัน

นายหวังเยี่ยปิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Recycling Fund Management Board ชี้ว่าพลาสติกชีวภาพส่วนใหญ่ ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบจากพืช เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย เป็นต้น ซึ่งในระยะแรกถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับทดแทนพลาสติกธรรมดา แต่ทั้งนี้ จะต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมเท่านั้น จึงจะสามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในไต้หวันยังไม่มี Facility สำหรับการจัดการอย่างเหมาะสม ประกอบกับรูปลักษณ์ภายนอกของพลาสติกชีวภาพ กับพลาสติกแบบธรรมดาแทบไม่แตกต่างกัน ทำให้มีความยากในการคัดแยก จึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการคัดแยกขยะพลาสติกที่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ทำให้จำเป็นต้องห้ามการนำบรรจุภัณฑ์อาหารที่นำพลาสติกชีวภาพมาใช้งาน โดยในชั้นนี้ยังจำกัดการห้ามใช้งานเฉพาะในส่วนของอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารและบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารแบบใช้แล้วทิ้งที่มีการบรรจุอาหารในร้านเพื่อจำหน่ายในทันทีเท่านั้น เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม ตะเกียบ ถาด กล่องใส่อาหาร และแก้ว  โดยยังไม่ครอบคลุมถึงสินค้าที่บรรจุเรียบร้อยและวางอยู่บนชั้นวางจำหน่ายให้ลูกค้าเลือกซื้อ โดยผู้ประกอบการใน 8 ช่องทางการตลาดข้างต้นที่มีความประสงค์จะใช้งานพลาสติกชีวภาพมาใช้ในการบรรจุอาหาร ก็จะต้องมีกลไกในการรีไซเคิลที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีการประกาศใช้มาตรการดังกล่าว กลุ่มผู้ประกอบการที่ถูกห้ามการนำพลาสติกชีวภาพมาใช้งาน ต่างก็แสดงความสนับสนุนต่อการดำเนินมาตรการอย่างเต็มที่ โดยคาร์ฟูได้ยกเลิกการใช้งานบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งทั้งหมดแล้ว ซึ่งจาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ และถาดอาหารที่มีการใช้งานภายในบริเวณ Food Court  ของห้างได้ถูกเปลี่ยนเป็นบรรจุภัณฑ์แบบที่สามารถล้างเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อชื่อดังอย่าง Family Mart ได้มีการดำเนินมาตรการลดการใช้งานบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารสดมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ในปีที่แล้วสามารถลดปริมาณการใช้งานพลาสติกได้มากถึง 100 ตัน ส่วนห้าง Fareast ชี้ว่า ทางห้างได้ยกเลิกการใช้งานบรรจุภัณฑ์สำหรับรับประทานอาหารแบบใช้แล้วทิ้งมานานแล้ว สำหรับการซื้อกลับบ้านก็จะใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษเป็นหลัก และทางห้างก็ได้มีการประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์ให้ผู้ประกอบการในห้างเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกพลาสติกชีวภาพ ในขณะที่ห้างอื่นๆ เช่น Mitsukoshi และ SOGO ต่างก็ยืนยันว่าจะทำตามมาตรการของรัฐอย่างเต็มที่เช่นกัน

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

ไต้หวันเป็นหนึ่งในตลาดที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลไต้หวันตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 ภายในปี 2593 พร้อมทั้งยังมีนโยบายลดการใช้พลาสติกอย่างต่อเนื่อง เช่น  ห้างร้านในไต้หวันไม่มีบริการให้ถุงพลาสติกฟรีเมื่อซื้อสินค้า ห้ามร้านอาหารซึ่งรวมถึงร้านอาหารที่อยู่ในสถานที่ราชการ โรงเรียน และห้างร้านต่างๆ ในไต้หวัน ใช้อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารแบบใช้แล้วทิ้งสำหรับการรับประทานในร้านตั้งแต่ปี 2563 ห้ามร้านอาหารใช้หลอดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง สำหรับการรับประทานอาหารในร้าน ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา และมีการนำอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นพลาสติกพลาสติกชีวภาพ ซึ่งเชื่อว่ามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้งาน ล่าสุด การประกาศห้ามใช้งานพลาสติกพลาสติกชีวภาพ ของรัฐบาลไต้หวันในครั้งนี้ จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับการจัดการขยะในการปฏิบัติจริง แม้จะเลือกใช้วัสดุที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้งานแล้วก็ตาม และแสดงให้เห็นว่าแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการรักษาสิ่งแวดล้อม คือ การลดปริมาณขยะลงให้มากที่สุดนั่นเอง ซึ่งผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องจึงควรติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ต่อไป

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login