เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา สถาบัน International Institute for Management Development แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของโลกประจำปี 2023 (IMD World Competitiveness Yearbook) โดย 10 อันดับแรกของประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลกจากการจัดอันดับครั้งนี้ ได้แก่ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฟินแลนด์ ไต้หวัน ฮ่องกง สวีเดน สหรัฐฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งไต้หวันอยู่ในลำดับที่ 6 จากทั้งหมด 64 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นการขยับอันดับสูงขึ้นเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน และถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดในกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีประชากรมากกว่า 20 ล้านคนขึ้นไป
ผลการประเมินใน 4 ด้านของไต้หวันมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านดีและด้านที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ในส่วนของ“ประสิทธิภาพของภาครัฐ” และ “ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ” ต่างก็มีอันดับที่ดีขึ้น 2 อันดับโดยมาอยู่อันดับที่ 6 และ 4 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยด้าน “โครงสร้างพื้นฐาน” มีอันดับดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 1 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 12 แต่ในส่วนของ “สมรรถนะทางเศรษฐกิจ” ผลให้อันดับของไต้หวันลดลง 9 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 20 เนื่องจาก ไต้หวันได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการในตลาดโลกปรับตัวลดลง ประกอบกับอัตราการขยายตัวของ GDP ไต้หวันในปีก่อนหน้ามีการปรับเพิ่มในระดับสูง ส่งผลให้ฐานการคำนวณสูงกว่าเดิม ในส่วนของปัจจัยรอง 20 ปัจจัย ปัจจัยด้าน “การบริหารจัดการ” และ “โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์” ของไต้หวัน ต่างก็อยู่ในอันดับที่สูงถึงอันดับ 5 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปัจจัยย่อยของปัจจัยรองนี้ มีหลายรายการที่ไต้หวันได้คะแนนสูงในระดับ Top 3 ของโลก โดยที่ปัจจัยย่อยด้าน “สัดส่วนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบ 4G และ 5G” รวมถึง “สัดส่วนบุคลากรด้าน R&D ต่อประชากร 1,000 คน” นั้น ไต้หวันได้คะแนนสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกเลยทีเดียว
ในส่วนปัจจัยหลักด้าน “สมรรถนะทางเศรษฐกิจ” ของไต้หวันที่อันดับลดลงจากอันดับ 11 เมื่อปีที่แล้วมาอยู่ที่อันดับ 20 ในปีนี้ National Development Council ของไต้หวันชี้ว่า สาเหตุหลักมาจากการที่ความต้องการในตลาดโลกลดลง และเหล่าผู้ผลิตทำการปรับระดับสินค้าคงคลัง ส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกอ่อนกำลังลง ทำให้ปัจจัยรองด้าน “เศรษฐกิจในประเทศ” และ “การค้าระหว่างประเทศ” มีอันดับที่ลดลง มาอยู่อันดับ 9 และ 45 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาปัจจัยด้าน “ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ” ซึ่งไต้หวันอยู่ในอันดับ 4 ของโลก ปัจจัยรองด้าน “ผลิตภาพและประสิทธิภาพ” , “การเงิน” , “การบริหารจัดการ” และ “ทัศนคติและค่านิยม” ต่างก็มีอันดับที่ดีขึ้น มาอยู่ในอันดับ 7 อันดับ 6 อันดับ 3 และอันดับ 7 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในส่วนของ “ตลาดแรงงาน” ไต้หวันมีอันดับลดลง 8 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 25 โดยปัจจัยย่อยด้านแรงงานต่างชาติและพนักงานต่างชาติด้านเทคโนโลยีระดับสูง ไต้หวันได้คะแนนไม่ดีนัก แต่ในด้านแรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน ไต้หวันได้อันดับที่สูงถึงอันดับ 4 ของโลก แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันมีบุคลากรในตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นหนึ่งในเครื่องจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไต้หวัน
ที่มา: Commercial Times / Economic Daily News (June 20, 2023)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไต้หวันมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก มาจากการที่ทั้งภาครัฐและเอกชนของไต้หวันให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเป็นอย่างมาก โดยปัจจัยย่อยด้าน “สัดส่วนบุคลากรด้าน R&D ต่อประชากร 1,000 คน” และ “แรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน” ซึ่งไต้หวันได้คะแนนสูงเป็นอันดับ 1 และอันดับ 4 ของโลกเลยทีเดียว ปัจจัยดังกล่าวนับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของไต้หวันเข้มแข็งและพัฒนากลายมาเป็นผู้ผลิตชิพรายใหญ่ของโลกได้ นับเป็นตัวอย่างสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการก้าวพ้นกับดับรายได้ปานกลาง
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)