ออสเตรียประกาศใช้กฎเข้ม ดีเดย์วันที่ 1 กันยายน 2566 บังคับให้สถานบริการอาหารขนาดใหญ่ อาทิ โรงอาหารในบริษัท โรงพยาบาล สถานศึกษา และองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของวัตถุดิบประเภทเนื้อสัตว์ นม ผลิตภัณฑ์จากนม และไข่ ให้เป็นที่รับทราบแก่สาธารณะอย่างชัดเจน เช่น การติดป้ายประกาศ หรือการระบุข้อมูลไว้ที่เมนูอาหาร ซึ่งต้องระบุชัดถึงสัดส่วนของวัตถุดิบแต่ละชนิดดังกล่าวว่ามีแหล่งที่มาจากออสเตรีย หรือประเทศในสหภาพยุโรป หรือประเทศนอกสหภาพยุโรป (ถ้ามี) อย่างละกี่เปอร์เซ็นต์ โดยจะยกให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้ตรวจตราและจะมีบทลงโทษหากมีการละเมิดกฎบ่อยครั้ง ทั้งนี้ วัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบสูงสุด คือ เนื้อไก่ เนื่องจากมีที่มาจากภายในประเทศเพียงร้อยละ 10 ที่เหลือมาจากการนำเข้า ขณะที่เนื้อหมูมีแหล่งที่มาจากภายในประเทศราวร้อยละ 70-80 เนื้อวัวร้อยละ 80 และไข่ร้อยละ 70 นายนอร์แบร์ต โทตชนิก (Norbert Totschnig) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตร คาดหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสของแหล่งที่มาของอาหาร ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกของผู้บริโภค และส่งผลประโยชน์ต่อเกษตรกรภายในประเทศ สำหรับร้านอาหารทั่วไปยังไม่มีการบังคับใช้มาตรการนี้แต่สามารถปฏิบัติตามได้โดยสมัครใจ
ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นสำนักงานฯ
แนวโน้มการตลาดและความนิยมของผู้บริโภคในออสเตรียในปัจจุบันมุ่งเน้นสินค้าที่มาจากท้องถิ่นเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ด้วยเหตุผลด้านคุณภาพและความปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (หลีกเลี่ยงมลภาวะซึ่งเกิดจากการขนส่ง) และความยั่งยืน การบังคับใช้มาตรการนี้จะยิ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องหลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบนำเข้า อย่างไรก็ดี ยังคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ แต่สินค้าเหล่านั้นจะต้องผ่านมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับของออสเตรียและสหภาพยุโรป ตลอดจนมีจุดเด่นอื่นๆ ที่เหนือกว่าสินค้าจากประเทศใกล้เคียงในยุโรป
ที่มา :
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)
กันยายน 2566