หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > โอกาสเติบโตของมะพร้าวไทยในตลาดสหรัฐฯ

โอกาสเติบโตของมะพร้าวไทยในตลาดสหรัฐฯ

ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะพร้าวในภาพรวมของโลกปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 20,240 ล้านเหรียญ คาดว่าในช่วงปี 2566-2573 น่าจะมีการขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 8.4%

สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกา มูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะพร้าวในภาพรวมของปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 3.95 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้ายอดนิยมที่สหรัฐฯ นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว น้ำมะพร้าว มะพร้าวสด กะทิ มะพร้าวอบแห้ง และมะพร้าวผง  เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกันอย่างมาก

เนื่องจาก มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการและสามารถใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกทดแทนอาหารจากสัตว์ได้ เหมาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติและกลุ่มผู้บริโภคที่แพ้แลคโตสจากนมวัว จากข้อมูลของ National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases ระบุว่าชาวอเมริกัน ประมาณ 36% ของประชากรทั้งหมด มีปัญหาเรื่องการดูดซึมแลคโตส นอกจากนี้ การที่ชาวอเมริกันหันมาประกอบอาหารรับประทานที่บ้านและกระแสจากสื่อโซเชียลที่เผยแพร่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของนักกีฬาและคนดังต่างๆ ที่หันมาอุปโภคบริโภคผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวมากขึ้น ช่วยสร้างความนิยมมหภาคและช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคอเมริกันหันมาเลือกซื้อและทดลองบริโภคสินค้าที่มาจากมะพร้าวเพิ่มมากขึ้น

นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว แนวโน้มการเติบโตของสินค้าออร์แกนิกในตลาดสหรัฐฯ มีการขยายตัวอย่างมาก ผู้บริโภคสหรัฐฯ มองหาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น การขยายตัวดังกล่าวได้ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจาก มะพร้าวไม่มีส่วนผสมดัดแปลงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์เกษตรอื่นๆ จากข้อมูลของสมาคม The Organic Trade Association แสดงให้เห็นว่า ยอดจำหน่ายสินค้าบริโภคออร์แกนิกของสหรัฐฯ ปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 61,670 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และสินค้าอุปโภคออร์แกนิก มีมูลค่าประมาณ 5,910 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคมีความตื่นตัวและเริ่มหันมาใช้สินค้าอุปโภคออร์แกนิคมากขึ้นนับแต่ปี 2563 และได้มีขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประเภทของผลิตภัณฑ์มะพร้าวในตลาดสหรัฐฯ มีดังนี้

1.สินค้าบริโภค เช่น น้ำมะพร้าว น้ำมันมะพร้าว มะพร้าวสด กะทิ วิปครีมกะทิ มะพร้าวอบแห้ง ครีมมะพร้าวทาขนมปัง น้ำตาลมะพร้าว นมข้นหวานจากมะพร้าว เครื่องดื่มเพิ่มพลังงาน โปรตีนเชคพร้อมดื่ม มะพร้าวผง เนยจากมะพร้าว ลูกอมมะพร้าว ของทานเล่นต่างๆ มะพร้าวเนื้ออ่อนบรรจุกระป๋อง

2.สินค้าอุปโภค เช่น น้ำมันมะพร้าวทาผิว น้ำมันทาผม ครีมอาบน้ำ โลชั่น สบู่ อย่างไรก็ดี ตลาดเครื่องประทินผิวจากมะพร้าวในภาพรวมของทั่วโลก คาดว่าน่าจะมีการเติบโตในอัตรา 11.2% ในช่วง 2564-2571 และคาดว่าในปี 2571 น่าจะมีมูลค่าถึง 5,272 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น การศึกษาเทรนด์และพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดน่าจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายและสร้างโอกาสให้กับสินค้าได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่น่าสนใจในกลุ่มสัตว์เลี้ยง มีดังนี้

1.สินค้าบริโภคสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น กระดูกที่ทำจากมะพร้าว มะพร้าวอบแห้งคล้ายชิป จากข้อมูลของบริษัท Precedence Research ระบุว่าตลาดขนมขบเคี้ยวและขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงทั่วโลกปี 2565 มีมูลค่า 37,900 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะมีการขยายตัวประมาณ 12.5% ในช่วงปี 2566-2575 โดยคาดว่าปี 2575 น่าจะมีมูลค่าถึง 123,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดีปี 2565 ครัวเรือนสหรัฐฯ 66% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดมีสัตว์เลี้ยง ดังนั้นการเจาะตลาดสัตว์เลี้ยงจึงเป็นช่องทางที่สนใจของผู้ประกอบการอาหารที่จะเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งในตลาด โดยอาหารว่างและขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มาจากธรรมชาติน่าจะมีแนวโน้มการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ราคาขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ทำจากมะพร้าวที่จำหน่ายในสหรัฐฯ มีราคาประมาณ 8-15 เหรียญสหรัฐ/ถุง

 

 

2.สินค้าของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น น้ำมันมะพร้าวสำหรับทาขน สบู่มะพร้าว

จากข้อมูลของบริษัท Globenewswire ระบุว่าตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงในสหรัฐอเมริกา ปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าน่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากชาวอเมริกันรุ่นใหม่ไม่นิยมมีบุตรและนิยมที่จะมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนคู่ใจมากขึ้น โดยกลุ่มมิลเลนเนียลนิยมมีสัตว์เลี้ยงมากที่สุด (33%) รองลงมาคือกลุ่ม GEN X (25%) และเบบี้บูมเมอร์ (24%) ตามลำดับ ซึ่งอุปสงค์ดังกล่าวน่าจะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีความเชื่อว่าผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ปลอดสารพิษ และมีคุณสมบัติช่วยบำรุงขนและผิวให้กับสัตว์เลี้ยงจึงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่ดีและคู่ควรกับสัตว์เลี้ยงมากกว่าสินค้าที่มีสารสกัดทางเคมี จากข้อมูลการสำรวจของบริษัท Forbes เกี่ยวกับการใช้จ่ายของชาวอเมริกันต่อสัตว์เลี้ยง จำนวน 2,000 คน พบว่า 41% ของเจ้าของสัตว์เลี้ยงใช้จ่ายประมาณ 500-1,999 เหรียญสหรัฐ/ปี โดยใช้จ่ายประมาณ 339 เหรียญสหรัฐ/ปี เป็นค่าอาหาร และ 253 เหรียญสหรัฐ/ปี เป็นค่าดูแลสัตว์เลี้ยง

วิเคราะห์โอกาสสินค้ามะพร้าวไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา

จุดแข็ง:

  1. สินค้ามะพร้าวจากไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในตลาดว่าเป็นแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ ตลอดจนมีเทคโนโลยีชั้นสูงที่สามารถรองรับการผลิตสินค้าอย่างครบวงจร ทั้งในกลุ่มอาหารและความงามที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ น่าจะเป็นโอกาสที่ต่อที่หนุนให้สินค้าไทยสามารถขยายตลาดเพิ่มขึ้นได้ นอกเหนือจากกลุ่มสินค้าดั้งเดิม เช่น มะพร้าวสด กะทิและน้ำมะพร้าว
  2. ผู้ส่งออกไทยมีความตื่นตัวในการเจาะตลาดใหม่ๆ เช่น ตลาดอาหารทางเลือก ตลาดสัตว์เลี้ยง ตลาดความงาม ตลอดจนมีความพร้อมในเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ผู้ซื้อที่ให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการใช้งาน เชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้น

จุดอ่อน

  1. ผู้ส่งออกรายกลางและรายเล็ก มีความเข้าใจในเรื่องกฎระเบียบการส่งออกสินค้าอาหารและความงามค่อนข้างน้อยและอาจอุปสรรคต่อการส่งออก ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ ต้องการผู้ผลิตที่มีความพร้อมในการส่งออกและสามารถจัดทำฉลากได้ตรงตามกฎข้อระเบียบของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกที่มีปัญหาดังกล่าวอาจติดต่อสำนักงานในสหรัฐฯ เพื่อปรึกษาข้อมูลและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ต่อไป
  2. การประชาสัมพันธ์สินค้าในกลุ่มความงามของไทยยังไม่แพร่หลายมากในตลาดสหรัฐฯ จึงทำให้ผู้นำเข้ายังขาดข้อมูลและการเข้าถึงสินค้าใหม่ๆ ที่มาจากธรรมชาติและมีประโยชน์สำหรับสุขภาพและความงาม

ข้อเสียเปรียบของสินค้าไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด

มะพร้าวไทยยังเข้าถึงผู้บริโภคไม่แพร่หลาย อย่างไรก็ดี การประชาสัมพันธ์และการจำหน่ายออนไลน์น่าจะช่วยเจาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ในสหรัฐฯ  ได้และสินค้าไทยน่าจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

โอกาศในการขยายตลาด

ตลาดสหรัฐฯ มีความเปิดกว้างให้กับสินค้าใหม่ๆ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะแนะนำสินค้าไทยกลุ่มขนม กลุ่มความงามสะอาดเข้าสู่ผู้บริโภคเป้าหมาย โดยอาศัยการจำหน่ายทางออนไลน์เพื่อเจาะฐานผู้บริโภครุ่นใหม่น่าจะช่วยให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับมากขึ้น นอกจากนี้ ส่วนประกอบอื่นๆ ของมะพร้าวก็เป็นที่ต้องการของผู้นำเข้าในตลาดสหรัฐฯ เช่น กะลาสามารถนำมาใช้เป็นถ้วยไอศครีม และกากมะพร้าวสามารถใช้ทำเป็นที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์เลื้อยคลานได้

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login