หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > โอกาสที่มาพร้อมกับเส้นทางเชื่อมต่อการสัญจรเซินเจิ้น-จงซาน

โอกาสที่มาพร้อมกับเส้นทางเชื่อมต่อการสัญจรเซินเจิ้น-จงซาน

เมื่อวันที่  30 มิถุนายน 2567 โครงการเส้นทางเชื่อมต่อการสัญจรเซินเจิ้น-จงซานในมณฑลกวางตุ้งทางใต้ของจีนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ  โดยโครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาประเทศ 5 ปี ครั้งที่ 12 ของมณฑลกวางตุ้ง และเป็นโครงการหลักในแผนปฏิรูปและพัฒนาบริเวณเขตสามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียง ซึ่งเส้นทางเชื่อมการสัญจรสายนี้มีความยาวรวมประมาณ 24 กิโลเมตร ซึ่งประกอบด้วยอุโมงใต้ทะเลที่มีความยาวกว่า 6 กิโลเมตร  มีทางด่วนเหนือทะเลกว่า 10 กิโลเมตร  และมีช่องจราจร 8 เลนที่ออกแบบมาเพื่อรองรับความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่องทางสายนี้จะลดระยะเวลาการขับรถจากเมืองเซินเจิ้นไปยังเมืองจงซานจาก 2 ชั่วโมงเหลือเพียง 30 นาที โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นการพัฒนาช่องทางการคมนาคมขนาดใหญ่ที่สำคัญของจีน ซึ่งนอกจากทำให้ลดปัญหาการสัญจรที่แออัดของเส้นทางเดินรถบริเวณสะพานหู่เหมินและสะพานหนานซา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นเส้นทางที่ดีที่สุดที่เชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกและตะวันตกของปากแม่น้ำจูเจียงแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดการผสานเศรษฐกิจสองฝั่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ในเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) ด้วย

ที่ผ่านมา พื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง เป็นเขตอุตสาหกรรมการผลิตและเป็นบริเวณที่มีจำนวนประชากรหนาแน่นสูง ทำให้มีปริมาณความต้องการการจราจรข้ามแม่น้ำทางตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำจูเจียงอย่างมหาศาล ส่งผลให้การคมนาคมระหว่างตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำจูเจียงเกิดปัญหาการจราจรที่แออัดและติดขัดมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะบริเวณตอนกลางอ่าวด้านในของเขตเศรษฐกิจมณฑลกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) ที่ไม่มีเส้นทางสามารถเชื่อมต่อโดยตรง ทำให้การเดินทางระหว่างเมืองจงซาน เมืองจูไห่ และเขตบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจูเจียงไปยังเมืองเซินเจิ้นจะต้องเดินทางอ้อมไปทางสะพานหู่เหมินหรือสะพานหนานซา ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการผสานเศรษฐกิจสองฝั่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง เป็นผลให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจของพื้นที่เขตเศรษฐกิจมณฑลกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) ขาดความสมดุล โดยปัจจุบันภาคตะวันออกของพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ  จูเจียงมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ส่วนพื้นที่ทางภาคตะวันตกของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงยังมีเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และมีแนวโน้มที่จะซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้  โครงการโครงการเส้นทางเชื่อมต่อการสัญจรเซินเจิ้น-จงซาน จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจของทั้งสองพื้นที่สามารถพัฒนาให้เท่าเทียมกันได้

สำหรับโอกาสที่มาจากการเปิดเส้นทางเดินเมืองเซินเจิ้น-จงซาน ในส่วนของพื้นที่ปากแม่น้ำจูเจียง  เส้นทางดังกล่าวจะเข้ามาเสริมการขาดแคลนทางด่วนประสิทธิภาพสูงที่เชื่อมระหว่างปากแม่น้ำจูเจียงตะวันออกและตะวันตกพื้นที่อ่าวด้านใน ระยะทาง 100 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดอ่อนของการพัฒนาระหว่างทั้งสองฝั่งของปากแม่น้ำจูเจียง ทั้งนี้ เส้นทางเดินดังกล่าวจะส่งเสริมการบูรณาการอย่างลึกซึ้งระหว่างพื้นที่ทางด้านตะวันออกและทางด้านตะวันตกของปากแม่น้ำจูเจียง โดยองค์ประกอบทรัพยากรที่เป็นนวัตกรรมของพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกจะผสานรวมเข้ากับพื้นที่ดินที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์และอุตสาหกรรมการผลิตที่ค่อนข้างแข็งแกร่งของพื้นที่ทางฝั่งตะวันตก เชื่อมโยงเมืองต่างๆ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและการสร้างรูปแบบอุตสาหกรรมใหม่ ส่งเสริมการประสานงานของห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่คุณค่า และห่วงโซ่นวัตกรรม และนำข้อได้เปรียบของแต่ละพื้นที่มาเสริมซึ่งกันและกัน ผลักดันให้เกิดการพัฒนาร่วมกันของเขตเศรษฐกิจมณฑลกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA)

ในส่วนเมืองจงซานจะได้รับโอกาสจากการเปิดเส้นทางเดินเมืองเซินเจิ้น-จงซาน ทำให้การไหลเวียนของทรัพยากรที่จำเป็นระหว่างทั้งสองพื้นที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น สำหรับจงซานนั้น บริษัทสามารถรับทรัพยากรที่เป็นนวัตกรรมของเซินเจิ้นได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงและการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิม รวมถึงเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมเกิดใหม่ อย่างเช่น อุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิมของจงซานสามารถพึ่งพานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและแนวคิดการออกแบบของเซินเจิ้น เพื่อปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น พลังงานใหม่ ชีวการแพทย์และสุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ และออปโตอิเล็กทรอนิกส์สามารถพึ่งพาความสามารถและเงินทุนของเซินเจิ้น เพื่อเร่งให้การพัฒนาให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว  ในขณะเดียวกัน เมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นเขตเมืองที่เร่งการขยายกำลังการผลิต แสวงหาพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง เพื่อการขยายอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน จึงมีความต้องการทรัพยากร พื้นที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการสนับสนุนห่วงโซ่อุตสาหกรรมต้นน้ำและอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งปัจจุบัน เซินเจิ้นได้จัดตั้งเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเมืองต่างๆ และสำรวจแผนผังเครือข่ายอุตสาหกรรมข้ามเมือง ดังนั้น เมืองเซินเจิ้นจึงอาศัยประโยชน์จากเส้นทางเดินเมืองเซินเจิ้น-จงซาน เร่งวางผังห่วงโซ่อุตสาหกรรมและแผ่ขยายออกไปด้านนอกตัวเมือง และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ได้เปรียบ เช่น กำลังคน ที่ดิน และฐานการผลิตบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจูเจียง ตัวอย่างเช่น บริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงบางแห่งในเซินเจิ้นสามารถโอนการเชื่อมโยงการผลิตบางส่วนไปยังจงซาน โดยใช้ประโยชน์จากที่ดินและข้อได้เปรียบด้านแรงงานของจงซาน ขณะเดียวกัน ฝ่ายวิจัยและพัฒนา รวมถึงสำนักงานใหญ่ยังคงอยู่ในเซินเจิ้น เพื่อให้บรรลุการพัฒนาที่ประสานงานระหว่างทั้งสองแห่ง อีกตัวอย่างหนึ่ง คือบริการทางการเงินของเซินเจิ้นสามารถให้การสนับสนุนองค์กรในจงซานได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถส่งเสริมการพัฒนาและการเติบโตของอุตสาหกรรมในจงซานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

โครงการเส้นทางเชื่อมต่อการสัญจรเซินเจิ้น-จงซาน ถือเป็นโครงการใหญ่ระดับโลกอีกแห่งหนึ่งในบริเวณอ่าว Greater Bay Area รองจากสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ซึ่งไม่เพียงช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากเซินเจิ้นไปเมืองจงซานและระยะทางระหว่างกลุ่มเมืองในบริเวณอ่าว Greater Bay Area แล้ว แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระดับภูมิภาคทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของปากแม่น้ำจูเจียงอีกด้วย ส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนของบุคลากร  จราจร การขนส่ง  เงินทุน และองค์ประกอบอื่นๆ ทางด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำจูเจียง และ   การบูรณาการร่วมกันของห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทาน และห่วงโซ่นวัตกรรม จนนำไปสู่การพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

โครงการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ Greater Bay Area (มณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า) โดยการเชื่อมต่อเส้นทางทั้งทางบกและทางทะเล  ถือเป็นการพัฒนาเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญบนระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน (China-Indochina Peninsula Economic Corridor : CICPEC) ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเขตพื้นที่ดังกล่าว ให้มีศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจเทียบชั้นกับมหานครอื่นระดับโลก นอกเหนือจากการเชื่อมต่อที่แข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ระเบียงการเชื่อมต่อการสัญจรเซินเจิ้น-จงซาน ยังสามารถส่งเสริมการบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจสี่ด้านระหว่างเมืองใหญ่ๆ ในเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า โดยประการแรก นวัตกรรมและการประสานงานของนโยบายและระบบข้ามพรมแดน รวมถึงนโยบายภาษี นโยบายการโยกย้ายผู้มีทักษะความสามารถของบุคลากร การลงทะเบียนองค์กรและนโยบายการจัดการ ฯลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและส่งเสริมการบูรณาการสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระหว่างเมือง ประการที่สองคือความเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมให้เกิดการแบ่งส่วนแรงงานและความร่วมมือทางอุตสาหกรรมที่สมเหตุสมผลมากขึ้นในเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี การรวมมาตรฐาน ความร่วมมือด้านการผลิต และวิธีการอื่น ๆ ประการที่สามคือการโยกย้ายผู้มีความสามารถและ      ความร่วมมือด้านการศึกษา ทลายกำแพงกั้นผู้มีความสามารถระหว่างเมืองต่างๆ เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้มีความสามารถระดับสูงและบุคลากรด้านเทคนิค บรรลุการแลกเปลี่ยนความสามารถข้ามภูมิภาคที่สะดวกยิ่งขึ้น ตลอดจนปลูกฝังและดึงดูดผู้มีความสามารถคุณภาพสูงได้มากขึ้น ประการที่สี่คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เสริมสร้างการสร้างระบบดิจิทัลและสารสนเทศ ส่งเสริมการเชื่อมต่อโครงข่ายดิจิทัลระหว่างเมือง ส่งเสริมการใช้งานเมืองอัจฉริยะและระบบขนส่งอัจฉริยะ และบรรลุการแบ่งปันทรัพยากรข้อมูลและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ตามรายงานโครงการหลักในแผนปฏิรูปและพัฒนาบริเวณเขตสามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียง คาดว่าในอนาคตจะมีโครงการเปิดเส้นทางในพื้นที่เมืองฝั่งตะวันตกของปากแม่น้ำจูเจียง เขตเมืองเซินเจิ้น และเขตมหานครกวางโจว ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการก่อตัวของระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงและเสริมกันในบริเวณปากแม่น้ำจูเจียงมากยิ่งขึ้น และสามารถบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาเป็นเขตพื้นที่ทางเศรษฐกิจเทียบชั้นกับมหานครอื่นระดับโลกได้

สืบเนื่องจากโครงการหลักในแผนปฏิรูปและพัฒนาบริเวณเขตสามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียง ในระยะยาวคาดว่าจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และมาเก๊าอาจจะมีการผสานเศรษฐกิจรวมกัน จะส่งผลต่อการค้าของไทยโดยตรง เนื่องจากมณฑลกวางตุ้งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการลงทุน หรือทำการค้ากับเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) ควรศึกษาเส้นทางและกฎระเบียบ และนโยบายการค้าของพื้นที่ดังกล่าว เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบายทางการค้าของเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไทยสามารถหาแนวทางในการเจรจาพัฒนาเส้นทางการค้าระหว่างไทยและเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถทำการค้า รวมถึงการขนส่งสินค้าได้อย่างราบรื่นต่อไป

 

ที่มา:

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1796210242847850168&wfr=spider&for=pc

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1799027474367209160&wfr=spider&for=pc

https://finance.eastmoney.com/a/202406113100577420.html

https://export.shobserver.com/baijiahao/html/759080.html

https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_27665275

ภาพ: idu.com/s?id=1803071726528391264&wfr=spider&for=pc

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

อ่านข่าวฉบับเต็ม : โอกาสที่มาพร้อมกับเส้นทางเชื่อมต่อการสัญจรเซินเจิ้น-จงซาน

Login