ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 26-30 มิถุนายน 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest
ภาพประกอบโดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
ภาคอุตสาหกรรมในฮังการีที่ขยายตัวโดดเด่นและน่าจับตามอง ณ ปัจจุบัน และอนาคตอันใกล้ มีทั้งหมด 5 ด้าน อันประกอบไปด้วย
1. อุตสาหกรรมยานยนต์
อุตสาหกรรมยานยนต์ของฮังการีเป็นภาคส่วนที่สำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยานยนต์คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 5 ของยอดส่งออกสินค้าและบริการฮังการี อีกทั้ง มีมูลค่าการผลิตราว 2.62 หมื่นล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วนราว 3.9% ของ GDP มีการจ้างแรงงานราว 158,000 ตำแหน่งทั้งประเทศ หรือประมาณ 3.4% ของจำนวนแรงงานในประเทศ มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลก โดยมีลักษณะผู้ประกอบการ 2 กลุ่มใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ข้ามชาติ เช่น Audi, Opel, Mercedes-Benz, Suzuki, Daimler, BMW ฯลฯ ที่มีศูนย์การผลิตและการวิจัยและพัฒนามากกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมทั้งสิ้นประมาณ 700 บริษัท ทั้งนี้ ฮังการีมีต้นทุนราคาที่ดิน และแรงงานมีทักษะที่ไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับประเทศยุโรปตะวันตก ฮังการีจึงมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในยุโรป โดยเฉลี่ยแล้ว ฮังการีประกอบรถยนต์ประมาณ 420,000 คันต่อปี และผลิตเครื่องยนต์ราว 1.9 ล้านเครื่องต่อปี
ปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้มายังตลาดฮังการี ได้แก่
- รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle-EV): ปัจจุบัน ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของโลกกำลังเร่งลงทุนและพัฒนาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (รถ EV) และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการทั่วโลก ที่ก้าวไปสู่การขนส่งที่ยั่งยืน ฮังการีก็เป็นหนึ่งในฐานการผลิตชิ้นส่วนและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าของโลก โดยเฉพาะแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ฮังการีกลายมาเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
- ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicles): ผู้ผลิตและส่งออกไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าประเภทอุปกรณ์เซ็นเซอร์ กล้องจับภาพเคลื่อนไหว และโซลูชันซอฟต์แวร์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการผลิตและพัฒนายานยนต์ไร้คนขับในฮังการี ทั้งนี้ ฮังการีมีสนามทดลองขับรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรปกลาง ขนาด 2.65 ตารางกิโลเมตร ณ เมือง Zalaegerszeg ทางตะวันตกของฮังการี โดยทำความร่วมมือเชิงวิชาการกับคณะวิศวกรรมศาสตร์หลากหลายมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับ ด้านผู้เล่นรายใหญ่ในฮังการีในภาคส่วนนี้ส่วนมากเป็นบริษัทข้ามชาติ เช่น Bosch, Continental, Knorr-Bremse, Thyssenkrupp Automotive Technology Group, Jaguar Land Rover เป็นต้น
รูปภาพที่ 1: สนามทดลองขับรถยนต์ Zalazone ณ เมือง Zalaegerszeg ประเทศฮังการี
ที่มาของข้อมูล: Alumni Network Hungary
2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
ฮังการีมีปริมาณการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 5 ของปริมาณการผลิตในทุกอุตสาหกรรมรวมทั้งประเทศ นอกจากนี้ ฮังการียังเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ในภูมิภาคยุโรปกลางและตะวันออก อีกทั้ง ยังเป็นที่ตั้งของบริษัทที่ผลิต วิจัย และพัฒนาสินค้าให้กับลูกค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า ทั้งการผลิตแบบ OEM และ ODM (Electronic Manufacturing Services (EMS)) ชั้นนำของทวีปยุโรปหลายบริษัท อาทิเช่น Jabil, Flextronics, Foxconn, Sanmina, Zollner, Videoton, Yettel, Albacomp, Konica Minolta เป็นต้น
- อุปกรณ์ IoT: Internet of Things (IoT) คือ การที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถจัดเก็บข้อมูลเองและส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยระบบอินเตอร์เน็ต โดยที่มนุษย์ไม่ต้องคอยป้อนข้อมูล และมนุษย์สามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ โดยสินค้า IoT ที่เป็นที่นิยมในตลาดฮังการี ได้แก่ เครื่องใช้ในบ้านอัจฉริยะ รวมถึงอุปกรณ์วินิจฉัยและดูแลสุขภาพ เป็นต้น
- ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์: นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2563 ชิปสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีอุปสงค์สูงขึ้น ฉะนั้น ผู้ส่งออกไทยจึงมีโอกาสในการจัดหาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเป็นสำหรับผลิต เช่น เซ็นเซอร์ เซมิคอนดักเตอร์ ตัวต้านทาน (Resistors) และตัวเก็บประจุ (Capacitors) ให้กับผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในฮังการี
3. อุตสาหกรรม ICT
สัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ต่อ GDP ฮังการีอยู่ที่ประมาณ 20% นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง มีการจ้างแรงงานราว 100,000 ตำแหน่งทั้งประเทศ โดยภาคส่วนธุรกิจที่โดดเด่นของฮังการีในหมวดหมู่นี้ ได้แก่ ธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม, IT Outsourcing, บริการ IT Services, บริการ Business Intelligence, บริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI), ธุรกิจการประกอบคอมพิวเตอร์และการผลิตอุปกรณ์สื่อสาร ตลอดจนการผลิตซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ โดยประเภทซอฟต์แวร์ที่พัฒนาในฮังการีและเป็นที่รู้จักดีในระดับนานาชาติ ได้แก่ ซอฟต์แวร์ระบบนำทาง ซอฟต์แวร์ควบคุมกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม แอปพลิเคชันเกม เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System-GIS) ซอฟต์แวร์ชีวสารสนเทศศาสตร์ (Bioinformatics) ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสและรักษาความปลอดภัยด้านไอที เป็นต้น
ตัวอย่างบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ที่มีศูนย์ธุรกิจให้บริการลูกค้าในฮังการี เช่น IBM, Microsoft, Nokia, Tata Consultancy Services, Huawei, Ericsson, BT, Cloudera, Diligen, EPAM, SAP, Oracle, Siemens, Deutsche Telekom, Mi, Formlabs, Wise เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ทอัปด้าน IT และ ICT สัญชาติฮังการีจำนวนมาก เช่น Prezi, LogMeIn, NNG, Balabit, NISZ, Futurion, Bitrise เป็นต้น
ผู้ประกอบการไทยจึงมีโอกาสในการนำเสนอบริการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือร่วมมือกับบริษัทซอฟต์แวร์ของฮังการี เพื่อจัดหาโซลูชั่นเฉพาะทางสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์หรือภาคธุรกิจ รวมถึงนำเสนอบริการด้านไอที เช่น System Integration (การประเมินและแก้ไขเทคโนโลยีบางส่วนเพื่อเชื่อมต่อระบบให้เข้ากับเทคโนโลยีเดิม หรือติดตั้งร่วมกับเทคโนโลยีใหม่เพื่อขยายประสิทธิภาพการทำงาน) การปรับแต่ง/พัฒนาซอฟต์แวร์ หรือการให้คำปรึกษาด้านไอทีแก่ธุรกิจของฮังการี เป็นต้น
4. อุตสาหกรรมยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์
อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ ชีวเทคโนโลยี สัตวแพทยศาสตร์ และการวิจัยทางคลินิก เป็นหนึ่งใน 9 ภาคส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลฮังการีส่งเสริมให้ได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นพิเศษ (Foreign Direct Investment-FDI) นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนอุตสาหกรรมอีกหลายประการ เช่น การมีสถาบันวิจัยและคณะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สุขภาพในหลายมหาวิทยาลัย สร้างแรงงานมีทักษะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ฮังการีมีมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 5.6% ของยอดการส่งออกทั้งหมด ทำให้ฮังการีเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าการแพทย์และเภสัชกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรปกลางและตะวันออก
ตัวอย่างบริษัทข้ามชาติที่มีฐานการผลิต วิจัย และให้บริการลูกค้าในฮังการี ได้แก่ Sanofi, Roche, Gedeon Richter, Egis, Novartis, BD, Ceva, Schott, GlaxoSmithKline (GSK) เป็นต้น
สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ แนะนำให้ผู้ส่งออกไทยเรียนรู้แนวโน้มการตลาดในกลุ่มนี้ อาทิ
- ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีชีวภาพ: เช่น การผลิตเภสัชภัณฑ์ การจัดหาชีวเภสัชภัณฑ์หรือยา ที่ผลิตโดยเทคนิคทางเทคโนโลยีชีวภาพ (Biopharmaceutical) การส่งออกเครื่องมือวิจัย ทั้งผ่านบริษัทหรือสถาบันวิจัย
- อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE): แม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะพ้นจากภาวะวิกฤตไปแล้ว อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคในฮังการียังมีความต้องการสินค้าอุปกรณ์การแพทย์และอนามัยส่วนบุคคลอยู่ตลอดเวลา ทั้งในสถานพยาบาลและการใช้งานในครัวเรือน จึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จะส่งออกถุงมือยางธรรมชาติคุณภาพสูง ส่วนประกอบเครื่องมือแพทย์ที่ทำจากยาง กระดาษเช็ดทำความสะอาด หน้ากากอนามัย ตลอดจนชุดปลอดเชื้อป้องกันสารคัดหลั่งมายังตลาดฮังการี
5. อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปอาหาร
ฮังการีผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวคิดเป็น 6% ของการส่งออกทั้งหมด มีผู้ประกอบการ 2 กลุ่มใหญ่ในอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปอาหาร ได้แก่ ผู้ผลิตและแปรรูปอาหารรายใหญ่ข้ามชาติ เช่น Mondelēz International, Rauch, Unilever, Nestlé, Nissin Foods, Coca-Cola เป็นต้น และ SME สัญชาติฮังการี ซึ่งเป็นจำนวนส่วนใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมฯ เช่น Borsod Brewery, Sopron Brewery, Győri Keksz, Pick Szeged, Hell Energy Drink, Kometa, SIÓ เป็นต้น
สินค้าอาหารส่งออกหลักของฮังการี ได้แก่ น้ำมันดอกทานตะวัน ข้าวโพด ธัญพืช ผักและผลไม้แปรรูป เนื้อไก่ เนื้อสัตว์ ขนมขบเคี้ยว และอาหารสัตว์ โดยคู่ค้าหลักของฮังการีอยู่ในตลาดสหภาพยุโรป เนื่องจากได้สิทธิพิเศษทางศุลกากรและขนส่งภายในภูมิภาคสะดวก ทั้งนี้ ฮังการีมีกฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ ดังนั้น สินค้าเกษตรกรรมของฮังการีจึงเป็นสินค้าปลอด GMO อันเป็นจุดขายที่สำคัญของฮังการี
อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกไทยสามารถพัฒนาสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในกลุ่มนี้ อาทิ
- อาหารปลอดสารพิษ: เนื่องจากผู้บริโภคชาวฮังการีที่มีกำลังซื้อ มีความสนใจรักษาสุขภาพและ หันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกมากขึ้น อีกทั้ง ยังมีอุปสงค์จากผู้ที่แพ้สารเคมีและอาหารบางประเภท เช่น อาหารที่ไม่มีส่วนผสมของถั่ว อาหารปลอดกลูเต็น ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีนมเป็นส่วนผสมสำหรับผู้ที่แพ้น้ำตาล แลคโตส เป็นต้น
- อาหารต่างชาติที่มีรสชาติแปลกใหม่: ผู้บริโภคชาวฮังการีและชาวต่างชาติในเมืองใหญ่มีความต้องการรับประทานอาหารที่มีรสชาติแปลกใหม่ ราคาไม่สูงมาก และดีต่อสุขภาพ จึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องปรุงไทย เช่น ซอส ผงประกอบอาหาร ขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่มีแนวทางการผลิตสินค้าอาหารที่ต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่ทำจากพืช ใช้ส่วนประกอบจากสมุนไพร รวมถึงวัตถุดิบ Novel Food เช่น แมลง สามารถเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคชาวฮังการี โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางขึ้นไป
บทวิเคราะห์/ข้อคิดเห็นของสคต.
ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารโลก เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ ณ ราคาปัจจุบัน (GDP at current US$) ของฮังการีประจำปี 2565 อยู่ที่ 1.7879 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.6% เมื่อเทียบกับปี 2564 ทำให้ฮังการีเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 56 ของโลก ด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวหรือ GDP ต่อหัว ประจำปี 2565 อยู่ที่ 18,463.2 เหรียญสหรัฐ มีจำนวนประชากร 9.6 ล้านคน (ยังไม่รวมชาวต่างชาติที่มาอาศัยชั่วคราวและถาวรในประเทศ) และมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะเติบโตต่อเนื่องในช่วงหลังภาวะโรคระบาด อันมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ และกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคในฮังการี
ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ส่งออกไทยในการเจาะฐานลูกค้าใหม่ในตลาดฮังการี ที่เชื่อมโยงกับตลาดสหภาพยุโรป ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคบอลข่าน และยุโรปตะวันออก นอกจากนี้ ฮังการียังมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีเสถียรภาพ มีการลงทุนจากภาครัฐที่จะพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจและประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการคมนาคม สาธารณูปโภค และโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ตลอดจนบังคับใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่เป็นไปตามกฎหมายสหภาพยุโรป
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในตลาดฮังการีที่สำคัญ คือภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งมีปัจจัยมาจากการที่ฮังการีต้องนำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตลอดปี 2565 อยู่ที่ 14.5% (YoY)
ผู้บริโภคชาวฮังการีส่วนมากเปิดใจยอมรับการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านช่องทาง e-Commerce และให้ความสำคัญกับราคาขาย (Price Sensitivity) เนื่องจากระดับรายได้เฉลี่ยของชาวฮังการียังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป ดังนั้น การใช้กลยุทธ์ทางการตลาดด้านราคา การนำเสนอโปรโมชั่น มีบริการจัดส่งฟรี หรือจัดส่งอย่างรวดเร็วที่สุดจากคลังสินค้าในประเทศ จึงเป็นหนึ่งในวิธีที่ผู้เล่นในตลาดฮังการีนิยมเลือกใช้ นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวฮังการีพิจารณาเลือกซื้อสินค้า/บริการจากคำแนะนำของคนรอบข้าง ประกอบกับการอ่านรีวิวในสื่อออนไลน์ ทั้งนี้ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ ได้รวบรวมกฎระเบียบ งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้อง และข้อสังเกตเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม ดังนี้
ตัวอย่างกฎระเบียบระดับสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม | งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องในช่วงครึ่งปีหลังของ 2566 และในปี 2567 | |
อุตสาหกรรมยานยนต์ |
|
งานแสดงสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่ และเทคโนโลยียานยนต์ Automotive Hungary ณ ศูนย์แสดงสินค้า HUNGEXPO Budapest Congress and Exhibition Center กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ระหว่างวันที่ 7-10 พฤษภาคม 2567 เว็บไซต์ผู้จัดงาน: https://automotivexpo.hu/en/ |
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ |
|
เว็บไซต์ผู้จัดงาน: https://electrosub.hu/
2. งานแสดงสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ InnoElectro เว็บไซต์ผู้จัดงาน: https://innoelectro.com/en |
อุตสาหกรรม ICT | สำหรับสินค้าโทรคมนาคมที่ใช้ไฟฟ้าบางประเภท
กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น
|
|
อุตสาหกรรมยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ |
|
|
อุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปอาหาร | ระดับสหภาพยุโรป
ระดับชาติ
|
งานแสดงสินค้าและบริการสำหรับธุรกิจบริการอาหาร (Food Service) ค้าปลีก (Retail) และ HORECA (โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่-จัดเลี้ยง) ที่ใหญ่ที่สุดของฮังการีและภูมิภาคยุโรปกลาง SIRHA BUDAPEST ณ ศูนย์แสดงสินค้า HUNGEXPO Budapest Congress and Exhibition Center กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม 2567 เว็บไซต์ผู้จัดงาน: https://sirha-budapest.com/en/ |
ที่มาของข้อมูล:
- “Key facts about Hungary – Main industries” – EUGO Hungary (Website), Retrieved from: Link
- “Key Investment Sectors – Automotive” – HIPA (Hungarian Investment Promotion Agency) (Website), Retrieved from: Link
- “Key Investment Sectors – Food Industry” – HIPA (Hungarian Investment Promotion Agency) (Website), Retrieved from: Link
- “Tíz év alatt duplájára nőtt a magyar gyógyszeripar teljesítménye” – Magyar Nemzet (Website), Retrieved from: Link
- “What are the growing economies in Hungary?” – Daily News Hungary (Website), Retrieved from: Link
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)