ข้อมูลจาก Rubber Board ของอินเดีย ระบุว่าพื้นที่เพาะปลูกยางพาราในอินเดียมีศักยภาพในการผลิตได้มากกว่า 1 ล้านตันต่อปี แต่ในช่วงปีงบประมาณ 2565-66 (เม.ย. 65 – มี.ค. 66) อินเดียผลิตยางได้เพียง 8.39 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 8.3% ที่ผลิตได้ 7.75 แสนตัน ในขณะที่ ความต้องการใช้ยางมีอยู่ประมาณ 1.35 ล้านตัน ขยายตัวปีละ 8-10% ทำให้อินเดียจำเป็นต้องนำเข้ายางธรรมชาติประมาณ 5 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 6% และคาดว่าในปีงบประมาณ 2566-67 ความต้องการใช้ยางในอินเดียจะเพิ่มเป็น 1.4 ล้านตัน ขยายตัวจากปีที่แล้ว 10% ซึ่งจะส่งผลให้การนำเข้าจะขยายตัวเกิน 6 แสนตัน โดยความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เป็นผลมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมของอินเดียที่ขับเคลื่อนให้ความต้องการใช้ยางให้เพิ่มขึ้นตามลำดับ
หลายปีที่ผ่านมาอินเดียส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย แต่ก็ยังไม่ให้ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน ในขณะที่ พื้นที่ภาคใต้ของอินเดีย โดยเฉพาะรัฐเกรละ บางครั้งต้องประสบกับภาวะฝนตกหนักและน้ำท่วมส่งผลต่อการกรีดยางด้วย สมาคม All India Rubber Industries Association คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตในปีงบประมาณนี้จะเพิ่มขึ้นเพียง 5% ในขณะที่ ราคายางในตลาดโลกยังมีระดับต่ำกว่ายางในอินเดีย อันเนื่องมาจากการชะลอตัวลงของความต้องการซื้อจากจีนและสหภาพยุโรป ทำให้แนวโมการนำเข้ายางพาราของอินเดียจะยังมีอย่างต่อเนื่อง
จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว อินเดียจึงจะต้องนำเข้ายางพาราต่อไปอีกหลายปี โดยเฉพาะยางธรรมชาติที่กำหนดไว้ในทางเทคนิค (Technically specified natural rubber -TSNR) ที่สามารถนำเข้าภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องนำไปผลิตเพื่อการส่งออกภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยปัจจุบันอินเดียเริ่มหันไปนำเข้าจากแอฟริกา นอกเหนือจากแหล่งนำเข้าในอาเซียน
ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็น
ภาวะเอลนีโญ่มีแนวโน้มจะส่งให้ผลผลิตยางในพื้นที่ฝนตกชุกของอินเดียลดลง และสะท้อนถึงการนำเข้าที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อินเดียเรียกเก็บภาษีนำเข้ายางพาราธรรมชาติอยู่ที่ 25% และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ในขณะที่ ยางพารายังเป็นสินค้าที่ไม่ได้อยู่ภายในความตกลงการค้าเสรีระหว่างอินเดียและชาติสมาชิกอาเซียน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยเริ่มลดลง อย่างไรก็ดี ไทยยังมีโอกาสในการขยายตลาดสินค้าในอุตสาหกรรมขั้นกลางเพื่อมาต่อยอดการผลิตในอินเดีย อาทิ ยาง TSNR (HS Code 4001.22) และ ยางแท่งผสม (Compound Rubber, HS Code 4005) ซึ่งไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งของอินเดียต่อเนื่องมาหลายปี โดยอินเดียมีอากรขาเข้าเพียง 5% ภายใต้ความตกลง ASEAN-India FTA รวมถึงยางประเภท Butadiene Rubber (BR, HS Code 4002.20) ที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 อินเดียนำเข้าจากไทย
เป็นมูลค่า 1.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 271% นอกจากนี้ อินเดียยังนำเข้ายางประเภท Styrene Butadiene Rubber (SBR, HS 4002.19.10) จากไทยเป็นมูลค่า 3.63 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 131% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอินเดียจำเป็นต้องใช้ยางเหล่านี้ในการผลิตยางเรเดียลในรถยนต์ที่ใช้งานหนัก อาทิ รถกระบะ รถบรรทุก รถบัส และ รถแทรกเตอร์
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)