“โอกาสการเจาะตลาดน้ำมันรำข้าวในสหรัฐฯ”
1.ภาพรวมและแนวโน้มตลาด
ตลาดน้ำมันรำข้าวทั่วโลก ปี 2565 มีมูลค่า 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และน่าจะมีการขยายตัวเฉลี่ย 5.6% ในช่วงระหว่างปี 2566-2573
สำหรับตลาดสหรัฐฯ ยอดจำหน่ายน้ำมันรำข้าว ปี 2564 มีมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และน่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.9% ในช่วงระหว่างปี 2566-2573
ปัจจัยที่ส่งเสริมการบริโภคน้ำมันรำข้าว คือ ความใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และคุณประโยชน์ทางโภชนาการของน้ำมันรำข้าวที่มีมากมาย เช่น มีวิตะมิน E ในระดับสูงซึ่งมีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ตลอดจนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยน้ำมันรำข้าวนิยมนำมาประกอบอาหารในกลุ่มผัดและทอด
อย่างไรก็ดี ข้อมูลการบริโภคน้ำมันที่ใช้ในการทำอาหารของสหรัฐฯ ปี 2564 ในภาพรวม อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ พบว่าน้ำมันพืชที่เป็นที่นิยมในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเรพซีดหรือคาโนล่า น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันเมล็ดฝ้ายและน้ำมันถั่ว ตามลำดับ
หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า น้ำมันรำข้าวกับน้ำมันมะกอกมีลักษณะใกล้เคียงกัน เนื่องจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงเหมือนกัน แต่ในน้ำมันรำข้าวมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์มากกว่ามากกว่าน้ำมันมะกอก และสามารถทนต่อความร้อนได้ดีกว่า กอปรกับน้ำมันรำข้าวมีราคาไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับน้ำมันมะกอก โดยราคาน้ำมันรำข้าวต่อแกลลอน ประมาณ 30 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันมะกอกต่อแกลลอน ประมาณ 40 เหรียญสหรัฐ ดังนั้น น้ำมันรำข้าวจึงน่าจะเป็นสินค้าทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคสหรัฐฯ ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ น้ำมันรำข้าวมีโอกาสเติบโตได้ดีในตลาดสินค้าออร์แกนิก เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อว่าน้ำมันรำข้าวเป็นสินค้าจากธรรมชาติปราศจาก GMO จึงเหมาะที่จะนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำอาหารคลีน (Clean food)
น้ำมันรำข้าวยังเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอางค์ เนื่องจากมีวิตะมิน E ช่วยบำรุงผิวและให้ความชุ่มชื้น ตลอดจนเป็นสินค้าที่มาจากธรรมชาติซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ความสวยสะอาดจากธรรมชาติ (clean beauty) ที่กำลังมาแรงในปัจจัจุบัน ซึ่งน่าจะหนุนให้น้ำมันรำข้าวเป็นที่ต้องการของโรงงานผลิตเครื่องสำอางค์เพิ่มมากขึ้น โดยสินค้าเครื่องสำอางค์และความงามที่ระบุว่าเป็นสินค้าสะอาดจากธรรมชาติ (clean beauty) ในตลาดสหรัฐฯ มีประมาณ 1 ใน 3 ของตลาด มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12% ตั้งแต่ปี 2563-2570 ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายสินค้าเครื่องสำอางค์จากธรรมชาติ (clean beauty) ในสหรัฐฯ ปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 1,750 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีการขยายตัวเฉลี่ย 7.06% ในช่วงระหว่างปี 2566-2570 ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของน้ำมันรำข้าวไทยในการเจาะขยายเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวต่อไป
2.ช่องทางการจำหน่ายสินค้า
ตลาดน้ำมันรำข้าวแบ่งออกเป็น 2 ช่องทางหลัก คือ แบ่งเป็น 2 ช่องทางหลัก คือ
1. ทางออฟไลน์ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าส่ง ร้านค้าสำหรับร้านอาหารและ food service เช่น Restaurant Depot ถือเป็นช่องทางหลักที่สำคัญที่ใช้ในการเจาะกลุ่มผู้บริโภคในสหรัฐฯ
2. ทางออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce ที่สำคัญอย่าง Amazon และเว็บไซต์ของซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในตลาด ช่องทางนี้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ดีช่องทางนี้เหมาะที่จะใช้เป็นช่องทางในการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ที่ยังไม่มีในตลาดหรือเป็นการเปิดตัวสินค้าพิเศษให้กับผู้บริโภค นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจในการทดลองจำหน่ายสินค้าในตลาดสหรัฐฯ
3. การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ กับทั่วโลก
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันพืชและไขมันจากพืช (HS151590) จากทั่วโลก ประมาณ 218 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.89% โดยนำเข้าจากเม็กซิโกเป็นอันดับ 1 (มูลค่า 98 ล้านเหรียญสหรัฐ +42.55% รองลงมา คือ อิตาลี (มูลค่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐ -5.47%) และสเปน (มูลค่า 23 ล้านเหรียญสหรัฐ +3.47%) ส่วนไทยส่งออกมายังตลาดสหรัฐฯ เป็นลำดับที่ 18 (มูลค่า 1.37 ล้านเหรียญสหรัฐ +0.64%)
4. วิเคราะห์โอกาสของน้ำมันรำข้าวของไทยในตลาดสหรัฐฯ
จุดแข็ง
1. ไทยเป็นประเทศที่ผู้ผลิตและส่งออกข้าวที่สำคัญของตลาดสหรัฐฯ ดังนั้นผู้นำเข้าจึงมีความเชื่อว่าไทยจะสามารถเป็นแหล่งผลิตและอุปทานน้ำมันรำข้าวที่มีประสิทธิภาพให้กับสหรัฐฯ ได้
2. ความน่าเชื่อถือและเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าของไทยเป็นที่ยอมรับ ดังนั้นการผลิตสินค้าในกลุ่มอุปโภคและความงามไทยน่าจะได้เปรียบมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ในตลาด
จุดอ่อน
1. จากข่าวที่ได้มีการเผยแพร่ในตลาดสหรัฐฯ เรื่องการปนเปื้อนในข้าว อาจเป็นอุปสรรคต่อการรับรู้ของผู้บริโภคในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายและให้ความรู้ผ่านสื่อออนไลน์และออฟไลน์น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคสหรัฐฯ ได้ในระยะยาว
2. น้ำมันรำข้าวจากไทยยังไม่แพร่หลายในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะทางช่องทาง E-Commerce อาจเป็นอุปสรรที่สำคัญต่อการขยายตัวในอนาคต อย่างไรก็ดี น้ำมันรำข้าวไทยสามารถพบได้ตามช่องทางร้านไทยหรือออนไลน์ของชำไทยเท่านั้น ซึ่งมีราคาขายใกล้เคียงกับน้ำมันระดับพรีเมี่ยมในสหรัฐฯ
โอกาส
1. ข้อดีของน้ำมันรำข้าว คือ เป็นสินค้าจากธรรมชาติและปราศจากกลูเตน จึงทำให้ชาวอเมริกันที่แพ้อาหารสามารถเลือกใช้น้ำมันรำข้าวเป็นสินค้าทางเลือกได้ จากข้อมูลของบริษัท verywellhealth.com ระบุว่า 7% ของประชากรสหรัฐฯ ทั้งหมด หรือประมาณ 20 ล้านคน แพ้กลูเตน
2.อุตสาหกรรม Food Service ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของน้ำมันรำข้าวและหันมาใช้น้ำมันรำข้าวในการประกอบอาหารภายในร้านเพิ่มมากขึ้น น้ำมันรำข้าวนอกจากจะปลอด GMO แล้ว ยังช่วยลดการสะสมตัวของการเกิดสารออกซิแดนท์และโพลิเมอร์ ทำให้ทางร้าน (food service) จะไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันบ่อยๆ ในการปรุงอาหาร ช่วยลดต้นทุนและยังเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค
3.เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ห่วงใยสุขภาพ บริษัทผลิตขนมขบเคี้ยวชั้นนำได้หันมาใช้นำมันรำข้าวในการผลิต โดยหวังว่าน่าจะเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ห่วงใยในสุขภาพได้มากขึ้น
4. น้ำมันรำข้าว ยังใช้เป็นส่วนผสมกับธัญพืชเพื่อทำเป็นอาหารเสริมสำหรับม้า เพื่อสร้างพลังงานและเพิ่มวิตะมิน ดังนั้น การขยายสินค้าสู่ตลาดอาหารสำหรับสัตว์ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ผลิตน้ำมันรำข้าว
5. น้ำมันรำข้าวน่าจะเป็นตัวแปรที่สำคัญในวงการอาหารคลีน (clean food) และความงามสะอาดจากธรรมชาติ (clean beauty) มากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต ผู้ส่งออกไทยควรเร่งตื่นตัวและอาศัยโอกาสดังกล่าวในการเจาะเข้าสู่กลุ่มผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ
อุปสรรค
1. พฤติกรรมการบริโภคที่เคยชินของชาวอเมริกันที่นิยมการใช้น้ำมันจากพืชและน้ำมันมะกอก อาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคปลายน้ำ
2. ชาวอเมริกันยังไม่รู้จักแบรนด์สินค้าน้ำมันรำข้าวของไทยมากนัก ดังนั้น การให้ข้อมูลและการส่งการจำหน่ายโดยการร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าหรือผ่าน Influencers ทางสือ social ต่างๆ น่าจะช่วยให้ผู้บริโภคเปิดโอกาศและเริ่มทดลองสินค้าไทยได้
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)