ปัจจุบันการลงทุนในด้านฐานการผลิตในเยอรมนีอาจไม่เป็นที่นิยมมากนัก โดยเยอรมนียังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันอยู่ ยกตัวอย่างเช่นข่าวดีที่บริษัท Haribo จะลงทุนเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านยูโร กับโรงงานผลิตขนมหวานที่เมือง Neuss ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะมีขนาดใหญ่สองเท่าของโรงงานในปัจจุบัน ซึ่งข่าวนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั่วโลก เนื่องจากขณะนี้ทั่วทั้งโลกต่างพูดถึงสัดส่วนที่ลดลงของภาคอุตสาหกรรมในเยอรมนี (Deindustrialization) อีกทั้งการสร้างโรงงานแห่งใหม่ในตลาดเยอรมันก็ถือเป็นเรื่องที่พิเศษมาก เพราะตอนนี้พื้นที่สำหรับการลงทุนในประเทศถูกประเมินเป็นเชิงลบมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากปัญหาด้านราคาพลังงานที่สูง ค่าจ้างที่แพง การขาดแคลนแรงงาน และความต้องการของแรงงานที่ต้องการลดการทำงานลงเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ รวมถึงระบบราชการที่ด้อยประสิทธิภาพ ซึ่งในการจัดอันดับพื้นที่ที่เหมาะกับการลงทุนของมูลนิธิธุรกิจครอบครัว (Stiftung Familienunternehmen) ในปี 2022 นั้น พบว่า เยอรมนีตกลงมาอยู่อันดับที่ 18 จาก 21 ประเทศ ต่างจากปี 2014 ที่สามารถขึ้นมาได้ถึงอันดับที่ 9 ซึ่งไม่ใช่แค่นักลงทุนต่างชาติเท่านั้นที่หลีกเลี่ยงการมาลงทุนในเยอรมนี แต่ยังรวมถึงบริษัทผู้ผลิตและ SMEs ของเยอรมนีเองด้วยเช่นกันที่พยายามหลีกเลี่ยงการลงทุน ซึ่งตามข้อมูลของสถาบันเศรษฐศาสตร์เยอรมนี (IW – das Institut der deutschen Wirtschaft) ที่ตั้งอยู่ในเมือง Cologne เผยให้เห็นว่า การไหลออกของการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) ในปี 2023 สูงกว่าการไหลเข้าถึง 94 พันล้านยูโร และมีแนวโน้มที่ต่อเนื่องไปอีก ส่งผลให้เมื่อไม่นานมานี้บริษัท Miele ผู้ผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือนได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดเป็นอย่างมาก ด้วยการออกมาประกาศว่า ต้องการย้ายการจ้างงาน 700 ตำแหน่ง ไปยังโปแลนด์แทน
ในขณะที่บริษัท Stihl ผู้เชี่ยวชาญด้านเลื่อยยนต์ก็ได้ระงับแผนการสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเมือง Ludwigsburg ไว้ชั่วคราว แม้แต่ในประเทศที่ค่าจ้างสูงอย่างสวิตเซอร์แลนด์ก็ยังผลิตได้คุ้มค่ากว่าในเยอรมนีทั้ง ๆ ที่มีระดับค่าจ้างจะสูงกว่า แต่สัปดาห์ทำงานในสวิตเซอร์แลนด์ คือ 42 ชั่วโมง ซึ่งส่งผลให้มีผลผลิตสูงขึ้นตาม แต่บริษัท Haribo เน้นย้ำว่า ยังคงสามารถผลิตได้อย่างมีศักยภาพในเยอรมนี อย่างไรก็ตาม การลงทุนนับล้านยูโรในเมือง Neuss นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเองแบบอัตโนมัติ เพราะบริษัท Haribo เองมีโรงงานในฮังการีอีกด้วย ซึ่งการผลิตของโรงงานดังกล่าวมีราคาถูกกว่า และโรงงานแห่งนี้สามารถผลิตสินค้าสำหรับตลาดเยอรมันได้เช่นกัน เพราะอยู่ใกล้กับเยอรมนี การที่ Haribo ตัดสินใจตั้งโรงงานในเยอรมนีเห็นได้ชัดเจนว่า ได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์ในปี 2020 เนื่องจากในช่วงเวลานั้นบริษัทฯ ได้ตัดสินใจปิดโรงงานแห่งเดียวในเยอรมันตะวันออกที่ตั้งอยู่ในเมือง Sachsen ที่มีพนักงาน 120 คน การตัดสินใจในครั้งนั้นได้นำมาสู่กระแสความไม่พอใจจากทั้งภาคการเมืองและลูกค้า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาคเอกชนส่วนใหญ่ของเยอรมนีไม่สนใจเกี่ยวกับการสูญเสียภาพลักษณ์ของตนในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน Haribo นับเป็นผู้นำธุรกิจหมากฝรั่งรสผลไม้ และขนมที่มีส่วนผสมชะเอมเทศในตลาดโลก ที่ผลการดำเนินธุรกิจสองในสามส่วนของธุรกิจทั้งหมดอยู่นอกประเทศเยอรมนีมาเป็นเวลานานแล้ว อีกทั้งยังมีพนักงานที่ในต่างประเทศคิดเป็นจำนวน 4,000 คน จากพนักงานทั้งหมด 7,000 คนแล้วก็ตาม ถึงแม้ในช่วงฤดูร้อน Haribo จะเปิดโรงงานผลิตแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา และกำลังจะเปิดโรงงานแห่งที่สองในตุรกี บริษัท Haribo ก็ยังให้ความสำคัญกับเยอรมนีอยู่ดี ดังยุทธศาสตร์ที่กล่าวว่า เราเลือกที่จะผลิตสินค้าตรงพื้นที่ที่มีลูกค้าของเราอาศัยอยู่ ซึ่งบริษัทก็มีลูกค้าจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีเช่นกัน
จาก Handelsblatt 8 กรกฎาคม 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : โรงงานแห่งใหม่ของ Haribo จะสร้างในเยอรมนี มีมูลค่า 300 ล้านยูโร