หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > “โตโยต้า เพิ่มเงินลงทุนแบตเตอรี่ EV 1.2 ล้านล้านเยน”

“โตโยต้า เพิ่มเงินลงทุนแบตเตอรี่ EV 1.2 ล้านล้านเยน”

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 โตโยต้าได้ประกาศเพิ่มเงินลงทุน 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านเยน) โรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่กำลังก่อสร้างในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมเงินลงทุนทั้งหมด 13,900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแผนเพิ่มสายการผลิตเป็น 10 สายภายในปี 2573 และมีแผนผลิตปีละกว่า 30 กิกะวัตต์สำหรับรถ SUV (Sport Utility Vehicle) ประเภท EV เมื่อคำนวณแล้วจะสามารถผลิตได้สำหรับรถยนต์ประมาณ 4 แสนคัน บริษัทฯพยายามสร้างความแข็งแกร่งของระบบการผลิตและจัดหาแบตเตอรี่ให้ได้เพียงพอสำหรับตลาดอเมริกาเหนือ โดยโรงงานแห่งใหม่นี้ มีบริษัท Toyota Tsusho Corporation ร่วมลงทุนร้อยละ 10 และจะเริ่มดำเนินการในปี 2568
โตโยต้าตั้งเป้าจำหน่ายรถยนต์ EV ทั่วโลกรวม 1.5 ล้านคันในปี 2569 และตั้งเป้าจำหน่ายให้ได้ยอดถึง 3.5 ล้านคันในปี 2573 ทั้งนี้ ในปี 2565 ยอดจำหน่ายรถยนต์ EV ของโตโยต้าเท่ากับ 2.4 หมื่นคัน หากจะให้บรรลุเป้าที่ตั้งไว้ บริษัทฯต้องจำหน่ายรถยนต์ให้ได้มากกว่า 60 เท่าใน 4 ปี
นอกจากนี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทฯได้ทำสัญญากับบริษัท LG Energy Solution Ltd. (LGES) ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อจัดหาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน โดย LGES จะลงทุน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้างสายการผลิตแบตเตอรี่สำหรับโตโยต้าโดยเฉพาะภายในโรงงานในรัฐมิชิแกนประเทศสหรัฐอเมริกา
หากรวมจำนวนแบตเตอรี่จากโรงงานของ LGES แล้ว คาดว่า ในปี 2569 โตโยต้าจะสามารถจัดหาแบตเตอรี่ EV ได้เพียงพอต่อความจำเป็นที่ต้องใช้ในตลาดอเมริกาเหนือ

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โตโยต้าได้เปลี่ยนตัวผู้บริหารเป็นนายโคจิ ซาโตะ ซึ่งได้ประกาศนโยบายในการมุ่งสู่การผลิตรถยนต์ EV ภายใต้แนวคิด “EV First” การลงทุนแบตเตอรี่ EV ครั้งนี้จึงสะท้อนให้เห็นการสนองนโยบายและแนวคิดดังกล่าวของบริษัทฯ
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับบริษัทยานยนต์ญี่ปุ่นเพราะประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและประกอบยานยนต์ (เครื่องยนต์สันดาปภายใน) ที่สำคัญของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ดังนั้น ทิศทางและนโยบายของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) รถยนต์ประเภทไฮบริด (HV) หรือรถยนต์พลังไฮโดรเจนนั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย โดยปี 2565 มูลค่าการส่งออกจากประเทศไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นมีมูลค่าอยู่ที่ 64,087.2 ล้านบาท ทิศทางของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกในปัจจุบันอย่างบริษัทโตโยต้าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการชี้อนาคตของอุตสาหกรรมและการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไทย

ฉบับที่ 6 ประจำวันที่ 4 – 10 พฤศจิกายน 2566 -DITP
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login