จากการตัดสินใจของกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวของประเทศโคลอมเบียต่อการยุติความตกลงส่งเสริมเศรษฐกิจ (the Economic Complementation Agreement 72: ACE 72) กับกลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (Southern Common Market) หรือ Mercosur[1] ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อตลาดรถยนต์ของโคลอมเบีย โดยเป้าหมายหลักของการตัดสินใจดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ทั้งนี้ ความตกลง ACE 72 มีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2560 โดยประเทศบราซิลซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญในภูมิภาคลาตินอเมริกาสามารถส่งออกรถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ ไปยังโคลอมเบียได้โดยไม่มีการเก็บภาษีนำเข้า ตามโควต้าที่กำหนด เช่น Renault, Chevrolet, Volkswagen และ Ford ซึ่งการนำเข้ารถยนต์จำนวนมากของโคลอมเบียส่งผลกระทบโดยตรงต่อดุลการค้าของประเทศ โดยโควต้าการนำเข้ารถยนต์ดังกล่าวจากบราซิล กำหนดที่ 12,000 หน่วย ในปีแรกที่ความตกลง ACE 72 มีผลใช้บังคับ และเพิ่มขึ้นจนถึงจำนวน 50,000 หน่วย ภายในปีที่ 8 ของการบังคับใช้ความตกลงฯ ซึ่งเป็นโอกาสของผู้บริโภคชาวโคลอมเบียในการเข้าถึงรถยนต์หลากหลายแบรนด์และประเภทตามความต้องการ
รัฐบาลโคลอมเบียระบุว่า ยังคงดำเนินนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า และความตกลง ACE 72 กับกลุ่ม Mercosur ไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่โคลอมเบียต้องการ โดยโคลอมเบียเป็นฝ่ายเสียเปรียบทางการค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ ยอดการจำหน่ายรถยนต์ท้องถิ่นในประเทศลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบให้โรงงานผลิตรถยนต์ท้องถิ่นรายสำคัญของโคลอมเบีย เช่น GM-Colmotores จำเป็นต้องปิดตัวลง ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญต่อเป้าหมายในการกระตุ้นอุตสาหกรรมท้องถิ่นและปรับปรุงความสามารถทางการแข่งขันด้านการส่งออก โดยมุ่งเน้นการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และเห็นว่ากลยุทธ์การดำเนินการของรัฐบาลจะสร้างการประหยัดทางขนาดของการผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า สมาคมความเคลื่อนไหวอย่างยั่งยืน (Association of Sustainable Mobility: ANDEMOS) ของโคลอมเบียได้แสดงความกังวลต่อการตัดสินใจฝ่ายเดียวดังกล่าวของรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้โคลอมเบียไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการนำเข้ารถยนต์จากบราซิล และอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างโคลอมเบียและบราซิล นอกจากนี้ ประธานบริษัท Renault-Sofasa (นาย Ariel Montenegro) แสดงความประหลาดใจต่อการตัดสินใจดังกล่าวของรัฐบาลโคลอมเบีย และคาดการณ์ว่าผลกระทบจากการยุติความตกลงฯ จะส่งผลอย่างชัดเจนต่อราคารถยนต์นำเข้าภายใน 18 เดือน
จากข้อมูลของ El Carro Colombiano[1] พบว่า รถยนต์ที่จัดจำหน่ายในโคลอมเบียคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35 นำเข้ามาประเทศบราซิล ซึ่งรัฐบาลโคลอมเบียเห็นว่าการจัดทำความตกลง ACE 72 กับกลุ่ม Mercosur ประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือบราซิล เนื่องจากบราซิลสามารถส่งออกรถยนต์ไปโคลอมเบียได้เป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์หลังจากความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ[2]
โคลอมเบียมีการนำเข้ารถยนต์ในพิกัดศุลกากร 8703 (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล) และ 8704 (รถปิ๊กอัพ) (ยกเว้น 8703100000 และ 8704100090) โดยนำเข้าจากบราซิลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 ยกเว้นในช่วงต้นของปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) โดยบราซิลเป็นแหล่งนำเข้ารถยนต์อันดับที่ 5 ในปี 2559 และขยับขึ้นเป็นลำดับที่ 1 ในปี 2565 – 2566 ในขณะที่ประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้ารถยนต์ของโคลอมเบียในลำดับที่ 15 ในปี 2559 และขยับขึ้นเป็นลำดับที่ 9 ในปี 2566
บทวิเคราะห์ / ความเห็น สคต.
การตัดสินใจยุติความตกลงฯ ของรัฐบาลโคลอมเบียถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อตลาดรถยนต์ในโคลอมเบีย แม้ว่าโคลอมเบียจะได้ประโยชน์จากความตกลงในแง่ของการเข้าถึงรถยนต์ที่มีความหลากหลายและราคาไม่แพง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับข้อเสียเปรียบด้านดุลการค้า และเงื่อนไขต่าง ๆ ทางเทคนิคที่บราซิลกำหนดสำหรับการนำเข้าสินค้า ทำให้รัฐบาลโคลอมเบียต้องตัดสินใจยุติความตกลงฯ ทั้งนี้ อนาคตของตลาดในโคลอมเบียขึ้นอยู่กับความสามารถด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมท้องถิ่นในการปรับตัวให้ต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากบราซิล อย่างไรก็ดี สคต.ฯ เห็นว่าโคลอมเบียและบราซิลยังคงมีโอกาสในการเจรจาทบทวนเงื่อนไขการนำเข้า/ส่งออกสินค้า เพื่อให้ทั้งสองประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่นในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันและการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ทั้งนี้ โคลอมเบียมีการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศต่าง ๆ ซึ่งตลาดเป้าหมายสำคัญของอยู่ในภูมิภาคลาตินอเมริกา ได้แก่ เอกวาดอร์ เม็กซิโก อาร์เจนตินา ชิลี และโบลิเวีย ตลาดรถยนต์ของโคลอมเบียมีการปรับตัวขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ และปัจจัยด้านความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ รถยนต์ที่ชาวโคลอมเบียนิยมใช้ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคลาตินอเมริกา และจากข้อมูลของ OECD ค่าเฉลี่ยโดยรวมของโลกของจำนวนยานพาหนะอยู่ที่ 435.6 คันต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่ โคลอมเบียมีค่าเฉลี่ยเพียง 126.5 คันต่อประชากร 1,000 คน อย่างไรก็ดี โคลอมเบียมีการขยายตัวด้านการผลิตและความต้องการรถยนต์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงที่โคลอมเบียยังมีการบังคับใช้ความตกลง ACE 72 กับกลุ่ม Mercosur โคลอมเบียก็ยังคงมีการนำเข้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบจากไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยมีโอกาสในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดรถยนต์และส่วนประกอบต่าง ๆ ในโคลอมเบีย
การลดการนำเข้าสินค้ารถยนต์จากบราซิลเป็นโอกาสให้โคลอมเบียสามารถนำเข้ารถยนต์จากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น และไทยมีการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไปยังโคลอมเบีย[1] คิดเป็นมูลค่า 468.54 ล้านบาท ในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวของปีก่อนหน้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.77 ที่ผ่านมา รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเป็นสินค้าที่โคลอมเบียนำเข้าจากไทยเป็นลำดับต้น และมีแนวโน้มขยายตัวตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งเป็นโอกาสของไทยในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในโคลอมเบีย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรนำเสนอความสามารถในการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพื่อดึงดูดให้ผู้นำเข้า / ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ในโคลอมเบียเลือกดำเนินธุรกิจกับไทยเพิ่มขึ้น
______________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
กันยายน 2567
[1] สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ https://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomTopNCountry&Option=1&Lang=Th&ImExType=1
[1] Local Colombian newspaper
[2] Latin American Retail and Mass Consumption news – https://america-retail.com/paises/colombia/impacto-de-la-terminacion-del-acuerdo-de-importacion-de-vehiculos/
Mexican Business news – https://mexicobusiness.news/automotive/news/colombia-ends-trade-deal-brazil-support-local-evs
[1] กลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (Mercosur) ประกอบด้วย อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย และเวเนซุเอลา
อ่านข่าวฉบับเต็ม : โคลอมเบียยุติความตกลงทางการค้ากับบราซิลเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ