หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > แผนอุ้มภาคอุตสาหกรรมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจฯ ของเยอรมนี

แผนอุ้มภาคอุตสาหกรรมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจฯ ของเยอรมนี

เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีแล้ว ที่นาย Robert Habeck รองนายกรัฐมนตรีสหพันธ์ฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการทางสภาพภูมิอากาศสหพันธ์ฯ สังกัดพรรคยุค 90 พันธมิตรสีเขียว (Bündnis 90/Die Grünen) ออกมาประกาศว่าปี 2023 จะเป็นปีแห่ง “นโยบายอุตสาหกรรม” และในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้นำเสนอยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม (มีประมาณ 60 หน้า) เพื่อต้องการ “รักษาตำแหน่งผู้นำด้านอุตสาหกรรมของเยอรมนีที่แข็งแกร่งต่อไป” โดยจะมีการปรับมาตรการต่าง ๆ และวางแผนโครงการระดมทุนเพื่อสนับสนุนบริษัทขนาดใหญ่และกลางให้เปลี่ยนไปใช้พลังงานสีเขียว (เปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลหรือนิวเคลียร์ที่ใช้อยู่ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น) รวมถึงส่งเสริม/พัฒนาแรงงานสูงอายุที่มีความเชี่ยวชาญ (ที่กำลังจะเกษียณอายุ) ให้ยังคงทำงานอยู่ในระบบนานขึ้น ซึ่งหลังจากที่ประกาศ “นโยบายอุตสาหกรรม” แล้วพบ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย และจนถึงขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่านาย Habeck จะดำเนินนโยบายด้านอุตสาหกรรมไปในทิศทางใด

สงครามยูเครน – รัสเซียทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของเยอรมนีสูงขึ้น ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีประสบปัญหาในการแข่งขันระดับนานาชาติ โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมขั้นต้น อาทิ อุตสาหกรรรมเคมี และเหล็กกล้า เป็นต้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้จำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลงตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวของปีกลาย (ต่ำกว่ากำลังการผลิตในปี 2015 ถึง 5% โดยประมาณ) และตอนนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้บางส่วนกำลังเตรียมย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศแล้ว ซึ่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้มีการถกเถียงกันอย่างหนักว่า ภาคการเมืองจะช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมได้มากแค่ไหน สำหรับการที่ผู้ประกอบการจะย้ายฐานการผลิตนั้นจะทำให้เยอรมนีต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องพึ่งพาประเทศอื่นมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้นาย Habeck เห็นว่า เป็นเรื่องที่อันตรายมากโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์สูงเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งในยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมได้มีการกล่าวว่า “เยอรมนีต้องการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และจะพยายามดึงดูดความสนใจผู้ประกอบการที่เคยออกไปลงทุนในต่างประเทศ ให้กลับมาตั้งโรงงานในเยอรมนีดังเดิม” ซึ่งอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่นาย Habeck กล่าวถึงคือ อุตสาหกรรมการผลิตชิป และอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เป็นต้น ซึ่งนาย Habeck ได้ออกมาแสดงความชัดเจนว่า “ในยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมฉบับนี้ได้รวมแทบทุกเรื่องไว้ในที่เดียว โดยครอบคลุมตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึงธุรกิจ SMEs ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้พลังงานสูง ไปจนถึงอุตสาหกรรมก่อสร้างเครื่องจักรกล ยานพาหนะ และอากาศยาน”

จากข้อมูลวงในของผู้ร่วมร่างยุทธศาตร์อุตสาหกรรมนี้ได้ออกมาเปิดเผยว่า “ในช่วงต้นปี 2023 ได้มีการรวมตัวผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ และนักวิทยาศาสตร์มาทำ Workshops กันที่กระทรวงฯ เพื่อหาข้อสรุปของร่างยุทธศาสตร์ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยตั้งเป้าที่จะนำเสนอแผนนี้ใน วันอุตสาหกรรมเยอรมัน (Tag der deutschen Industrie)” ในเดือนมิถุนายน 2023 ด้านนาย Siegfried Russwurm ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมเยอรมนี  (BDI – Bundesverband der Deutschen Industrie) ได้ออกมาชื่นชมนาย Habeck ที่ต้องการจะช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี อย่างไรก็ดี มีนักเศรษฐศาสตร์บางรายที่ได้ออกมาตั้งคำถามว่า ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมนี้มันกว้างเกินไปหรือไม่ แล้วจะสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ ในขณะที่นาย Moritz Schularick ประธานสถาบันเศรษฐกิจโลก (Ifw – Institut für Weltwirtschaft) แห่งเมือง Kiew เปิดเผยว่า “หากเยอรมนีต้องการชนะความท้าทายในอนาคต นักการเมืองจะต้องเลิกกังวลหรือติดหล่มกับอดีต” สำหรับอดีตรัฐมนตรีว่าการการทรวงเศรษฐกิจฯ นาย Peter Altmaier สังกัดพรรคสหภาพคริสต์เตียนเพื่อประชาธิปไตยประเทศเยอรมนี (CDU – Christlich Demokratische Union Deutschlands) ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะตอนนั้น ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมให้ความสำคัญเฉพาะบริษัทชั้นนำ/นายทุนใหญ่เท่านั้น ซึ่งนาย Habeck เองก็เกือบจะมีชะตากรรมเดียวกับนาย Altmaier แต่โชคยังดีที่นาย Habeck ได้พยายามที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์โดยเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์มาให้ความสำคัญกับการสนับสนุน/ส่งเสริมกลุ่ม SMEs ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด” โดยครอบคลุมนโยบายการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงาน (Energiewende หมายถึง “นโยบายการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในเยอรมนี ที่อธิบายถึงความพยายามที่จะเปลี่ยนระบบการใช้พลังงานฟอสซิล-นิวเคลียร์ที่มีอยู่ ให้เป็นระบบพลังงานที่ยั่งยืนผ่านพลังงานหมุนเวียน”), นโยบายการเร่งความเร็วในการวางแผน (Planungsbeschleunigung),นโยบายสนับสนุนการอพยพของผู้ที่มีทักษะ (Fachkräfteeinwanderung) โดยในยุทธศาสตร์ได้ระบุไว้ว่า “ในช่วง 2 ปีสุดท้ายของรัฐบาลนี้เราจะให้ความสำคัญกับปรับข้อเสนอให้น่าสนใจยิ่งขึ้นเป็นหลัก”

สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักว่า หากไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในอนาคตของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งนาย Habeck เห็นว่า นอกจากนโยบายให้การสนับสนุนการอพยพของผู้ที่มีทักษะจากต่างประเทศแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะสร้างข้อเสนอที่น่าสนใจ เพื่อชักจูง/ดึงดูดความสนใจให้แก่แรงงานผู้เกษียณอายุแล้วหันมาทำงานให้นานขึ้น และหนึ่งในมาตรการก็คือ หลังจากที่ผู้ประกันตนได้ชำระเบี้ยในระบบประกันสังคมชำระเบี้ยประกันสังคม (เบี้ยเกษียณ เบี้ยตกงาน เบี้ยอื่น ๆ) ครบแล้ว หากบุคคนดังกล่าวต้องการที่จะทำงานต่อ แทนที่ค่าใช้จ่ายที่นายจ้างต้องชำระเบี้ยดังกล่าวให้กับการประกันสังคมต่อ (ซึ่งโดยปรกติก็จะไม่ได้ทำให้เงินเกษียณสูงขึ้น) แต่ก็ให้นำไปชำระให้กับลูกจ้างโดยตรงแทนเป็นต้น หรืออาจจะมีการระงับการชำระภาษีบางประเภทให้กับผู้ประกันตนที่ชำระเบี้ยครบแล้วด้วย ด้านนาย Fuest ประธานสถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยมิวนิค (Ifo – Institut für Wirtschaftsforschung an der Universität München) กล่าวชมยุทธศาสตร์นี้ฯ ว่า “สิ่งที่จำเป็นก็คือการทำให้ยุทธศาสตร์นี้มีความหลากหลายมากขึ้นก็จะสามารถสร้างอุปทานด้านแรงงานได้เป็นรูปธรรม” โดยเขาเห็นว่า ควรปฏิรูปกฎเกณฑ์ในการคำนวณเงินในการชำระภาษีของประชาชน และการปฏิรูปภาษีเงินได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นาย Fuest เห็นว่า สิ่งสำคัญที่ยุทธศาสตร์นี้ยังขาดอยู่ก็คือ การปฏิรูปเรื่องภาษีนิติบุคคล โดยใน “ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม” ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า อัตราการเรียกเก็บภาษีนิติบุคคลโดยเฉลี่ยประมาณของบริษัทเยอรมันร้อยละ 30 ทำให้เยอรมนีเป็นประเทศที่จัดเก็บภาษีดังกล่าวสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของการจัดอันดับระดับนานาชาติ นาย Fuest กล่าวติงเรื่องดังกล่าวว่า “แม้ว่ากระทรวงฯ จะทราบถึงปัญหาดังกล่าวจนขนาดมีการระบุไว้ในยุทศาสตร์ แต่ก็ไม่มีการระบุการปฏิรูปอะไรเป็นรูปธรรม”

นาย Christian Lindner รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสังกัดพรรคเพื่ออิสรภาพและประชาธิปไตย (FDP – Freie Demokratische Partei) ต้องการที่จะลดภาษีดังกล่าว และนาย Habeck เองก็กล่าวว่า ในเชิงทฤษฎีแล้วไม่มีปัญหา แต่ก็ออกมากล่าวถึงข้อจำกัดในด้านงบประมานที่น่าจะติดกับข้อกฎหมายเรื่อง “Schuldenbremse” (การรักษางบประมาณให้มีความสมดุล balanced budget amendment) ของประเทศ โดยเขากล่าวว่า “ผมคงไปขออะไรที่เกินจากที่มีการระบุในสัญญาเพื่อการจัดตั้งรัฐบาล (Koalitionsvertrag) ได้” นาย Habeck ไม่ได้ปกปิดความจริงที่ว่า สำหรับเขาแล้ว นโยบายด้านอุตสาหกรรมนั้นจะต้องสอดคล้องกับการลงทุนขนาดใหญ่โดยรัฐด้วย และเมื่อถึงจุดนี้ก็ทำให้เห็นชัดเจนว่า อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกพรรคร่วมรัฐบาล โดยในปีหน้านาย Lindner จะรักษา Schuldenbremse ให้ได้ แต่สำหรับนาย Habeck แล้ว การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่นั้นต้องมีการรักษาเสถียรภาพในระยะยาวไว้ให้ได้จึงจะเกิดประสิทธิภาพตามที่ต้องการได้ และกล่าวว่า เมื่อดูกฎหมาย Schuldenbremse อย่างช้าในช่วงปีงบประมาณหน้า เราก็ต้องหารือกันว่าจะปรับกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับความเป็นจริงได้อย่างไรบ้าง”

ซึ่งในปี 2024 นั้นยังไงก็จะช่วยกันรักษา Schuldenbremse ให้ได้ แต่นาย Habeck มีความประสงค์ที่จะผลักดัน “ค่าไฟเชื่อมช่องว่าง (Brückenstrompreis)” ที่ต้องการจะนำมาช่วยอุตสาหกรรมหนักที่ใช้พลังงานสูงปรับตัวเข้ามาใช้พลังงานทดแทนให้เร็วที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากที่เขาจะต้องตอบคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (EU) ให้ได้ว่าทำไม่เยอรมนีจะสนับสนุนบางภาคอุตสาหกรรม (แย่งกับนโยบายการแข่งขันอย่างเป็นธรรม) อีกทั้งเขายังต้องได้รับการสนับสนุนจากนาย Olaf Scholz นายกรัฐมนตรีสังกัดพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD – Sozialdemokratische Partei Deutschlands) อีกด้วย โดยนาย Scholz ได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเหล็ก (Industriegewerkschaft Metall, IG Metall) เพื่อให้เขาออกมาสนับสนุนค่าไฟเชื่อมช่องว่างนี้ จนถึงปัจจุบันเขาก็ยังไม่ยอมที่จะออกมาสนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ จนทำให้กลุ่มสหภาพแรงงานออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง

อีกทั้งใน “ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม” นี่ก็สร้างความไม่พอใจให้กับพรรคสีเขียวที่นาย Habeck สังกัดด้วย เพราะน่าจะมีการอนุญาตให้มีการใช้เทคโนโลยีกระบวนการของการดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ภายใต้พิภพหรือภายใต้ดินท้องทะเล (CCS/CCU – Carbon Capture and Utilization) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กลุ่มพรรคสีเขียวต่อต้านมาตลอด อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศเชื่อว่าไม่มีทางเลือกอื่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2045 ตามที่วางแผนไว้ โดยในกระบวนการผลิตบางอย่าง เช่น ปูนซีเมนต์ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างสมบูรณ์ วิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้คือ CCS/CCU เป็นต้น โดยในยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมระบุเรื่องดังกล่าวไว้ว่า “เยอรมนีจะสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศที่ตั้งไว้ได้ก็ต่อเมื่อใช้เทคโนโลยี CCS/CCU ร่วมด้วย” แต่ สส. จำนวนมากโดยเฉพาะจากพรรคสีเขียวต่างก็ต่อตานเทคโนโลยีนี้อยู่

 

จาก Handelsblatt 6 พฤศจิกายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login