ในขณะที่แบรนด์ผู้นำวงการเครื่องประดับเพชรอย่าง De Beers ประกาศยกเลิกการขายสินค้าที่ผลิตจากเพชรสังเคราะห์ แบรนด์เครื่องประดับ Fred ในกลุ่มบริษัท LVMH (Louis Vuitton) กลับเลือกผลิตเพชรสังเคราะห์สีน้ำเงินชิ้นพิเศษเพื่อนำมาใช้ในการสร้างสรรค์เครื่องประดับชั้นสูงเป็นแบรนด์แรก หลังจากที่เพชรสังเคราะห์ได้รับการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงปี 2010
ในวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา Fred เปิดตัวเพชรสังเคราะห์สีน้ำเงินขนาด 8.8 กะรัต ซึ่งไม่สามารถจำแนกได้ด้วยตาเปล่าว่าเป็นเพชรธรรมชาติหรือเพชรสังเคราะห์ โดยเพชรชิ้นสำคัญนี้ทาง Fred จะนำมาใช้เป็นอัญมณีหลักในชุดเครื่องประดับที่ออกแบบขึ้นมาใหม่เป็นชุดเข้ากันประกอบด้วย สร้อยคอ แหวน และตุ้มหู ตกแต่งด้วยเพชรจริงล้อมรอบ
นาย Charles Leung PDG ของแบรนด์ Fred กล่าวว่า จุดประสงค์ในการใช้เพชรสังเคราะห์ในครั้งนี้เริ่มมาจากชุดเครื่องประดับที่ได้รับการออกแบบมาใหม่มีความต้องการที่จะใช้เพชรที่มีทั้งสีและขนาดที่มีความเฉพาะเจาะจงเป็นอย่างมาก และเพชรสังเคราะห์กลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ไม่ได้เพื่อสร้างกระแสการใช้เพชรสังเคราะห์ในงานเครื่องประดับชั้นสูงแต่อย่างใด หลังจากที่ทางบริษัทได้ทดลองทำงานร่วมกับห้องทดลองผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์หลายแห่ง จนในที่สุดประสบความสำเร็จและบรรลุข้อตกลงกับหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเหล่านั้น ได้เพชรสังเคราะห์ที่ได้รับการเจียระไนให้ได้ขนาดที่ต้องการพร้อมทั้งทำการจดสิทธิบัตร รวมถึงได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันรับรองเครื่องประดับ GIA อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการผลิตเครื่องประดับชิ้นพิเศษนี้แล้วทาง Fred ไม่มีเป้าหมายที่จะนำเพชรสังเคราะห์มาใช้ในการขายสินค้าเครื่องประดับของแบรนด์
ก่อนหน้านี้แบรนด์ De Beers แบรนด์ผู้นำเครื่องประดับเพชรและผู้ผลิตเพชรของโลก เป็นแบรนด์เครื่องประดับรายใหญ่รายแรกที่พัฒนาสินค้าเครื่องประดับจากเพชรสังเคราะห์เข้าสู่ตลาดในปี 2018 ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 90 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อการพัฒนาตลาดเป็นช่วงระยะเวลา 4 ปี จนกระทั่งในวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา De Beers ประกาศยกเลิกการขายสินค้าและการทำตลาดเพชรสังเคราะห์ทั้งหมดของแบรนด์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กับสินค้าแหวนหมั้นเพชรขนาด 1-2 กะรัตโดยมีราคาที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าเครื่องประดับจากเพชรธรรมชาติ สาเหตุหลักในครั้งนี้มาจากปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดทดลองสินค้าเครื่องประดับเพชรสังเคราะห์ของ De Beers ส่งผลให้ราคาเครื่องประดับที่มีอัญมณีเป็นส่วนประกอบราคาตกลงส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงตลาดเครื่องประดับจากเพชรสังเคราะห์ด้วยเช่นเดียวกัน De Beers จึงตัดสินใจยกเลิกตลาดส่วนนี้ในที่สุด
จากข้อมูลของบริษัทการตลาด Bain & Company ในปี 2020 การผลิตเพชรธรรมชาติที่ได้จากเหมืองมีจำนวน 111 ล้านกะรัต ในขณะที่ปริมาณการผลิตเพชรสังเคราะห์ทั่วโลกมีเพียงจำนวน 7 ล้านกะรัตซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของการผลิตอัญมณีทั่วโลกเท่านั้น (ร้อยละ 3 ในปี 2017)
ในขณะที่แบรนด์เครื่องประดับชั้นสูงอย่าง De Beers ยกเลิกสินค้าตลาดเพชรสังเคราะห์ แบรนด์สินค้าระดับกลางอย่าง Pandora กลับเลือกที่จะใช้เพชรสังเคราะห์ในการผลิตสินค้าเครื่องประดับเพื่อส่งเสริมนโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน นาย Olivier Kessler-Gay ผู้อำนวยการรับผิดชอบตลาดภาคพื้นยุโรปตะวันตกของ Pandora ประกาศยกเลิกการใช้เพชรธรรมชาติกับเครื่องประดับของแบรนด์ตั้งแต่สองปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ Pandora ผลิตเครื่องประดับที่ใช้เพชรธรรมชาติเป็นส่วนประกอบเพียง 50,000 ชิ้นต่อปีเท่านั้นจากเครื่องประดับที่ผลิตเป็นจำนวน 105 ล้านชิ้นต่อปี ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Pandora ออกเครื่องประดับใหม่จำนวน 3 คอลเลคชั่นจากเพชรสังเคราะห์ซึ่งจะวางขายเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร การใช้เพชรสังเคราะห์นอกจากจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับการใช้เพชรธรรมชาติ ยังเป็นการส่งเสริมนโยบายเพื่อความยั่งยืนของบริษัทได้เป็นอย่างดี ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ Pandora จะเปิดตลาดสินค้าเครื่องประดับจากเพชรสังเคราะห์ในบราซิลเป็นครั้งแรกและเตรียมการเปิดตลาดในประเทศอื่นๆเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ผู้ผลิตสินค้าเครื่องประดับทุกรายที่ใช้เพชรสังเคราะห์เป็นส่วนประกอบต่างไม่เปิดเผยถึงที่มาของแหล่งผลิต นอกจากกล่าวย้ำว่าเพชรสังเคราะห์สามารถตอบโจทย์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อการผลิตที่ยั่งยืน ได้อย่างครบกระบวนการตั้งแต่การสร้างจนถึงการเจียระไนที่ใช้พลังงานทางเลือกในการผลิต
ความเห็น สคต.
อัญมณีที่ได้รับความนิยมในฝรั่งเศสเป็นอันดับแรกได้แก่ เพชร อย่างไรก็ตามมีแบรนด์เครื่องประดับในฝรั่งเศสไม่กี่แบรนด์เท่านั้นที่ใช้เพชรสังเคราะห์เป็นส่วนประกอบ แบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก เช่นแบรนด์ Jem ใช้เพชรสังเคราะห์กับเครื่องประดับทั้งหมด และแบรนด์อื่นๆ เช่น Maty ที่วางขายสินค้าส่วนหนึ่งจากเครื่องประดับเพชรสังเคราะห์ นอกเหนือจากเครื่องประดับจากเพชรแล้วสินค้าเครื่องประดับจากอัญมณีอื่นๆในฝรั่งเศสได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในปี 2022 ยอดขายสินค้าเครื่องประดับเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการกลับมาของนักท่องเที่ยว
จากข้อมูลของสมาคมผู้ประกอบการเครื่องประดับฝรั่งเศส ( FrancEclat) ในปี 2022 ยอดขายเครื่องประดับและนาฬิกาในห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 51 มูลค่าตลาดสินค้าเครื่องประดับในฝรั่งเศสโดยรวมเติบโตขึ้นร้อยละ 20 จากปี 2021 คิดเป็นมูลค่า 7.5 พันล้านยูโร ยอดการนำเข้าสินค้าในหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องประดับและอัญมณีจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 โดยมีการนำเข้าสินค้าจากไทยรวมกันในทุกหมวดหมู่ของสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีปี 2022 คิดเป็นมูลค่าโดยรวม 150 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากปี 2021 (130 ล้านเหรียญสหรัฐ) ร้อยละ 15 โดยไทยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 3 ของฝรั่งเศสในการนำเข้าสินค้าประเภทหินสีและอัญมณี รองจาก สหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีการนำเข้าฝรั่งเศสในปี 2022 คิดเป็นมูลค่า 48.72 ล้านเหรีญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ถึงร้อยละ 75
ในปี 2024 ที่จะถึงนี้ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิค (26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2024) และพาราลิมปิค (28 สิงหาคม- 8 กันยายน) ซึ่งจะจัดขึ้นในกรุงปารีสและเมืองสำคัญอื่นๆทั่วประเทศ การท่องเที่ยวกรุงปารีสคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าร่วมงานกีฬาครั้งนี้สูงถึง 15 ล้านคน (ทั้งคนฝรั่งเศสและชาวต่างชาติ) และคาดการณ์การว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับฝรั่งเศสกว่า 3.2 พันล้านยูโร (ไม่รวมราคาบัตรเข้าชมกีฬา) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับงานกีฬาครั้งสำคัญนี้ ทางฝรั่งเศสอาจเพิ่มความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยไม่ว่าจะเป็นสินค้าอาหาร ไปจนถึงสินค้าในหมวดหมู่เครื่องประดับโดยเฉพาะสินค้าประเภทหินสีและอัญมณีเพื่อนำมาใช้ในการผลิตสินค้าเครื่องประดับที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ซึ่งทางสคต.ปารีสจะนำความคืบหน้ามาเรียนให้ทราบในโอกาสต่อไป
Virginie Jacoberger-Lavoué
ข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์ Les Echos
https://www.lesechos.fr/industrie-services/mode-luxe/les-diamants-synthetiques-divisent-la-joaillerie-1978983
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)