หน้าแรกTrade insightอาหารแปรรูป > แน้วโน้มการพัฒนาของอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องของจีน

แน้วโน้มการพัฒนาของอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องของจีน

ข้อมูลแผยแพร่จากสมาคมอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องของจีน ระบุว่า ในปี 2565 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารกระป๋องในจีนแตะระดับสูงสุดในรอบหลายปี โดยจีนมีปริมาณการส่งออกสินค้าอาหารกระป๋องสูงถึง 3.125 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 YoY คิดเป็นมูลค่า 6,890 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 YoY ในจำนวนนี้ สินค้าอาหารกระป๋องประเภทผักและผลไม้มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุด นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูปกระป๋องและเห็ดกระป๋องมีอัตราการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ข้อมูลจากเว็บไซต์ TianYuanCha ระบุว่า ปัจจุบัน มีธุรกิจสินค้าอาหารกระป๋องถึง 46,000 แห่ง ทั่วประเทศจีน

ปริมาณการส่งออกสินค้าอาหารกกระป๋องที่เพิ่มมากขึ้น มีผลมาจากความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากราคาสินค้าอาหารกระป๋องในประเทศปลายทางมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้อาหารกระป๋องนำเข้ากลับมีราคาต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกัน ทั้งนี้ สินค้าที่ส่งออกไปต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ผลิตจากโรงงาน OEM

ในช่วงปลายเดือนมีนาคมปี 2566 สมาคมอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องได้ออก “โครงร่างแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องของจีน” ที่ชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมอาหารในประเทศยังขาดความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่ง ผลิตภันฑ์อาหารกระป๋องที่ต้องใช้เทคโนโลยีในผลิตส่วนใหญ่ในประเทศยังพึ่งพาการผลิตจากโรงงานในรูปแบบรับจ้างผลิต (OEM)  โดยด้านสิทธิบัตรในทรัพย์สินทางปัญญาด้านการผลิตสินค้าอาหารกระป๋องยังค่อนข้างต่ำ ยังคงขาดแคลนผู้ทรงสิทธิบัตรในการประดิษฐ์และออกแบบเทคโนโลยีด้านการผลิตสินค้าอาหารกระป๋อง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและกระบวนการผลิต ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้ความได้เปรียบทางด้านผลกำไรไม่สูงเท่าที่ควร ผู้ประกอบการหลายคนกลับอยู่จุดต่ำสุดของรายได้ในอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง

นอกจากนี้ จากรายได้การรับจ้างผลิตสินค้าอาหารกระป๋องที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน บริษัทจำนวนมากพึ่งพอใจกับผลประโยชน์ทันที โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาว ในการลงทุนทรัพยากรด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน ขาดฐานการผลิตวัตถุดิบของตนเอง ซึ่งเป็นส่วนทำให้การสร้างแบรนด์เป็นของตนเองและการขยายจากธุรกิจขนาดเล็กให้เป็นธุรกิจใหญ่เป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุนี้ สมาคมอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องของจีน จำเป็นต้องเร่งปลูกฝังรากฐานที่แข็งเกร่งในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง โดยให้ความสำคัญตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำ เพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมไปถึงเน้นการสร้างแบรนด์ที่มีความสามารถแข่งขันในตลาดระดับสูงทั้งในและต่างประเทศ

ในความเป็นจริง ผู้บริโภคในประเทศบางรายยังคงมีอคติต่ออาหารกระป๋อง จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่อุตสาหกรรมกระป๋องหลายแห่งนิยมการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ แต่ด้วยปัจจุบัน ความต้องการ “อาหารสำหรับคนเดียว” ประกอบกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบของคนยุคใหม่ ส่งผลให้ผู้บริโภคหนุ่มสาวจำนวนมากเริ่มยอมรับในอาหารกระป๋องเพิ่มมากขึ้น อาหารกระป๋องในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผัก ผลไม้หรือเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่ยังเริ่มมีในรูปแบบอาหารสำเร็จรูปที่เพียงแค่เปิดแล้วอุ่น ก็พร้อมรับประทานเหมือนอาหารที่ทำเสร็จใหม่

การพัฒนาอาหารกระป๋องให้มีความสมบูรณ์แบบเพิ่มมากขึ้น จากอาหารกระป๋องธรรมดาสู่อาหารกระป๋องที่เหมือนอาหารสดใหม่ กลายเป็นทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องในประเทศ แต่ในกระบวนการการพัฒนาจำเป็นต้องสั่งสมความสามารถทางด้านเทคโนโลยี และสร้างแบรนด์ให้แข็งเกร่ง การพัฒนาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์และสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินค้าอาหารกระป๋องของจีนในการแข่งขันไปยังต่างประเทศได้อย่างเสถียรภาพ

         ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน:ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องของจีนได้เข้มงวดกับความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น โดยมีการปรับปรุงมาตรฐานและพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต อีกทั้ง ยังมีการประชาสัมพันธ์กรรมวิธีด้านการผลิตให้ผู้บริโภคได้รับรู้และเข้าใจถึงความปลอดภัย ที่ผู้บริโภคสามารถไว้วางใจในการบริโภค นอกจากนี้ อาหารกระป๋องยังสามารตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว พกพาสะดวก รวมไปถึงช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารกระป๋องขนาดใหญ่ของโลก โดยเน้นการส่งออกไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย เยอรมนี และ ญี่ปุ่น เป็นต้น ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารกระป๋องขนาดใหญ่ แต่สินค้าอาหารกระป๋องบางชนิดของจีนยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าผลไม้กระป๋องที่จีนไม่มีความหลากหลายในการผลิต อาทิ เงาะกระป๋อง ลำไยกระป๋อง และลูกตาลกระป๋อง เป็นต้น

จากสถิติจากศุลกากรจีน ประมวลโดย Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่า ปี 2565 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าผลไม้กระป๋อง (HS Code 200899 : Fruit And Other Edible Parts Of Plants, Nesoi, Prepared Or Preserved, Whether Or Not Containing Added Sweetening Or Spirit, Nesoi) คิดเป็นมูลค่า 165 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 15.39 (YoY) โดยจีนนำเข้าผลไม้กระป๋องจากไทยมูลค่าสูงสุดอยู่ที่ 42 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.45 YoY (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.55 ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน) รองลงมาคือประเทศเกาหลีใต้ มีมูลค่าการนำเข้า 41 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.82 ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน) และฟิลิปปินส์มีมูลค่าการนำเข้า 37 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.76 ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน)  ตามลำดับ จากสถิติการนำเข้าถึงแม้ว่าจีนจะมีปริมาณการนำเข้าผลไม้กระป๋องรวมที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตามมูลค่าการนำเข้าจากไทยยังเพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าสินค้ากระป๋องในบางประเภทยังมีช่องว่างมีโอกาสในตลาด อย่างสินค้าผลไม้กระป๋องนำเข้าจากไทยที่ยังมีโอกาสในตลาดจีน

http://www.ce.cn/cysc/sp/info/202304/04/t20230404_38479267.shtml

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

21 เมษายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login