ชาวโคลอมเบียส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) ที่ผ่านมา โดยชาวโคลอมเบียให้ความนิยมเพิ่มขึ้นต่อการแต่งกายในรูปแบบกีฬาลำลอง (Athleisure) เนื่องจากความสะดวกสบาย คล่องแคล่ว และมีความทันสมัย ซึ่งชาวโคลอมเบียเห็นว่าการแต่งกายแบบกีฬาลำลองสามารถสวมใส่ได้สำหรับทำกิจกรรมในหลากหลายโอกาส ทั้งนี้ จากข้อมูลการศึกษาของ GlobalData[1] ชาวโคลอมเบียมีแนวโน้มผ่อนคลายการแต่งกายสำหรับการทำงานเพิ่มขึ้น เช่น การใส่รองเท้าผ้าใบ หรือรองเท้าที่สวมใส่สบายระหว่างวัน การใช้เป้สะพายหลัง แต่ยังคงการแต่งกายที่เหมาะสมสำหรับการทำงาน อย่างไรก็ดี ชาวโคลอมเบียยังคงให้ความใส่ใจต่อการแต่งกายตามกาลเทศะ โดยเลือกแต่งกายตามความเหมาะสม
อุตสาหกรรมสิ่งทอของโคลอมเบีย ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในลำดับที่ 8 ที่มีการบริโภคสูงที่สุด โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 อุตสาหกรรมสิ่งทอของโคลอมเบียมีการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.8 หรือคิดเป็นมูลค่า 9.9 พันล้านเปโซโคลอมเบีย[2] หรือประมาณ 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ยอดการจำหน่ายสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.9 โดยมีสาเหตุหลักมาจากอัตราเงินเฟ้อ ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเฉลี่ยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยคิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นรวมเป็นจำนวน 2.38 พันล้านเปโซโคลอมเบีย หรือประมาณ 559,338 เหรียญสหรัฐ ตามรายงานของ Inexmoda[3]
จากข้อมูลยอดจำหน่ายเครื่องแต่งกายกีฬา ในเดือนเมษายน 2566 มีมูลค่า 3.3 พันล้านเปโซโคลอมเบีย หรือประมาณ 802,530 เหรียญสหรัฐ โดยเครื่องแต่งกายกีฬาของผู้หญิงมียอดจำหน่ายสูงที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59 รองลงไปคือ เครื่องแต่งกายกีฬาของผู้ชาย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29 และเครื่องแต่งกายกีฬาของเด็ก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ตามลำดับ ทั้งนี้ การขยายตัวของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) มีส่วนสำคัญให้ยอดการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47 ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
เครื่องแต่งกายกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ เสื้อกีฬาแขนยาวสวมทับกันหนาว (sweatshirts) leggings กางแกงวอร์ม เสื้อกีฬาที่มีขนาดใหญ่ ชุดกีฬาสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง เป็นต้น ในส่วนของรองเท้ากีฬาที่ได้รับความนิยม เช่น รองเท้ากีฬาเทนนิส และรองเท้าแตะ โดยกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความนิยมสินค้าเครื่องแต่งกายกีฬาดังกล่าว ได้แก่ นักเรียน / นักศึกษา ในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ชาวโคลอมเบียให้ความสำคัญต่อการรักษาสุขภาพและการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการเครื่องแต่งกายกีฬาเพิ่มขึ้นด้วย โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เครื่องแต่งกายกีฬาในโคลอมเบียได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ได้แก่
- รูปแบบการใช้ชีวิตแบบกระฉับกระเฉง (Active Lifestyle): ชาวโคลอมเบียส่วนใหญ่มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่กระฉับกระเฉง นิยมเล่นกีฬา ชอบการแต่งกายที่สบาย สามารถใช้สวมใส่ในการประกอบกิจกรรมระหว่างวันและการเล่นกีฬา นอกจากนี้ ชาวโคลอมเบียให้ความนิยมเพิ่มขึ้นต่อการสัญจรและออกกำลังกายด้วยการขี่จักรยาน ทำให้เครื่องแต่งกายกีฬาสำหรับการขี่จักรยานได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย
- การเปลี่ยนแปลงด้านมุมมอง/ทัศนคติต่อแฟชั่นการแต่งกาย: ชาวโคลอมเบียมีการปรับเปลี่ยนมุมมอง/ทัศนคติด้านแฟชั่นการแต่งกาย โดยปัจจุบัน ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นต่อการแต่งกายที่ให้ความสบาย คล่องตัว แต่ยังคงความเป็นทางการอยู่
- อิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์: สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทสำคัญต่อผู้บริโภคชาวโคลอมเบีย โดยผู้มีชื่อเสียงมีการเผยแพร่ภาพลักษณ์การสวมใส่เครื่องแต่งกายกีฬาที่ดูหรูหราและสวยงาม ส่งผลให้ผู้ชม / ผู้ติดตามสนใจเครื่องแต่งกายกีฬาเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ แบรนด์ชุดกีฬาทั้งในและต่างประเทศให้ความสมใจลงทุนในตลาดเครื่องแต่งกายกีฬา ตั้งแต่ระดับราคาแพงจนถึงระดับราคาที่ผู้บริโภคทุกระดับสามารถเป็นเจ้าของได้ โดยแบรนด์ที่ได้รับความนิยมเป็นลำดับต้นในโคลอมเบีย[1] ได้แก่
- Nike (nikebogota.com.co)
- Adidas (adidas.co)
- Lululemon (lululemonoutletcolombia.net): เน้นเครื่องแต่งกายกีฬาโยคะที่มีคุณภาพสูงและการออกแบบทันสมัย
- Under Armour (underarmour.com.co): เน้นเครื่องแต่งกายกีฬาที่มีการใช้นวัตกรรมการทอผ้าเพื่อการสวมใส่ที่สบาย
- Puma (puma.com.co)
- Fabletics (fableticscolombia.com): เน้นเครื่องแต่งกายกีฬาของสตรีที่มีการออกแบบทันสมัย และมีราคาไม่แพง
- Gymshark (gymsharkcolombia-co.com): เน้นเครื่องแต่งกายกีฬาสำหรับ fitness รวมทั้งอุปกรณ์ออกกำลังกาย
- Reebok (reebok.co)
จากความนิยมเครื่องแต่งกายกีฬาของผู้บริโภค ทำให้โคลอมเบียเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับแบรนด์กีฬาชั้นนำต่าง ๆ รวมทั้งแบรนด์เครื่องแต่งกายกิจกรรมกลางแจ้งจากสหรัฐอเมริกา อาทิ North Face ที่มียอดการจำหน่ายเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ในโคลอมเบีย ปัจจัยสนับสนุนหลักที่ทำให้ยอดการจำหน่ายของ North Face เพิ่มขึ้นดังกล่าว มาจากผู้บริโภคชาวโคลอมเบียให้ความสนในเพิ่มขึ้นต่อการพักผ่อนและการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การเดินป่า การปีนเขา การตั้งแคมป์ เป็นต้น โดย North Face มีสาขาจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการในโคลอมเบีย 8 แห่ง ในกรุงโบโกต้า เมือง Medellín เมือง Manizales เมือง Chía และมีแผนจะเพิ่มจำนวนสาขาเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง[1]
นอกจากแบรนด์ North Face ของสหรัฐอเมริกาแล้ว แบรนด์ระดับโลกของอิตาลี อาทิ Kappa ที่มีชื่อเสียงด้านเครื่องแต่งกายกีฬาก็ให้ความสนใจตลาดในประเทศโคลอมเบีย โดย Kappa เปิดสาขาแรกในโคลอมเบีย เมื่อเดือนตุลาคม 2565 และตั้งเป้าหมายเพิ่มยอดการจำหน่ายสินค้าที่ร้อยละ 50 ในปีนี้ และเห็นว่าโคลอมเบียสามารถเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าของบริษัทฯ ไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา[2]
บทวิเคราะห์และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ตลาดสินค้าเครื่องแต่งกายกีฬามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ให้ความใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งการออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตประจำวัน จนถึงการแต่งกายที่เน้นการสวมใส่สบายและสวมใส่ได้ในหลายโอกาส ดังนั้น เสื้อผ้า/เครื่องแต่งกายกีฬา และอุปกรณ์กีฬาจึงได้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก และคาดการณ์ว่าในครึ่งหลังของปี 2566 ตลาดเครื่องแต่งกายกีฬาของโคลอมเบียจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 15 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค[3]
ปัจจุบันแบรนด์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายระดับสูง ก็ให้ความสนใจต่อผลิตสินค้าเครื่องแต่งกายกีฬา เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มีรายได้สูง โดยมีการออกแบบที่หรูหราและใช้นวัตกรรมในการผลิต
การผลิตสินค้าเครื่องแต่งกายกีฬาในปัจจุบันมีการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ในการผลิตสินค้า อาทิ (1) นวัตกรรมเส้นด้ายสังเคราะห์ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยวิธีธรรมชาติ[4] โดยปกติเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม หรือวัสดุที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ เมื่อถูกทิ้งกลายเป็นขยะจะต้องใช้เวลาในการย่อยสลายนานหลาย 10 ปี ซึ่งเส้นใยสังเคราะห์ที่มีนวัตกรรมนี้สามารถย่อยสลายได้ ภายใน 3 ปี โดยกระบวนการย่อยสลายจะเริ่ม เมื่อเสื้อผ้าถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ ทำให้จุลินทรีย์ที่อยู่ในดินทำหน้าที่กระตุ้นเส้นด้ายให้เกิดการย่อยสลายทางชีวภาพ (2) นวัตกรรมรังสีอินฟาเรดในสิ่งทอ เป็นนวัตกรรมที่เพิ่มคุณสมบัติของสิ่งทอและเครื่องแต่งกายด้วยเทคโนโลยีอินฟาเรด โดยจะทำปฏิกิริยากับความร้อนของร่างกาย และปล่อยรังสีอินฟาเรด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นกีฬา หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ช่วยกระตุ้น การไหลเวียนของเลือด ลดอาการเหนื่อย และฟื้นฟูกล้ามเนื้อหลังเล่นกีฬา (3) นวัตกรรมผ้าต้านแบคทีเรีย เป็นนวัตกรรมที่ใช้สารต้านแบคทีเรียมาผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย โดยเป็นสารที่มีอนุภาคขนาดนาโน โดยบางชนิดเป็นสารที่ได้มาจากธรรมชาติ เช่น จากเปลือกกุ้ง หอย และแกนหมึก ซึ่งสารเหล่านี้บางชนิดมีความสามารถในการป้องกัน รังสีอัลตราไวโอเลต และบางชนิดมีความสามารถในการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง ทำให้สามารถย่อยสลายอนุภาคสารอินทรีย์ที่มาเกาะติดที่เสื้อผ้าหรือพื้นผิววัสดุต่าง ๆ รวมถึงสามารถกำจัดกลิ่น อีกทั้งยังสามารถฆ่าแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและผิวหนังได้ เป็นต้น
จากแนวโน้มการขยายตัวของสินค้าเครื่องแต่งกายกีฬาในโคลอมเบียดังกล่าว ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในแง่ของการจัดหาวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเครื่องแต่งกายกีฬาให้แก่แบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ และการผลิตสินค้าเครื่องแต่งกายกีฬาที่มีการใช้นวัตกรรม สำหรับการผลิตสิ่งทอ/เครื่องแต่งกาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ทั้งนี้ การกำหนดราคาจะต้องสามารถแข่งขันได้ในระดับสินค้าที่มีมาตรฐานและคุณภาพในระดับเดียวกัน เนื่องจากผู้บริโภคชาวโคลอมเบียยังคงให้ความสำคัญด้านราคาของสินค้า
_____________________________
ที่มา :
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)
กันยายน 2566
[1] The leading source f information for fashion professionals worldwide – https://ww.fashionnetwork.com/news/the-north-face-grows-40-in-sales-in-colombia,575228.html
[2] Local online newspaper – https://www.larepublica.co/empresas/esperamos-aumentar-ventas-50-con-la-nueva-tienda-de-kappa-y-crear-150-empleos-3479019
[3] Online economic news from Colombia and the world – https://www.portafolio.co/innovacion/ropa-comoda-impulsa-el-crecimiento-de-la-industria-textil-en-colombia-586798
[4] ธนาคารออมสิน “อุตสาหกรรมผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย” https://www.gsbresearch.or.th/wp-content/uploads/2020/09/IN_textile_8_63_detail-1.pdf
[1] Online economic news from Colombia and the world – https://www.portafolio.co/innovacion/ropa-comoda-impulsa-el-crecimiento-de-la-industria-textil-en-colombia-586798
[1] A provider of unique data, expert analysis & innovative solutions to companies in the world’s largest industries
[2] 1 USD= $4,112 Colombia pesos
[3] The institute in Colombia that generates research, marketing, innovation, training, internationalization, and competitiveness tools for the textile – clothing – distribution channels and other sectors sensitive to design and fashion