หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > แนวโน้มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของประเทศเยอรมนี ปี 2566

แนวโน้มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของประเทศเยอรมนี ปี 2566

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของประเทศเยอรมนี มีบริษัทผู้ผลิตประมาณ 432 แห่ง จำนวนพนักงานทั่วประเทศราว 76,000 คน โดยจำนวนพนักงานเฉลี่ยต่อบริษัทอยู่ที่ 176 คน ทั้งนี้ ล่าสุดสมาคมอุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ของประเทศเยอรมนี ได้รายงานตัวเลขมูลค่าการค้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 (มกราคม – มีนาคม) อยู่ที่ 4.8 พันล้านยูโร ซึ่งเฉพาะเดือนเมษายนที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าการค้าได้ถึง 1.5 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.44 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจ ifo Institut ได้คาดการณ์ว่าสถานการณ์การค้าของกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มีแนวโน้มหดตัวลงในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

สำหรับไตรมาสแรกสัดส่วนการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 33.20 โดยภาพรวมการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของประเทศเยอรมนีในไตรมาสที่ 1 ถือว่าหดตัวลงร้อยละ 5.73  จากปีก่อนหน้า ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ฝรั่งเศส (352.23 ล้านยูโร, -6.70%) สวิตเซอร์แลนด์ (343.60 ล้านยูโร, +10.20%) ออสเตรีย (264.28 ล้านยูโร, -4.10%) เนเธอร์แลนด์ (230.42 ล้านยูโร, -12.00%) และสหราชอาณาจักร (125.00 ล้านยูโร, -9.80%) โดยตลาดส่งออกที่สำคัญนอกเหนือจากประเทศในภูมิภาคยุโรปแล้ว คือ สหรัฐอเมริกา (56.23 ล้านยูโร, -11.70%)

ภาพรวมการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของประเทศเยอรมนีในไตรมาสที่ 1 หดตัวลงเช่นกันถึงร้อยละ 20.8 ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ โปแลนด์ (781.10 ล้านยูโร, -2.7%) จีน (567.35 ล้านยูโร, -43.20%) อิตาลี (106.50 ล้านยูโร, -14.6%) ตุรกี (93.44 ล้านยูโร, +8.3%) ลิทัวเนีย (70.36 ล้านยูโร, +21.80%) และเวียดนาม (68.55 ล้านยูโร, -35.60%) จากตัวเลขข้างต้นพบว่าประเทศเยอรมนีนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์กว่าร้อยละ 55 จากประเทศโปแลนด์และจีน

นอกจากนี้ ในช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2566 ประเทศเยอรมนีได้มีการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติที่สำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ถึงสองงาน ได้แก่ งานแสดงสินค้า Interzum 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 12 พฤษภาคม 2566 และงานแสดงสินค้า imm cologne 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 7 มิถุนายน 2566 ณ เมืองโคโลญจน์ โดยภายในงานฯ ได้มีการนำเสนอแนวโน้มการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ ดังนี้ 

1) แนวโน้มสังคมความเป็นปัจเจกบุคคลกำลังขยายตัว อีกทั้งในบางพื้นที่จำนวนที่พักอาศัยไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ของตลาด ส่งผลให้แนวทางการออกแบบภายในกำลังเปลี่ยนไป เมื่อผู้บริโภคจึงต้องการเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามขนาดที่อยู่อาศัยและมีความยืนหยุ่นต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น Multifunctional furniture เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สร้างขึ้นเพื่อมุ่งเน้นประโยชน์ในการใช้งานที่หลากหลายเพื่อประหยัดพื้นที่ภายในห้อง เช่น โซฟาที่สามารถปรับเป็นเตียงนอน รวมไปถึง Modular furniture เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นชุดแต่สามารถปรับเปลี่ยนการจัดวางได้ตามความพอใจหรือความเหมาะสมของพื้นที่ นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ยังช่วยส่งเสริมให้นักออกแบบสามารถสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบและรูปทรงใหม่ ๆ ได้อย่างไร้ขอบเขตจำกัดมากขึ้น

2) การผลิตเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุนำกลับมาใช้ใหม่กำลังได้รับความนิยม ด้วยภาวะขาดแคลนวัตถุดิบบ่อยครั้ง จึงเกิดกระแสการนำวัสดุมารีไซเคิลเป็นผลงานใหม่เพื่อยืดอายุและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน ทั้งนี้ วัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุชีวภาพถือเป็นทางเลือกที่สำคัญ ทดแทนการใช้พลาสติกในการผลิตเฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ เช่น การผลิตอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์โดยใช้ขยะพลาสติกจากมหาสมุทร การรีไซเคิลอวนจับปลาหรือการใช้เส้นใยไม้มาฉีดขึ้นรูปเป็นล้อเลื่อนของเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

3) วัสดุไม้กำลังได้รับความนิยมสำหรับการออกแบบตกแต่งภายใน ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นธรรมชาติ รูปทรง พื้นผิว และสีของไม้สามารถเป็นตัวกำหนดคอลเลกชั่นเฟอร์นิเจอร์ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ วัสดุไม้จากธรรมชาติหรือไม้เหลือใช้ยังมีบทบาทสำคัญในงานออกแบบน้ำหนักเบาและใช้เป็นโครงเฟอร์นิเจอร์ ในปัจจุบัน ผู้ผลิตนิยมใช้แผ่นไม้อัดจากเศษไม้เหลือใช้ผสมกาวที่ปราศจากสารฟอร์มาลดีไฮด์ เพื่อให้มั่นใจว่าอากาศภายในห้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งแผ่นไม้อัดน้ำหนักเบานี้ได้ถูกนำมาออกแบบและพัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์สำหรับตกแต่งภายในบ้านอย่างหลากหลาย

4) การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสุขภาพของผู้ใช้งานนับเป็นเทรนด์อย่างหนึ่ง ตั้งแต่วิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าที่ผ่านมา ผู้ผลิตได้คิดค้นวัสดุพื้นผิวเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย เช่น วัสดุที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงนวัตกรรมวัสดุบุใยสังเคราะห์สำหรับเฟอร์นิเจอร์บุนวมมีความทนทานต่อสิ่งสกปรก สามารถทำความสะอาดได้โดยไม่ทิ้งสารตกค้างและทนทานต่อการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ ยังมีการคิดค้นเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ต้องใช้มือสัมผัส ด้วยกลไกการเปิด-ปิดบานประตูที่สะดวกสบายเพียงปุ่มเดียว หรือการใช้ระบบเซ็นเซอร์ไฟฟ้า รวมไปถึงการใช้แสงยูวีในการช่วยฆ่าเชื้อบนพื้นผิวของเฟอร์นิเจอร์

ที่มา:

https://www.imm-cologne.com/

https://www.interzum.com/

Verbänden der Holz- und Möbelindustrie Nordrhein-Westfalen e. V.

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login