แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคอิตาลีต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
- ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตพลังงานที่แท้จริงเป็นครั้งแรก ที่เกิดจากความต้องการที่เร่งรีบในการพลิกฟื้นสถานการณ์ให้กลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนการแพร่ระบาดโรคระบาดโควิด-19 แต่กลับต้องพบกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการใช้แหล่งพลังงานทดแทน รวมถึงยุทธศาสตร์ด้านพลังงานในระดับโลกที่ยังคงเชื่อมโยงกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิมเป็นสำคัญ ราคาต้นทุนพลังงานจึงมีความสำคัญต่อการผลิต การส่งออกและแข่งขันในตลาดต่างประเทศ
- อิตาลียังคงเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพิงพลังงานนอกประเทศ และประสบกับปัญหาการหาแหล่งและจัดซื้อวัตถุดิบพลังงาน ทำให้เกิดวิกฤตการจัดหาและจัดสรรพลังงานที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างคาดไม่ถึงในปีที่ผ่านมา และมีสาเหตุด้านหนึ่งมาจากการหาผลประโยชน์เกินพิกัดของบรรดาบริษัทผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้ถือหุ้นพลังงาน ที่กระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับชีวิตประจำวันของพลเมือง โดยเฉพาะในยุโรปและอิตาลีก็เดือดร้อนมากเช่นกัน ทั้งภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่างร้องขอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือสถาบันพลังงานแห่งชาติ (ENEA) และสหภาพยุโรปหาหนทางบรรเทาการขึ้นราคาพลังงาน ด้วยมาตรการแทรกแซงที่เหมาะสมในการควบคุมราคาพลังงาน และการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านพลังงานที่ชัดเจน ที่สามารถรับประกันความมั่นคงด้านราคาและการจัดหาพลังงานอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง รวมถึงการค้นคว้าวิจัยและสร้างแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ทั่วถึงมากขึ้น และหาวิธีลดมลพิษจากคาร์บอนไดออกไซด์ไปพร้อมกัน
- ในส่วนของพฤติกรรมพลเมือง มีการรณรงค์ให้ใส่ใจในการเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านวิชาการให้รู้จักกับการใช้พลังงานอย่างถูกวิธีและการประหยัด และจากการประสบกับการขึ้นราคาพลังงานที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 ผู้บริโภคก็เริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาแหล่งพลังงานในที่อยู่อาศัย และตื่นตัวในการเข้าถึงนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการนำพลังงานมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าใช้จ่ายที่สุด และสนใจการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนเป็นทางเลือกมากขึ้น เช่น การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยตรงจากแสงแดด เป็นต้น แม้ว่าจะมีการขยายตัวแต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้สำหรับคนส่วนมาก เพราะที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นแบบหลายอพาร์ทเม้นในอาคารเดียว จำเป็นต้องได้รับโหวตเห็นชอบและยินยอมจากทุกครัวเรือน
- การพัฒนาความยั่งยืนจะไม่ก้าวหน้าหากปราศจากนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และนวัตกรรมก็ไม่มีความหมายเว้นแต่จะมุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืน ความยั่งยืนจึงไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเท่านั้น และนวัตกรรมไม่ได้จำกัดเฉพาะเทคโนโลยีเท่านั้น แรงบันดาลใจและนวัตกรรมสามารถมาจากทุกหนแห่ง การทำงานร่วมกันด้วยการเชื่อมต่อที่ทันสมัยสามารถเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นพลเมือง นักศึกษา สตาร์ทอัพด้านพลังงาน และพันธมิตรอุตสาหกรรมข้ามชาติระดับโลก การคิดทบทวนวิธีการสร้างนวัตกรรมใหม่เท่านั้นที่จะทำให้สามารถพลิกโฉมอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง และการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่มีส่วนร่วมของมวลชน จะเกิดพลังกระตุ้นความตระหนักของตลาดเก่าและสร้างตลาดพลังงานใหม่ที่สะอาดกว่าเดิม
- ความต้องการพลังงานใช้ไฟฟ้ารวมของประเทศอิตาลี ในปี 2565 อยู่ที่ 316,827 TWh (เทระวัตต์-ชั่วโมง) ลดลงเล็กน้อย (-0.94%) เมื่อเทียบกับปี 2564 แบ่งเป็นพลังงานที่จัดสรรได้มาจากแหล่งพลังงานที่ไม่หมุนเวียน (55.3%) และแหล่งพลังงานหมุนเวียน (31.1%) ส่วนที่เหลือ (13.6%) จัดสรรผ่านการนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ (36%) และฝรั่งเศส (37%) เป็นต้น
- ในปี 2565 การผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน อิตาลีผลิตได้ 98.4 TWh (เทระวัตต์-ชั่วโมง) ลดลง (-13%) เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีสัดส่วนการผลิตของแหล่งพลังงานหลักได้แก่ ไฟฟ้าพลังน้ำ (28%) รองลงมาพลังงานโซลาร์เซลล์จากแสงอาทิตย์ (28%) พลังงานจากลม (21%) จากมวลชีวภาพ (17%) และสุดท้ายจากความร้อนใต้พิภพ (6%)
ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
1. ประเทศอิตาลียังคงต้องเผชิญวิกฤตพลังงานและเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงขึ้น และสร้างความวิตกกังวลแก่พลเมืองอิตาลี เพราะกำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและทางเลือกในการอุปโภคบริโภค จึงมีแนวโน้มในการใช้เกณฑ์ความประหยัด การปรับไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมของตนเอง ในมุมมองที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากขึ้น ความสามารถในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและระบบดิจิทัล จะเป็นข้อได้เปรียบในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งการติดตามความเคลื่อนไหวและข่าวสารด้านพลังงานของอิตาลี จะสามารถช่วยผู้ประกอบการไทยประเมินแนวโน้มและสถานการณ์เศรษฐกิจอิตาลี และวางแผนการตลาดและการส่งออกที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเหมาะสมขึ้น
2. แนวคิดการใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด (smart-living) เป็นการพัฒนาสินค้าและบริการให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงวิถีการเลือกใช้สินค้า ซึ่งตระหนักถึงความยั่งยืนเป็นสำคัญ ผู้ประกอบการไทยสามารถตรวจสอบความต้องการเหล่านี้ เพื่อผลิตสินค้าให้มีประสิทธิภาพตามข้อกำหนดของตลาดอิตาลี เช่น เครื่องปรับอากาศ หลอดไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน อุปกรณ์และฉนวนกันความร้อนเพื่อลดการสูญเสียพลังงาน อุปกรณ์ มิเตอร์และเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า เป็นต้น โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ที่เป็นสินค้าส่งออกของไทยมายังอิตาลีเป็นอันดับ 1 โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) มีมูลค่าส่งออก 174.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึง 45.91% และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องด้วยสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทุกๆปี ทำให้มีความต้องการติดตั้งเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เรื่องการประหยัดพลังงานมากขึ้น รวมถึงแผงโซลาเซลล์มีการติดตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยเช่นกัน และจะเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่อิตาลีใช้ผลิตไฟฟ้ามากที่สุดในอนาคต ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบและข้อกำหนดของสินค้า ที่มีแนวโน้มที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เพื่อให้สามารถทำตลาดในอิตาลีได้ เช่น วัตถุดิบที่ใช้ผลิตไปจนถึงวิธีการทิ้งเป็นขยะ เป็นต้น ต้องตระหนักถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน ที่สอดคล้องกับกฎระเบียบสหภาพยุโรปหรือกฎหมายอิตาลี ซึ่งสามารถใช้เพิ่มมูลค่าและความน่าเชื่อถือของสินค้าเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)