ในช่วงที่ผ่านมา อียิปต์ได้พิจารณาปรับปรุงนโยบายในด้านต่าง ๆ เพื่อกำหนดทิศทาง
ในการขับเคลื่อนอียิปต์ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเพื่อฟื้นฟูรัฐอียิปต์ (Renaissance of the Egyptian State) ภายใต้การนำของนายอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี ประธานาธิบดีอียิปต์คนปัจจุบัน ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2566 โดยจะเป็นการดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง
เป็นสมัยที่ 3 นาน 6 ปี ระหว่างปี 2567-2573 ทั้งนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้
- นโยบายด้านเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูรัฐอียิปต์ (Renaissance of the Egyptian State) ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก โดยให้ความสำคัญกับการผลิตภายในประเทศและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของทุกคน รวม 8 ข้อ ได้แก่ (1) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ให้เติบโตร้อยละ 6-8 (2) สร้างเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ การเงิน ราคาสินค้า และหนี้สาธารณะ โดยจะเพิ่มการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศให้ได้ 3 เท่า ภายใน ค.ศ. 2030 (3) จัดทำโปรแกรมเพื่อส่งเสริมสาขายุทธศาสตร์ (ยังไม่มีรายละเอียด) (4) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศและเศรษฐกิจสีเขียว (5) พัฒนาการศึกษาและสาธารณสุข (6) ส่งเสริมบทบาทนำของอียิปต์ในเศรษฐกิจโลกโดยการเป็นศูนย์กลางเส้นทางการค้าระหว่างประเทศผ่านคลองสุเอซ
(7) ส่งเสริมเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกมิติ และ (8) ส่งเสริมบทบาทของชาวอียิปต์
ในต่างประเทศ ทั้งนี้ อียิปต์จะต้องนำนโยบายทั้ง 8 ข้อ ดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป - นโยบายด้านการเงิน เพื่อต่อต้านการฟอกเงินและการก่อการร้าย โดยเพิ่มการตรวจส
อบ รายงาน และควบคุมพฤติกรรมการเงินที่ต้องสังสัย รวม 8 ด้าน ได้แก่ (1) การโอนเงินนอกประเทศ (2) การเงินสำหรับค้าระหว่างประเทศ (3) เงินกู้ (4) การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (5) รูปแบบการทำธุรกรรมในบัญชี (6) การใช้ตู้เซฟของธนาคาร (7) พฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องสงสัย และ (8) การต่อต้านการให้เงินสนับสนุนการก่อการร้าย โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ธนาคารกลางอียิปต์ได้กำหนดตัวชี้วัดความเสี่ยงในหลายกรณี เช่น การแจ้งมูลค่าสินค้าและรายละเอียดสินค้า
ไม่สมเหตุผล การแจ้งราคาสินค้าสูงหรือต่ำกว่ามูลค่าสินค้ามากเกินไป การซื้อขายที่เพิ่มขึ้นโดยไม่สมเหตุผลกับฤดูกาล การขอเปลี่ยนแปลงเทอมการค้าอย่างไม่สมเหตุผล เป็นต้น ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับภายใน 6 เดือน หลังจากนี้ - นโยบายด้านภาษี เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ และการส่งออก เช่น (1) การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์และปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้อียิปต์มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ9 โดยไม่เป็นภาระกับนักลงทุน (2) การยกเว้นภาษีที่ดินสำหรับโครงการอุตสาหกรรมและสัตว์ปีกจนถึงปี 2569 (3) การยกเว้นภาษีสำหรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์นาน 5 ปี (4) การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีร้อยละ 33-55 สำหรับการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนสีเขียว (5) การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้าเครื่องจักรหรือเครื่องมือสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ และ (6) การลดระยะเวลาตรวจปล่อยสินค้ายุทธศาสตร์ที่ท่าเรือ เช่น ยา สินค้าปิโตรเลียม เชื้อเพลิง
ข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะ
- แนวโน้มนโยบายของอียิปต์ในยุคประธานาธิบดีอัล-ซีซี สมัยที่ 3 สะท้อนความพยายาม
ในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอียิปต์มาตั้งแต่ปี 2565 กอปรกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ภาระหนี้สาธารณะสูง (ร้อยละ 89 ของจีดีพี) ภาวะขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และค่าเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยหันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ (ลดการนำเข้า) และการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ - อียิปต์ได้กู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นระยะๆ[1] โดยล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม 2565 อียิปต์ได้รับอนุมัติเงินกู้รอบใหม่จาก IMF อีก 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นาน 46 เดือน เพื่อใช้จัดการกับปัญหาเศรษฐกิจและสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือการใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น (ลอยตัวเงินปอนด์อียิปต์) และการขายธุรกิจที่เป็นของรัฐ (privatization) ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2566 อียิปต์ได้หารือกับ IMF เพื่อขอกู้เงินเพิ่มเติม แม้ว่าอียิปต์จะล้มเหลวในการดำเนินการดังกล่าวก็ตาม โดยหาก IMF อนุมัติเงินกู้ให้อียิปต์อีกครั้ง จะทำให้ภาระหนี้สาธารณะของอียิปต์สูงเกินร้อยละ 90 ของจีดีพี
- อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนมกราคม 2567 IMF และ Ministry of Planning and Economic Development ของอียิปต์ ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอียิปต์ในปีงบประมาณ ค.ศ. 2023/2024 จะเติบโตที่ร้อยละ5 ซึ่ง สคต. ณ กรุงไคโร เห็นว่าเป็นความท้าท้ายอย่างยิ่งสำหรับอียิปต์ โดยนอกจากอียิปต์จะต้องจัดการกับปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ติดพันมาตั้งแต่ปี 2565 แล้ว ยังต้องรับมือกับปัญหาหนี้สาธารณะที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้หาก IMF พิจารณาอนุมัติเงินกู้เพิ่มเติม รวมถึงผลกระทบจากภาวะสงครามในอิสราเอล ที่มีต่อการท่องเที่ยวและการเดินเรือผ่านคลองสุเอซ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ 2 อันดับแรกของอียิปต์
- ผู้ประกอบการไทยมีความจำเป็นต้องติดตามแนวโน้มนโยบายของอียิปต์ในยุคประธานาธิบดีอัล-ซีซี สมัยที่ 3 อย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อปรับตัวและใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว เช่น การพิจารณาโอกาสในการส่งออกวัตถุดิบ เครื่องจักร และเทคโนโลยี ที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิตอียิปต์ การดำเนินการด้านการค้าระหว่างประเทศโดยคำนึงถึงนโยบายด้านการเงินอียิปต์ รวมถึงการพิจารณาเทอมการค้าที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับความล่าช้าในการพิจารณาชำระค่าสินค้านำเข้าของธนาคารกลางอียิปต์ ซึ่งบางกรณีใช้เวลานานมากกว่า 1 ปี
____________________________________
ที่มา
รูปภาพ
[1] ระหว่างปี 2559-2565 รวมทั้งสิ้น 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อ่านข่าวฉบับเต็ม : แนวโน้มนโยบายของอียิปต์ในยุคประธานาธิบดีอัล-ซีซี สมัยที่ 3