หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > แนวโน้มตลาดเบียร์ในประเทศชิลี

แนวโน้มตลาดเบียร์ในประเทศชิลี

แม้ว่าชิลีจะเป็นประเทศผู้ส่งออกไวน์รายสำคัญของโลก แต่ผู้บริโภคชาวชิลีส่วนใหญ่กลับนิยมดื่มเบียร์มากกว่าไวน์ เนื่องจากราคาย่อมเยากว่า โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและในยุคที่เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น[1]

จากข้อมูลของ Euromonitor ระบุว่าตลาดเบียร์ของประเทศชิลีในภาพรวมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นในปี ค.ศ. 2022 ที่มีการหดตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาเบียร์มีราคาเพิ่มขึ้น ประกอบกับการขาดสภาพคล่องทางการเงินของผู้บริโภคเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งนี้ ขนาดของตลาดเบียร์ในชิลีโดยเฉลี่ยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา (ระหว่างปี ค.ศ. 2008-2022) อยู่ที่ 866.7 ล้านลิตร และขนาดตลาดฯ ล่าสุดในปี ค.ศ. 2022 อยู่ที่ 1.156 พันล้านลิตร

พฤติกรรมการบริโภคเบียร์ของชาวชิลีในปี ค.ศ. 2022 พิจารณาจากขนาดตลาดฯ โดยชาวชิลีนิยมดื่มเบียร์ชนิดลาเกอร์ (Larger) มากที่สุด โดยขนาดตลาดมีปริมาณ 1,097 ล้านลิตร รองลงมาคือ ดาร์คเบียร์ (Dark Beer) ปริมาณ 28 ล้านลิตร  เบียร์แอลกอฮอล์ 0% หรือแอลกอฮอล์ต่ำ (non/low alcohol) ปริมาณ 16.1 ล้านลิตร และเบียร์ดำ (Stout) ปริมาณ 14.4 ล้านลิตร ตามลำดับ

จากรายงานของสมาคมผู้ผลิตเบียร์ในประเทศชิลี (Associacion de Productores de Ceveza de Chile : Acechi) ระบุว่าการบริโภคเบียร์ต่อคนต่อปี (Per Capita) ของประเทศชิลี อยู่ที่ปริมาณ 59 ลิตรในปี ค.ศ. 2022ฃ

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากอัตราการขยายตัว กลับพบว่าชาวชิลีหันมาดื่มเบียร์แอลกอฮอล์ 0% หรือแอลกอฮอล์ต่ำ (non/low alcohol) เพิ่มขึ้น โดยตลาดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 37.8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในส่วนของยี่ห้อเบียร์และบริษัทที่ครองสัดส่วนทางการตลาดนั้น Euromonitor ระบุว่าในปี ค.ศ. 2022 เบียร์ยี่ห้อ Escudo ของบริษัท Cia Cervecerias Unidas SA ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุด

สำหรับทิศทางตลาดเบียร์ในอนาคตของชิลี Euromonitor คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปีนี้ (ค.ศ. 2023) จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียงเล็กน้อยที่ 0.1% และในปีหน้า (ค.ศ. 2024) เป็นต้นไปจนถึงปี ค.ศ. 2027 จะมีการขยายตัวที่ 4.5%  5.3%  5.8%  และ 6.1% ตามลำดับ

บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต.

แม้ว่าชิลีจะผลิตเบียร์เองภายในประเทศก็ตาม แต่ชิลีมีการนำเข้าเบียร์จากต่างประเทศเช่นกัน โดยจากการสืบค้นข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงซันติอาโก พบว่าในปี 2565 ชิลีมีการนำเข้าเบียร์ที่มูลค่า 206 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศที่ชิลีนำเข้ามากที่สุดใน 5 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา (88.65 ล้านเหรียญสหรัฐ) รองลงมาคือ เม็กซิโก (43.20 ล้านเหรียญสหรัฐ) เบลเยี่ยม (31.49 ล้านเหรียญสหรัฐ) เปรู (12.55 ล้านเหรียญสหรัฐ) และเยอรมนี (8.98 ล้านเหรียญสหรัฐ)[1]

สคต. ซันติอาโกเห็นว่าแนวโน้มการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำและแคลอรี่ต่ำมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการดื่มเพื่อการสังสรรค์พร้อม ๆ กับการรักษาสุขภาพ จึงมองหาเครื่องดื่มดังกล่าว พร้อมรสชาติที่ดื่มง่ายเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ทั้งนี้ ตลาดชิลียังไม่มีเบียร์จากไทยเข้ามาจำหน่าย จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ผลิตเบียร์ของไทยในการขยายตลาดมายังชิลี โดยเครื่องดื่มเบียร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทหนึ่งที่ดื่มง่าย และมีราคาถูก ทำให้ชาวชิลีนิยมดื่มเบียร์ในโอกาสต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาถึงการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาดเบียร์ และควรมีการกำหนดราคาที่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากเบียร์ที่จำหน่ายในตลาดชิลีมีความหลากหลายทั้งเบียร์ที่ผลิตในประเทศและเบียร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และจากการที่ผู้บริโภคชาวชิลีให้การใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยอาจนำเสนอจุดเด่นด้านการดื่มเบียร์ที่ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพ อาทิ เบียร์ที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ แคลอรี่ต่ำ  ในขณะที่เบียร์ยังคงรสชาติที่นุ่ม ดื่มง่าย เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภคที่ต้องการรักษาสุขภาพ

ที่ผ่านมา สคต. ซันติอาโก ได้เดินทางเยี่ยมร้านอาหารไทยในชิลีอย่างต่อเนื่อง และได้รับทราบว่ามีชาวชิลีจำนวนมากต้องการลิ้มลองรสชาติเบียร์จากประเทศไทย สคต. ซันติอาโก จึงได้ประสานงานไปยังผู้ส่งออกเบียร์รายสำคัญของไทย (เบียร์สิงห์) ให้มีการเจรจาการค้ากับผู้นำเข้ารายสำคัญของชิลี คือ ห้างสรรพสินค้าจุมโบ้ หรือนิติบุคคลในนามบริษัท Cencosud Retail S.A. ซึ่งเป็นบริษัทที่ครองส่วนแบ่งตลาดเบียร์ในชิลีมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5  โดย สคต. ณ กรุงซันติอาโก ได้ติดตามผลการเจรจาการค้าอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดพบว่าผู้นำเข้าชิลีฯ ได้มีการสั่งซื้อสินค้าจากผู้ส่งออกเบียร์ของไทยฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้วที่จำนวน 4 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยคาดว่าสินค้าน่าจะสามารถวางขายได้ภายในเดือนตุลาคม 2566 นี้ ทั้งนี้ สคต.ฯ จะดำเนินการสำรวจตลาดของสินค้าไทยชนิดอื่นเช่นกัน เพื่อเร่งผลักดันการส่งออกของไทย

—————————————–

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

สิงหาคม 2566

[1] ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

[1] ข้อมูลจาก Euromonitor และสมาคมผู้ผลิตเบียร์ในประเทศชิลี (Associacion de Productores de Ceveza de Chile : Acechi)  file:///C:/Users/HP/Downloads/2022_Consumo-per-capita-cerveza.pdf

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login