หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > แนวโน้มตลาดอาหาร Vegan ในลาตินอเมริกา

แนวโน้มตลาดอาหาร Vegan ในลาตินอเมริกา

อาหาร Vegan หรืออาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ 100% ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผู้บริโภคชาวลาตินอเมริกา โดยเฉพาะ บราซิล อาร์เจนตินา โคลอมเบีย และชิลี ในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา จำนวนผลิตภัณฑ์อาหาร Vegan ในตลาดชิลีเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 8 และผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวมีสัดส่วนร้อยละ 12 ของตลาดอาหารทั้งหมดที่จัดจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งชิลีถือเป็นประเทศที่มีการจำหน่ายอาหาร Vegan ผ่านช่องทางของห้างสรรพสินค้า/ห้างค้าปลีกมากที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา

จำนวนห้างสรรพสินค้า/ห้างค้าปลีกของชิลีที่มีการจำหน่ายสินค้าอาหาร Vegan มีจำนวนมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในลาตินอเมริกา และหากพิจารณาจากความสะดวกในการซื้อหาสินค้า จำนวนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองอาหาร Vegan และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ชิลีอยู่ในอันดับที่ 2, 3 และ 4 ตามลำดับ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา

หลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกามีการจัดจำหน่ายสินค้า Vegan ในหลากหลายช่องทาง ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดจำหน่ายในช่องทางของห้างสรรพสินค้า หรือห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยห้างค้าปลีก Fresco ของประเทศเม็กซิโก มีการจัดจำหน่ายสินค้า Vegan มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 รองลงไป (อันดับที่ 2-4) คือห้างค้าปลีกของชิลี ได้แก่ Jumbo, Lider และ Tottus ห้างค้าปลีกของเม็กซิโก (อันดับที่ 6-8) ได้แก่ Walmart, Walmart Express, Chedraui, Soriana ห้างค้าปลีกของโคลอมเบีย (อันดับที่ 9) คือ Carulla และห้างค้าปลีกของอาร์เจนตินา (อันดับที่ 10) คือ Carrefour

นอกจากนี้ ร้านอาหารและภัตตาคารที่มีการจำหน่ายเฉพาะอาหาร Vegan มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันประเทศบราซิลมีร้านอาหารที่จำหน่ายเฉพาะอาหาร Vegan มากที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 818 ร้าน รองลงไปคือเม็กซิโก มีจำนวน 700 ร้าน โคลอมเบีย มีจำนวน 260 ร้าน อาร์เจนตินา มีจำนวน 244 ร้าน และชิลี มีจำนวน 239 ร้าน ตามลำดับ บราซิลยังเป็นประเทศในลำดับที่ 1 ของภูมิภาคลาตินอเมริกาที่มีร้านจำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหาร Vegan โดยมีจำนวนรวม 72 ร้านทั่วประเทศ รองลงไปคือ เม็กซิโก มีจำนวน 71 ร้าน ชิลี มีจำนวน 66 ร้าน อาร์เจนตินา มีจำนวน 52 ร้าน และโคลอมเบียมีจำนวน 19 ร้าน ตามลำดับ

จากข้อมูลของ Vegetarianos Hoy ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของชิลี และส่งเสริมการใช้วิถีชีวิตด้วยสินค้าจากพืชในชิลีและลาตินอเมริกา พบว่าการขยายตัวของการบริโภคอาหาร Vegan มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวชิลีจำนวนกว่า 1.5 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.8 ของประชากรทั้งประเทศ งดการบริโภคเนื้อสัตว์ในชีวิตประจำวัน และร้อยละ 75 มีการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ เนื่องจากเหตุผลที่แตกต่างกันหลายประการ โดยเหตุผลหลักคือด้านการรักษาสุขภาพ รองลงไปคือ เหตุผลด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การไม่สนับสนุนการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคอาหาร Vegan ส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี
ธุรกิจสินค้าอาหาร Vegan ในชิลีที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด คือ ร้านอาหาร รองลงไป คือ ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ร้านเบเกอรี่ และร้านไอศกรีม

ความต้องการผลิตภัณฑ์อาหาร Vegan มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมทั้ง ชิลี ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องปรับปรุงผลิตภัณฑ์และคุณภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและสามารถแข่งขันได้กับคู่แข่งรายอื่น ๆ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหาร Vegan ที่ผู้บริโภคให้ความนิยมสูงที่สุด ได้แก่ โยเกิร์ต และนมสด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 และ 9 ตามลำดับ ของอาหาร Vegan ทั้งหมด ในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหาร Vegan ที่ผู้บริโภคต้องการบริโภคทดแทนวัตถุดิบจากเนื้อสัตว์ ได้แก่ นักเก็ตชุบเกร็ดขนมปัง ไส้กรอก เบคอน แฮมเบอร์เกอร์ เนื้อแดง นอกจากนี้ ผู้บริโภคอาหาร Vegan ต้องการให้มีการรับรองผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค

จากข้อมูลของบริษัท ICB Food Service ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารรายสำคัญของชิลี พบว่า ยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร Vegan ในช่องทางร้านอาหาร และโรงแรมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอัตราร้อยละ 41 ในปี 2565 และในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมีการขยายตัวในทิศทางเดียวกัน เช่น ครีมจากผัก (ขยายตัวร้อยละ 121) เครื่องดื่มจากผัก (ขยายตัวร้อยละ 73) เนยและครีมเทียม (ขยายตัวร้อยละ 31) ทั้งนี้ ปริมาณการบริโภคอาหาร Vegan เพิ่มขึ้นกว่า 47,000 กิโลกรัม ในปี 2565 นอกจากนี้ บริษัท ICB Food Service ยังพบว่า ระหว่างปี 2563 – 2565 มีการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร Vegan เพิ่มสูงขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 187

บทวิเคราะห์ / ความเห็น สคต.
ตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร Vegan ในภูมิภาคลาตินอเมริกามีทิศทางการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพและการรักษาสิ่งแวดล้อม และ สคต. ณ กรุงซันติอาโก คาดว่าจำนวนผู้บริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร Vegan ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การขยายตัวของความต้องการผลิตอาหาร Vegan ส่วนหนึ่งมาจาก ผู้บริโภคที่เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารประจำวันด้วยการทดแทนมื้ออาหารด้วยผลิตภัณฑ์อาหาร Vegan มากขึ้น ควบคู่กับมื้ออาหารที่มีเนื้อสัตว์ หรือ Flexitarian รวมทั้ง ร้านอาหารที่ให้บริการอาหาร Vegan มีจำนวนเพิ่มข้น จึงเป็นโอกาสให้ผู้บริโภคได้เลือกรับประทานอาหาร Vegan มากขึ้น และผู้บริโภคที่ไม่สามารถรับประทานโปรตีนจากสัตว์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น
สคต. ณ กรุงซันติอาโก เห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) ป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลก และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการต่อประเทศชิลี โดยผู้บริโภคชาวชิลีให้ความสนใจเพิ่มขึ้นต่อสินค้าอาหารที่ทำจากพืช สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงส่วนประกอบอาหารที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ทั้งนี้ ผู้นำเข้าชิลีหลายรายมีความเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตร มีทรัพยากรจำนวนมาก และมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตสินค้าต่าง ๆ ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจด้านอาหารของไทย มีโอกาสอย่างมากในการขยายตลาดไปยังชิลีและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวชิลีให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้วย โดยใส่ใจต่อรายละเอียดของฉลากสินค้าที่มีการระบุถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมายังชิลี จะต้องทำความเข้าใจภาษาท้องถิ่น การจัดทำฉลาก และบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับตลาดชิลีด้วย
ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารจากพืชที่ทดแทนเนื้อสัตว์เป็นสินค้าหนึ่งที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญและสนับสนับสนุนให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ดำเนินการจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) ในสินค้ากลุ่มนี้ระหว่างผู้ส่งออกของไทยและผู้นำเข้าจากต่างประเทศ โดยการจัดกิจกรรม OBM ในกลุ่มสินค้าอาหารดังกล่าวของ สคต. ณ กรุงซันติอาโก ที่ผ่านมาในช่วงปี 2564 – 2566 ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้นำเข้าของชิลี ซึ่งสินค้าที่ได้รับความสนใจจากผู้นำเข้า อาทิ กลุ่มของขบเคี้ยว (Snack) ที่ผลิตจากมะพร้าว และผลไม้อบแห้ง
_______________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
พฤษภาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login