หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > แนวโน้มตลาดสินค้า Plant-based และโปรตีนทางเลือกในเนเธอร์แลนด์

แนวโน้มตลาดสินค้า Plant-based และโปรตีนทางเลือกในเนเธอร์แลนด์

อุตสาหกรรมอาหารจากพืชหรือ Plant-based Food ทั่วโลกมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงและมีความท้าทายต่อวิธีการมองหรือแนวคิด และวิธีการผลิตอาหารสำหรับบริโภคด้วย ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้นเป็นอย่างมาก พฤติกรรมการเลือกบริโภคอาหารจึงเปลี่ยนแปลงไป ในสหภาพยุโรปสินค้าอาหาร Plant-based เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสนใจและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ผู้บริโภคจึงได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาบริโภคอาหาร Plant-based มากขึ้น เพราะนอกจากผู้บริโภคจะต้องการมีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และให้สัตว์มีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น จึงเลือกบริโภคอาหารที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากในห่วงโซ่การผลิต เพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากสัตว์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลิตภัณฑ์จากพืช และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในทุกขั้นตอนตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ ไปจนถึงการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย เทรนด์การบริโภคอาหาร Plant-based จึงเป็นเทรนด์การบริโภคอาหารแนวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมาก และกลายเป็นกระแสอาหารแห่งอนาคต (Future Food)

เนเธอร์แลนด์ แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กแต่ด้วยเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมที่เหนือชั้นและทันสมัย ทำให้เนเธอร์แลนด์เป็นผู้เล่นขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารของโลก และเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมอาหาร Plant-based ในสหภาพยุโรป และไม่มีประเทศใดที่ผู้บริโภคยอมรับการปรับเปลี่ยนไปบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชหรืออาหาร Plant-based ได้ดีไปกว่าเนเธอร์แลนด์ ผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์บริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชหรืออาหาร Plant-based มากที่สุดในยุโรป และยังเป็นผู้บริโภคที่ใช้จ่ายกับผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์มากที่สุดอีกด้วย จากผลการวิจัยพบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืชและผลิตภัณฑ์นมจากพืชเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 และยอดจำหน่ายชีสจากพืชเพิ่มขึ้นร้อยละ 400 ในเนเธอร์แลนด์

พฤติกรรมผู้บริโภค

ผู้บริโภคให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น และตระหนักดีว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณที่จำกัดจะส่งผลดีต่อสุขภาพ ทำให้ห่างไกลจากความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคอ้วน เป็นต้น โดยเฉลี่ยคนปกติจะต้องการโปรตีนประมาณ 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์โดยเฉลี่ยบริโภคโปรตีนเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน การลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ในแต่ละวันลงหรือการบริโภคโปรตีนจากพืชเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์จึงไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรือทำให้ขาดสารอาหารแต่อย่างใด

 

ผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1) Vegan ผู้บริโภคที่ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ 2) Lacto Vegetarian ผู้บริโภคที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ปลา และไข่ แต่บริโภคผลิตภัณฑ์จากนม 3) Ovo Vegetarian ผู้บริโภคที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ปลา อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์จากนม แต่บริโภคไข่และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไข่ 4) Lacto-Ovo Vegetarian ผู้บริโภคที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ปลา และสัตว์ปีก แต่บริโภคผลิตภัณฑ์จากนมและไข่ 5) Pescatarian ผู้บริโภคที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่บริโภคปลา อาหารทะเล ชีส ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม 6) Flexitarian ผู้บริโภคที่บริโภคอาหารมังสวิรัติ ยังบริโภคเนื้อสัตว์ แต่ลดหรือจำกัดการบริโภคเนื้อสัตว์ ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์หรือมากกว่า

 

ที่มา: ABN AMRO / Opportunities for Meat and Dairy Substitutes : Towards a more Plant-based Diet

สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์กว่า 3,600 รายที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป พบว่าผู้บริโภคร้อยละ 4 บริโภคแต่อาหารมังสวิรัติเท่านั้น ผู้บริโภคร้อยละ 1.7 ไม่บริโภคเนื้อสัตว์และปลา ผู้บริโภคร้อยละ 2.6 ไม่บริโภคเนื้อสัตว์แต่บริโภคปลา และผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ถึงร้อยละ 44.7 บริโภคเนื้อสัตว์เพียง 4 วันต่อสัปดาห์

ผู้บริโภคชาวเนเธอร์แลนด์ประมาณร้อยละ 40 เรียกตัวเองว่า Flexitarian คือกลุ่มผู้บริโภคที่บริโภคอาหารมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น ไม่ต้องเคร่งครัดมากเกินไป ยังคงบริโภคเนื้อสัตว์แต่ในปริมาณที่น้อยลงและบริโภคเป็นครั้งคราว เลือกบริโภคโปรตีนจากพืชหรือจากเนื้อสัตว์ได้ทุกชนิด แต่จะเน้นการบริโภคอาหารหรือโปรตีนจากพืชเป็นหลัก และผู้บริโภคมากกว่าร้อยละ 20 พยายามลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เพื่อสุขภาพของตนเองและเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

ซุปเปอร์มาร์เก็ตมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างมาก เช่น Albert Heijn ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์ ที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์จากพืชหรืออาหาร Plant-based และมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ Plant-based วางจำหน่ายมากขึ้น และยังมีเป้าหมายที่จะให้ร้อยละ 60 ของการบริโภคโปรตีนเป็นการบริโภคโปรตีนจากพืชภายในปี 2573 Albert Heijn จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Plant-based ที่เป็น Private Label Brand เพื่อพยายามรักษาราคาผลิตภัณฑ์ Plant-based หรือผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทางเลือกให้มีราคาเท่ากับหรือถูกกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีการจัดโปรโมชั่นลดราคา เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based มากขึ้น

 

นอกจาก Albert Heijn และ Mainstream Supermarket รายใหญ่อื่นๆ ที่มีผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based จำหน่ายมากมายหลากหลายชนิดเพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภคแล้ว Lidl ซุปเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด (Discount Supermarket) ก็มีผลิตภัณฑ์ Plant-based Meat วางจำหน่ายเช่นกัน และยังมีกลยุทธ์ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ Plant-based Meat โดยการนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาจัดวางจำหน่ายคู่กันบนชั้นวางจำหน่ายสินค้า เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ Plant-based Meat มากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์นี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของมหาวิทยาลัย Wageningen ที่พบว่าหากซุปเปอร์มาร์เก็ตวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based หลากหลายชนิด หลากหลายแบรนด์และวางคู่กันกับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคและทำให้ง่ายต่อผู้บริโภคในการเลือกทางเลือกที่มีความยั่งยืนมากขึ้น การปรับเปลี่ยนเล็กๆน้อยๆนี้จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและมีแนวโน้มที่จะหันมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริโภคอาหาร Plant-based มากขึ้น และอาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปบริโภคผลิตภัณฑ์ Plant-based เป็นปกติในอนาคตเพื่อสังคมที่ยั่งยืนมากขึ้น

 

ที่มา: ABN AMRO / Opportunities for Meat and Dairy Substitutes : Towards a more Plant-based Diet

 

ปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากพืชหรืออาหาร Plant-based มากที่สุด คือ รสชาติ รองลงมา คือ วัตถุดิบและส่วนผสมที่ใช้ในการผลิตอาหาร Plant-based และที่สำคัญจะต้องมีปริมาณเกลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ความสะดวกในการเตรียมผลิตภัณฑ์ Plant-based สำหรับการปรุงอาหารเพื่อรับประทาน เรื่องราคาผลิตภัณฑ์ Plant-based เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคก็ยังคงให้ความสำคัญแต่ให้ความสำคัญเป็นอันดับสุดท้าย

 

ผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based และโปรตีนทางเลือกในเนเธอร์แลนด์

เทรนด์การบริโภคอาหาร Plant-based ทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายเล็ก และ Start-Ups มุ่งมั่นที่จะคิดค้น วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based และโปรตีนทางเลือกให้มีความหลากหลายและมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งการคิดค้นและริเริ่มหาวัตถุดิบและส่วนผสมเพื่อมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ Plant-based และโปรตีนทางเลือก รสชาติและเนื้อสัมผัสที่เหมือนหรือใกล้เคียงเนื้อสัตว์ คุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งขั้นตอนและกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อนและมีความยั่งยืน มีการใช้พลังงานน้อยลง และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ลดลงเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

Redefine Meat ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทางเลือกที่ไม่ใช้ส่วนผสมจากสัตว์ที่ได้ชื่อว่า “New-Meat” ผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นการรวมกันของ New-Meat Science, Material Science และ Meat Matrix Manufacturing และส่วนผสมที่ยั่งยืน ที่ร่วมกันสร้างเนื้อใหม่ที่มีเนื้อสัมผัส กลิ่น และรสชาติของเนื้อแบบดั้งเดิม ด้วยการผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุ (Additive Manufacturing) และการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) ที่เลือกและนำไปใช้กับการตัดแต่งแต่ละครั้งเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทางเลือกตามคุณสมบัติและข้อกำหนด การพิมพ์ 3 มิติยังช่วยให้สามารถสร้างรูปแบบที่แน่นอน และสามารถจำลองโครงสร้างกล้ามเนื้อและไขมันที่พบในชิ้นเนื้อ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความรู้สึกต่อการสัมผัสเมื่อผู้บริโภครับประทานเนื้อ ผลิตภัณฑ์ Redefine Meat ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ HORECAVA INNOVATION AWARD 2023 อีกด้วย ผลิตภัณฑ์ Redefine Meat มีหลากหลายประเภท ได้แก่ Redefine PRO Tenderloin, Redefine PRO Striploin, Redefine PRO Beef Flank, Redefine PRO Bratwurst, Redefine PRO Beef Mince, Redefine PRO Premium Burger, Redefine PRO Sausage, Redefine PRO Lamb Kabab Mix, Redefine PRO Pulled Beef, Redefine PRO Pulled Lamb และ Redefine PRO Pulled Pork เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

Garden Gourmet เป็นแบรนด์ที่ใช้ความรักที่มีต่อธรรมชาติและอาหารที่ดีเปลี่ยนแปลงและพัฒนาพืชให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ที่อร่อย และจัดทำสูตรอาหาร Plant-based หลากหลายเมนู เพราะต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บริโภคทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาบริโภคอาหาร Plant-based ทุกวัน และมีความเชื่อว่าการบริโภคโปรตีนจากพืชมากขึ้นนั้นดีทั้งต่อสุขภาพของผู้บริโภคและดีต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ Plant-based ของ Garden Gourmet มีหลากหลายประเภท ได้แก่  Vegetarian Cheese Schnitzel, Sensational Burger American Style, Sensational Schnitzel, 99kcal Cauliflower Schnitzel, Vegan Bacon, Meatball Style Rondo, Vegetarian Ham, Vegan Fillet Pieces, Vegan Sensational Crispy Mini Filet, Vegan Vuna, Veggie Lover’s Pizza, Vegan Sensational Chicken Pieces Asian, Vegan Sensational Chicken Pieces Mexican, Vegan Sensational Chicken Pieces Mediterranean, Vegetarian Chicken Fillet Garden Herbs, Vegetarian Luncheon Meat, Vegetarian Sausage Spread, Vegetarian Sausages, Veggie Burger Greek, Vegan Burger, Vegan Sensational Burger, Vegan Sensational Minced Meat, Vegan Sensational Chorizo, Vegan Sensational Bratwurst, Vegetarian Oriental Wok Cubes, Vegetarian Italian Square, Vegetarian Indian Meatballs, Vegetarian Smoked Sausage, Vegetarian Tuscan Square, Vegetarian Spinach Cheese Rondo, Vegan Finely Chopped, Vegan Falafel, Vegan Falafel Spinach, Vegan Falafel Spicy, Vegetarian Balls, Vegetarian Burger Deluxe Mini และ Lightly Roasted Pieces เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากที่สุด คือ Vegetarian Cheese Schnitzel, Sensational Schnitzel, Meatball Style Rondo, Vegan Fillet Pieces, Vegan Sensational Burger และ Lightly Roasted Pieces

 

 

Vivera เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของยุโรป มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตอาหาร Plant-based ที่มีรสชาติอร่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ผู้บริโภคเปิดใจทดลองชิมอาหาร Plant-based เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ผลิตภัณฑ์ Plant-based ของ Vivera มีหลากหลายประเภท ได้แก่ Plant Drumsticks, Plant Spicy Chicken Kebab Style, Plant Beef Strips, Plant Nuggets Southern Fried, Plant Steak, Plant Salmon Fillet, Plant Tex Mex Strips, Plant Chicken Breast Style, Plant Mince, Plant Greek Style Kebab, Plant Bacon, Plant Shawarma Kebab และ Plant Burger เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ Plant Shawarma Kebab ได้รับการโหวตให้เป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดในงาน Food Awards 2020 ผลิตภัณฑ์ Crispy Chicken Schnitzel ได้รับความนิยมอย่างสูงมาเป็นเวลา 4 ปี ได้รับรางวัล Innova Classic Award 2020 และผลิตภัณฑ์ใหม่ Vegetable Bratwurst ผ่านการทดสอบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดในแง่ของรสชาติและการกัด (Taste and Bite) เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์คู่แข่ง

 

 

De Vegetarische Slager เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในระดับสากล  De Vegetarische Slager มีวิสัยทัศน์ที่จะผลิตอาหาร Plant-based Meat ที่มีรสชาติอร่อยและมีรสสัมผัสที่เหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ สำหรับผู้บริโภคที่รักการบริโภคเนื้อ (Meat Lovers) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การบริโภคอาหาร Plant-based มากขึ้น ไม่ใช่แค่เพื่อสุขภาพเท่านั้น แต่เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ห่วงโซ่อุปทานอาหาร และสวัสดิภาพสัตว์ด้วย ผลิตภัณฑ์ Plant-based ของ De Vegetarische Slager ได้แก่ Vegan Ham Slices, Vegan Kiptevree Filet, Vegan Chicken Pieces, Vegan Little Willies, Vegan Smokey BBQ Chicken Pieces, Vegan Chicken Krockant, Vegan Flamboyant Chicken Pieces, Vegan Satay Chicken Pieces, Vegan On Wieder Schnitzel, Vegan Smoked Specks, Vegan Smoked Sausage, Vegan Burger, Vegan Chicken Nuggets, Vegan Shawarma, Vegetarian Mini Sausage Buns, Vegetarian Sausage Rolls, Vegetarian Hackedballs และ Vegetarian Bratwurst เป็นต้น

 

Valess เป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกที่มีนมเป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการผลิต และมีการเติมใยอาหารจากสาหร่ายเพื่อให้เกิดโครงสร้างเส้นใยใหม่ที่แน่นคล้ายกับเนื้อสัตว์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการที่จำเป็นครบถ้วน และยังมีรสชาติอร่อยและรสสัมผัสดี ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกของ Valess มีหลายประเภท ได้แก่ Valess Mozzarella Burger, Valess Crunchy Tenders, Valess Tex Mex Tenders, Valess Wok Pieces, Valess Crispy Sticks, Valess Schnitzel, Valess Gouda, Valess Tomato Mozzarella, Valess Smoked Sausage, Valess Satay, Valess Crispy Chicken Style Burger, Valess Crispy Bites เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ Valess Gouda Schnitzel ได้รับการโหวตให้เป็น Best Product of the Year ปี 2020-2021 และผลิตภัณฑ์ Valess Beef Style Burger ได้รับการโหวตให้เป็น Best Product of the Year ปี 2021-2022

 

Alpro มีวิสัยทัศน์ที่จะผลิตอาหาร Plant-based ที่อร่อย ดีต่อสุขภาพและดีต่อโลก เพื่อให้ผู้บริโภคที่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงและทดลองสิ่งใหม่ได้ทานอาหารที่อร่อยและมีสุขภาพที่ดี เพื่อให้ทุกการเปลี่ยนแปลงเป็นก้าวที่ดีในทิศทางที่ถูกต้อง ผลิตภัณฑ์ Plant-based ของ Alpro ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์นมจากพืชทางเลือก อาทิ Coconut Drink ทั้งแบบธรรมดาและแบบไม่ใส่น้ำตาล Soy Drink รสชาติต่างๆ ได้แก่ Soy Drink Light, Soy Drink Banana, Soy Drink Red Fruits, Soy Drink Vanilla, Soy Drink Choco, Soy Drink Macchiato, Soy Drink No Sugars เป็นต้น Oat Drink ทั้งแบบธรรมดาและแบบไม่ใส่น้ำตาล Almond Drink ทั้งแบบ Roasted และ Unroasted และแบบธรรมดาและแบบไม่ใส่น้ำตาล และยังมีผลิตภัณฑ์นม Plant-based สำหรับเด็ก อาทิ Growth Drink Soy 1-3+ และ Growth Drink Oat 1-3+ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมี Plant-based Variation on Yogurt, Plant-based Cooking, Vegetable Variation on Cottage Cheese, Plant Protein และผลิตภัณฑ์ที่เป็น Plant-based Dessert เช่น Vegetable Variation on Custard Vanilla, Dessert Chocolate, Double Chocolate Mousse เป็นต้น

 

ตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based เริ่มมีการแข่งขันมากขึ้นเนื่องจากผู้ผลิตสินค้าอาหารทั้งรายใหญ่และรายเล็กให้ความสนใจและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based เข้าสู่ตลาดมากขึ้น หากแบรนด์สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ให้มีรสชาติอร่อย มีเนื้อสัมผัสที่ดี และราคาไม่แพง ก็จะสามารถเป็นแบรนด์ที่เป็น Top of Mind ของผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ สโลแกนของแบรนด์ที่สื่อสารถึงผู้บริโภคก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยทำให้แบรนด์อยู่ใน Conscious Mind ของผู้บริโภค และหากผลิตภัณฑ์มีวางจำหน่ายทั่วไป สามารถหาซื้อได้ง่ายและสะดวก ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้แบรนด์มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้น ปัจจุบันแบรนด์ De Vegetarische Slager เป็นแบรนด์ที่ครองอันดับ 1 ทั้ง Mental Market Share และ Real Market Share รองลงมา คือ Valees และ Vivera

Mental versus Real Market Share of Meat Substitutes

 

ช่องทางการตลาด/ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Plant-based

ผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based มีวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ทั้งซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่และขนาดเล็ก รวมถึงร้านจำหน่ายสินค้าเฉพาะทาง เช่น ร้านจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ ร้านจำหน่ายสินค้าออร์แกนิค ร้านจำหน่ายสินค้าวีแกน เป็นต้น ซึ่งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตมีอัตราการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด

Albert Heijn เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based วางจำหน่ายมากกว่า 5,400 รายการ ทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ผู้ผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็น Private Label Brand ของ Albert Heijn กว่า 1,000 รายการ และยังมีการเพิ่มจำนวนรายการผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ที่วางจำหน่ายอีกอย่างน้อย 150 กว่ารายการ เพื่อตอบสนองกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based เพิ่มมากขึ้น และมุ่งเน้นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Plant-based โดยมีเป้าหมายที่จะให้ร้อยละ 60 ของโปรตีนที่บริโภคเป็นโปรตีนที่มาจากพืชภายในปี 2573 และเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว Albert Heijn จึงมีการลดราคาผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ให้มีราคาเท่ากับหรือถูกกว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์

Albert Heijn ยังสนับสนุนแคมเปญ Nationale Week Zonder Vlees & Zuivel (National Week without Meat & Dairy) เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคทดลองงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ด้วยแคมเปญ Give your plate VEGA โดยการให้แรงบันดาลใจและเคล็ดลับในการบริโภคมังสวิรัติเป็นอาหารหลักให้บ่อยขึ้น และจัดทำสูตรอาหารมังสวิรัติมากกว่า 6,000 เมนูในแอพลิเคชั่น และบนเว็บไซต์ของซุปเปอร์มาร์เก็ต Albert Heijn และยังให้คำปรึกษาทางด้านโภชนาการ และให้ความรู้แก่ผู้บริโภคว่าอาหาร Plant-based มีประโยชน์เพียงใด และจากแคมเปญดังกล่าว Albert Heijn พบว่า ผู้บริโภค 1 ใน 5 มีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชทางเลือกที่ราคาไม่แพง สะดวก มีรสชาติอร่อย และน่าทาน Albert Heijn จึงได้พัฒนารสชาติและปรับคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มจำนวนรายการผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ที่วางจำหน่ายให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ของ Albert Heijn ได้คะแนนโภชนาการ Nutrition score A/B

Jumbo ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเนเธอร์แลนด์  มีผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based วางจำหน่ายมากกว่า 5,800 รายการ ทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ผู้ผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็น House Brand ของ Jumbo กว่า 1,700 รายการ Jumbo สนับสนุนแคมเปญ Nationale Week Zonder Vlees & Zuivel เช่นเดียวกัน เพื่อช่วยรณรงค์ให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based มากขึ้น จึงได้มีการจัดโปรโมชั่นซื้อหนึ่งแถมหนึ่งในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว อีกทั้งยังจัดให้ผู้บริโภคได้ชิมผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ฟรีก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อ เพื่อให้ผู้บริโภคเปิดใจทดลองชิมอาหาร Plant-based และเลือกซื้ออาหาร Plant-based ที่มีรสชาติถูกปากและมีราคาที่สามารถจับต้องได้ ไม่ได้แพงอย่างที่คิด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ที่เป็น House Brands ของ Jumbo นอกจากนี้ Jumbo ยังได้จัดทำเมนูอาหาร Plant-based เผยแพร่บนเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based จากซุปเปอร์มาร์เก็ตแล้วนำกลับไปประกอบอาหารเองได้

Ekoplaza ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มีผลิตภัณฑ์อาหารวีแกนและ Plant-based วางจำหน่ายมากกว่า 1200 รายการ สินค้าส่วนใหญ่ที่วางจำหน่ายที่ Ekoplaza จะเป็น Niche Products ที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่มีความต้องการเป็นพิเศษหรือมีข้อจำกัดด้านอาหาร เช่น การแพ้อาหาร Ekoplaza จึงเป็นช่องทางการจำหน่ายที่เหมาะสำหรับ Niche Market ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารวีแกนและ Plant-based ที่วางจำหน่ายที่นี่จะมีราคาค่อนข้างสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป

Picnic เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ มีผลิตภัณฑ์อาหารวีแกนและ Plant-based วางจำหน่ายเกือบ 300 รายการ และมีบริการจัดส่งสินค้าถึงบ้านด้วยรถบรรทุกระบบไฟฟ้าขนาดเล็ก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีส่วนช่วยรักษาสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ Picnic จะเป็นเพียงออนไลน์แพลตฟอร์มและไม่มีหน้าร้าน แต่ก็เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในเวลาอันสั้น

Crisp เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ที่เน้นเรื่องความยั่งยืน สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าออร์แกนิค ผักผลไม้ที่จำหน่ายจะเป็นผักผลไม้ที่ปลูกในท้องถิ่น และใช้ถุงกระดาษเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อคง concept เรื่องความยั่งยืน Crisp ได้เพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์อาหารวีแกนและ Plant-based ที่จำหน่ายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มมากขึ้น

Veggie 4U เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์วีแกนและผลิตภัณฑ์มังสวิรัติเท่านั้น มีผลิตภัณฑ์วีแกนและมังสวิรัติวางจำหน่ายจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถหาซื้อได้ในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป Veggie 4U มีหน้าร้านอยู่ที่กรุงเฮก ภายในร้านมีโซนให้บริการอาหารวีแกนอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน นอกจากนี้ ยังมีออนไลน์แพลตฟอร์มเพื่อผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ได้อีกด้วย

นอกจากซุปเปอร์มาร์เก็ตที่กล่าวมาแล้ว ยังมีซุปเปอร์มาร์เก็ตอื่นๆ อีกหลายแห่งที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based อาทิ Dirk, Aldi, Lidl, Plus, Hoogvliet, Coop, DekaMarkt และ Vomar

 

 ราคาผลิตภัณฑ์ Plant-based

ProVeg International ได้ทำการสำรวจราคาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ Plant-based จากซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ 6 แห่ง ได้แก่ Albert Heijn, Jumbo, Dirk, Aldi, Lidl และ Plus โดยสำรวจ ราคาผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดบรรจุภัณฑ์ใกล้เคียงกันและเปรียบเทียบราคาต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันทั้งหมด 32 ประเภทสินค้า

ความแตกต่างของราคาระหว่างผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ Plant-based หรือผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์มากกว่าครึ่งมีผลิตภัณฑ์ Plant-based ที่มีราคาใกล้เคียงกันหรือถูกกว่าเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภค นมถั่วเหลืองและเนยเทียมมีราคาถูกกว่านมวัวและเนยในซุปเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่ง ชีส เบอร์เกอร์ และ Schnitzel Plant-based มีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในซุปเปอร์มาร์เก็ตประมาณครึ่งหนึ่งที่มีการสำรวจ หากเปรียบเทียบตะกร้าช้อปปิ้งที่มีแต่ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์กับตะกร้าช้อปปิ้งที่มีแต่ผลิตภัณฑ์ Plant-based หรือผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ ราคาของสินค้าทั้งสองตะกร้าจะมีความใกล้เคียงกัน มีผลิตภัณฑ์ Plant-based ไม่ถึงครึ่งของประเภทสินค้าทั้งหมดที่ทำการสำรวจที่มีราคาแพงกว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์มาก ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า และอัตรากำไร (Margin) ของซุปเปอร์มาร์เก็ตที่สูงกว่าด้วย

เมื่อเปรียบเทียบราคาผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ Plant-based ในกลุ่มประเภทสินค้าเดียวกัน โดยเปรียบเทียบจากส่วนต่างราคาต่ำสุด (Lowest Price Gap) ส่วนต่างราคาสินค้าต่อ 100 กรัม ระหว่างผลิตภัณฑ์ Plant-based ที่ถูกที่สุด กับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่ถูกที่สุด และเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ Plant-based ที่ถูกที่สุด กับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่แพงที่สุด เพื่อจะทราบได้ว่าผลิตภัณฑ์ Plant-based ที่ถูกที่สุดนั้นยังอยู่ในช่วงราคาของผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์หรือไม่ จะเห็นได้ว่าร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์ Plant-based จัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูก เช่น นมถั่วเหลือง มาการีน ชีส มีทบอล เบอร์เกอร์ และ Schnitzel เป็นต้น ร้อยละ 33 ของผลิตภัณฑ์ Plant-based จัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีราคาไม่แพงอยู่ในระดับที่จับต้องได้ เช่น มายองเนส โยเกิร์ต เบอร์เกอร์ มีทบอล เนื้อบด และ Shawarma เป็นต้น และร้อยละ 47 ของผลิตภัณฑ์ Plant-based จัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีราคาแพง เช่น ไส้กรอก นักเก็ต และที่ทาขนมปัง (Spreads) เป็นต้น ซึ่งในกลุ่มนี้ ผลิตภัณฑ์ Plant-based ที่ถูกที่สุดยังคงมีราคาแพงกว่าผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่แพงที่สุด

จากการสำรวจราคาในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 6 แห่ง Aldi เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่มราคาแพงมากที่สุดถึงร้อยละ 67 รองลงมา คือ Dirk, Lidl และ Plus ซึ่งมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่มราคาแพงอยู่ที่ร้อยละ 65, 63 และ 50 ตามลำดับ ซึ่งที่ Jumbo และ Albert Heijn มีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่มราคาแพงแค่ร้อยละ 30 และร้อยละ 34 โดยผลิตภัณฑ์ Plant-based ส่วนใหญ่ที่วางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 2 แห่งนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มราคาถูกและราคาไม่แพง แต่อย่างไรก็ตาม Lidl และ Aldi ยังเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกมากที่สุดที่ร้อยละ 31 และร้อยละ 33 ตามลำดับ เนื่องจากซุปเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 2 แห่งนี้มีช่วงผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างเล็ก ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายส่วนใหญ่จึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีราคาแพงหรือถูก และไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีราคาระดับกลางหรือราคาไม่แพง

 

โอกาสทางการตลาด

ตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์และนมหรือผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ในยุโรปเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2560 ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์และนมขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยตัวเลขสองหลัก แต่การขยายตัวลดลงในช่วงปี 2563 – 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดที่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารต้องปิดให้บริการ แต่ในปี 2565 ก็สามารถกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 6 ในเชิงมูลค่า และขยายตัวที่ร้อยละ 4 ในเชิงปริมาณ ทำให้มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ในยุโรปมีมูลค่าอยู่ที่ 5,800 ล้านยูโร

ตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ในเนเธอร์แลนด์เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยระหว่างปี 2563 – 2565 มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 9 แต่ในปี 2565 ตลาดหดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ทำให้มูลค่าตลาดลดลงมาอยู่ที่ 411.4 ล้านยูโร เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและวิกฤตเงินเฟ้อที่ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง และทำให้ผู้บริโภคต้องคิดพิจารณาและไตร่ตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้นก่อนการตัดสินใจที่จะใช้จ่าย

ที่มา: GFI EUROPE / Netherlands: Plant-based Foods Retail Market Report (2020-2022)

แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ในเนเธอร์แลนด์ก็ยังมีศักยภาพและมีโอกาสทางการตลาดสูง เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์ที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลงมีจำนวนมากขึ้น และทั้งรัฐบาลและซุปเปอร์มาร์เก็ตก็สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคเพิ่มสัดส่วนการบริโภคโปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนขึ้นจากร้อยละ 40 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2573 และถึงแม้ว่าตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based เนเธอร์แลนด์จะไม่ใช่ตลาดใหญ่ที่สุดในยุโรป แต่ผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์มีการใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based เฉลี่ยต่อคนสูงที่สุดในยุโรป โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 23.5 ยูโร

ที่มา: GFI EUROPE / Netherlands: Plant-based Foods Retail Market Report (2020-2022)

ที่มา: GFI EUROPE / Netherlands: Plant-Based Foods Retail Market Report (2020-2022)

 

ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ Plant-based เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ที่มีพัฒนาการและมีมูลค่าการจำหน่ายมากที่สุดในเนเธอร์แลนด์ โดยในปี 2565 ที่มูลค่าอยู่ที่ 220.8 ล้านยูโร รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์นม Plant-based มีมูลค่า 106.2 ล้านยูโร ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต Plant-based มีมูลค่า 63.6 ล้านยูโร ผลิตภัณฑ์ชีส Plant-based มีมูลค่า 8.8 ล้านยูโร ผลิตภัณฑ์ครีม Plant-based มีมูลค่า 6.2 ล้านยูโร และผลิตภัณฑ์อาหารหวาน Plant-based มีมูลค่า 5.8 ล้านยูโร แม้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารหวาน Plant-based จะมีมูลค่าการจำหน่ายน้อยที่สุด แต่มีอัตราการขยายตัวมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 42 และในปี 2564 กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ทั้งชีส ครีม และอาหารหวานมีอัตราการขยายตัวสูงมากทั้ง 3 กลุ่ม โดยผลิตภัณฑ์ชีส Plant-based มีอัตราการขยายตัวสูงมากถึงร้อยละ 60 เนื่องจากผู้บริโภคชาวดัตช์นิยมบริโภคชีสมาก จนได้รับฉายาว่า Kaaskop หรือที่แปลว่า Cheese Head

 

นโยบายรัฐบาล

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีวิสัยทัศน์ที่จะทำให้เนเธอร์แลนด์เป็นผู้นำระดับโลกในด้าน Plant-based Economy ภายในปี 2573 ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างและแบ่งปันความรู้และนวัตกรรม ตลอดจนการออกกฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรม Plant-based รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้การสนับสนุนและผลักดันเรื่อง Plant-based Food อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2561 สภาสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาของรัฐบาลได้แนะนำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ปรับเปลี่ยนนโยบายด้านอาหาร โดยปรับจากการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์เป็นการบริโภคโปรตีนจากพืช ด้วยการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ เกษตรกร ผู้ผลิต ไปจนถึงผู้ค้าปลีก เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคชาวเนเธอร์แลนด์ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง โดยมีเป้าหมายที่จะให้ผู้บริโภคชาวเนเธอร์แลนด์ลดสัดส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์ลงจากร้อยละ 60 ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 40 ภายในปี 2573

ในปี 2561 ยังมีการริเริ่มแคมแปญเพื่อสังคมและความยั่งยืน (Social and Sustainability Campaign) ที่เรียกว่า “Nationale Week Zonder Vlees” หรือ “The National Week without Meat” โดยรณรงค์ให้ผู้บริโภคทดลองงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อให้ค้นพบรสชาติความอร่อยและความสะดวกในการบริโภคอาหาร Vegetarian หรืออาหาร Vegan หรือทดลองชิมผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based และในปี 2565 ได้เพิ่มการงดเว้นการบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมในแคมเปญด้วยเป็น “Nationale Week Zonder Vlees & Zuivel” หรือ “The National Week without Meat & Dairy” แคมเปญนี้เป็นแคมเปญที่ส่งเสริมการบริโภคอาหารจากพืช ลดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม และโปรโมทอาหาร Plant-based ช่วยทำให้ผู้บริโภคเปิดใจและหันมาทดลองบริโภคอาหารมังสวิรัติ อาหารวีแกน และอาหาร Plant-based มากขึ้น และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและสนับสนุนให้ผู้บริโภคลดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมให้น้อยลงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อปี 2564 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้มีการหารือความร่วมมือกับธนาคารดัตช์รายใหญ่ 8 แห่ง เพื่อออกนโยบายสนับสนุนการลงทุนให้กับธุรกิจ Plant-based รวมถึงให้การสนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือสำหรับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารและเกษตรให้กับผู้ประกอบการหลายราย และพยายามดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Plant-based ในเนเธอร์แลนด์

นอกจากนี้ เนเธอร์แลนด์ยังมีการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจสำหรับ Plan-based Protein เพื่อให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล สถาบันวิจัยและนวัตกรรม บริษัทเอกชน และบุคคลทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาและส่งเสริมโปรตีนทางเลือก โดยเนเธอร์แลนด์เป็นที่ตั้งของ Food Valley ของยุโรป หรือที่เรียกว่า “Silicon Valley of Food” ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางธุรกิจด้านการเกษตรและอาหารที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ภายใน Food Valley จะมีบริษัทนานาชาติ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัย Wageningen และการรวมกลุ่มของธุรกิจ Plant-based ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก และ Start-Ups ที่เรียกว่า Protein Cluster หรือ Protein Community เพื่อเชื่อมโยง Start-Ups และองค์กรต่างๆ ทั่วโลก สร้างแรงบันดาลใจ สนับสนุนเงินทุนและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อเร่งสร้างนวัตกรรมและการเติบโตของธุรกิจโปรตีนทางเลือก ทำให้เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีศักยภาพและเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมอาหาร Plant-based

 

กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันสหภาพยุโรปยังไม่มีกฎระเบียบสำหรับอาหารวีแกน อาหารมังสวิรัติ กลุ่มผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช และกลุ่มผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์โดยเฉพาะ โดยสินค้าอาหารจะยังคงต้องปฏิบัติตาม Regulation (EC) No 178/2002 EU General Food Law กฎหมายว่าด้วยเรื่องอาหารทั่วไป Regulation (EU) No 1129/2011 กฎระเบียบด้านความปลอดภัยอาหาร กฎระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมสุขอนามัยอาหาร กฎระเบียบเกี่ยวกับสารเจือปน  Regulation (EC) No 852/2004 กฎระเบียบเกี่ยวกับความสะอาด สุขอนามัยอาหาร และแนวทางปฏิบัติตาม HACCP (Hazard Analysis Critical Control Points) และหากเป็นอาหารใหม่ ก็จะต้องปฏิบัติตาม Regulation (EU) 2015/2283 กฎระเบียบเกี่ยวกับ Novel Foods และสำหรับการติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ Regulation (EC) No 1169/2011 Labelling and Packaging Regulation กฎระเบียบว่าด้วยเรื่องของฉลากและบรรจุภัณฑ์ รวมถึงเรื่องการให้ข้อมูลอาหารแก่ผู้บริโภค และ Regulation (EC) Nr. 1924/2006 กฎระเบียบเกี่ยวกับการกล่าวอ้างด้านโภชนาการและสุขภาพของผลิตภัณฑ์

ประเทศเนเธอร์แลนด์มีหน่วยงาน Food and Consumer Product Safety Authority (NVWA) หรือหน่วยงานด้านความปลอดภัยของอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระในกระทรวงเกษตร ธรรมชาติ และคุณภาพอาหาร มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช สวัสดิภาพสัตว์ และความปลอดภัยของอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจและวางใจในความปลอดภัยของอาหารและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้

กระทรวงสาธารณสุข สวัสดิการ และการกีฬาของเนเธอร์แลนด์มีนโยบายเกี่ยวกับการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based โดยมีข้อกำหนด ดังนี้

  • การใช้ชื่อทั่วไปสำหรับผลิตภัณฑ์ อาทิ Schnitzel, Burger และ Sausage สามารถใช้ชื่อในผลิตภัณฑ์ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นมังสวิรัติหรือ Plant-based เช่น Vegaschnitzel, Vegaburger และ Vegetarian Smoked Sausage เป็นต้น
  • การใช้ชื่อสายพันธุ์หรือประเภทของสัตว์ เช่น ไก่ ทูน่า หรือ ปู ในผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช สามารถใช้ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นเนื้อสัตว์ที่เป็นมังสวิรัติหรือ Plant-based เช่น เนื้อไก่ชิ้นมังสวิรัติ (Vegetarian Chicken Pieces) ทูน่ามังสวิรัติ (Vegetarian Tuna) สลัดปูมังสวิรัติ (Vegetarian Crab Salad) แต่ห้ามใช้แค่คำว่า เนื้อไก่ชิ้น ทูน่า หรือสลัดปู เท่านั้น
  • ชื่อสงวน (Reserved Name) ให้สามารถใช้ได้เฉพาะกับผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามข้อกำหนดทางกฎหมายสำหรับชื่อสงวนเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อสงวน (การกำหนดชื่อ) สำหรับเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ สิ่งปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ กับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเนื้อสัตว์ได้ หรือแม้แต่จะใช้ร่วมกับคำว่า “มังสวิรัติ” ก็ตาม รวมถึงไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อสายพันธุ์หรือชื่อสงวนที่สะกดผิดด้วยเช่นกัน เช่น Vegetarische Gecackt เป็น Vegetarische Gehakt เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดชื่อสงวนสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ใน Meat, Minced Meat and Meat Products Commodities Act Decree

สำหรับผลิตภัณฑ์นม สหภาพยุโรปมีกฎหมายสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อนม (Dairy Names) ซึ่งต้องมีส่วนประกอบของนม แต่มีข้อยกเว้นสำหรับกะทิและเนยถั่ว และผลิตภัณฑ์นมจากพืชทางเลือกที่เป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนนมที่มีถั่วเหลืองอาจไม่สามารถเรียกว่านมถั่วเหลืองได้ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 รัฐสภายุโรปได้อนุมัติข้อกำหนดใหม่ที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้ชื่อนม ซึ่งควรใช้เฉพาะกับผลิตภัณฑ์จากนมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนประกอบหลังผ่านกระบวนการผลิตแล้ว และห้ามผลิตภัณฑ์นมจากพืชทางเลือกใช้ชื่อหรือข้อความที่แสดงว่าเป็นสินค้าเลียนแบบหรือสินค้าทำให้เหมือนผลิตภัณฑ์นม เช่น ข้อความที่ระบุว่า Milk Substitute, Yoghurt Style/Yoghurt Flavour, Butter Substitute, Alternative to Cheese แต่อย่างไรก็ตาม มีการคัดค้านมากมายจากภาคอุตสาหกรรม ข้อกำหนดดังกล่าวจึงถูกถอนออกไป

นอกจากกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของสหภาพยุโรปและเนเธอร์แลนด์แล้ว ยังมี European Vegetarian Union (EVU) ซึ่งเป็นองค์กรร่ม (Umbrella Organization) ของสมาคมและสังคมวีแกนและมังสวิรัติทั่วยุโรปที่มุ่งเน้นเรื่องสุขภาพ โภชนาการ การคุ้มครองผู้บริโภค ความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม EVU เป็นองค์กรเบื้องหลังเครื่องหมายรับรอง V-Label ซึ่งเป็นโครงการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์วีแกนและมังสวิรัติยุโรปโดยสมัครใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การระบุหรือจำแนกผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นวีแกนและมังสวิรัติสามารถทำได้ง่ายขึ้น

เครื่องหมายรับรอง V-Label เป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับการจัดทะเบียนสำหรับการรับรองผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นวีแกนและมังสวิรัติ เป็นเครื่องหมายที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลสำหรับการติดฉลากผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นวีแกนและมังสวิรัติ สำหรับผู้บริโภค เครื่องหมายรับรอง V-Label เป็นเสมือนคู่มือและแนวทางในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์วีแกนและมังสวิรัติที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ ในเนเธอร์แลนด์เครื่องหมายรับรอง V-Label บริหารจัดการและควบคุมการรับรองมาตรฐานโดย The Dutch Vegetarian Association

 

ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายรับรอง V-Label VE

GAN จะเป็นการรับรองว่าผลิตภัณฑ์ไม่ใช้ส่วนผสมที่มาจากสัตว์ในทุกขั้นตอนการผลิต ไม่มีสารเติมแต่ง (หมายเลข E Numbers) และไม่มีการเติมแต่งกลิ่น รวมไปถึงสารที่ไม่ต้องระบุบนฉลาก เช่น อาหารเลี้ยงจุลินทรีย์เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnological Culture Media) และสารช่วยในการแปรรูป เพื่อให้มั่นใจได้ว่าน้ำแอปเปิ้ลและไวน์ไม่ได้ผ่านการทำให้ใสด้วยเจลาติน น้ำตาลไม่ได้ผ่านการแปรรูปด้วยกระดูกป่น และขนมปังไม่ได้ผ่านการแปรรูปด้วยซิสเทอีน (Cysteine) ที่ทำจากขนหมู เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายรับรอง V-Label Vegetarisch จะอนุญาตให้ใช้น้ำนมเหลือง (Colostrum) ไข่ชนิด Free-range ขี้ผึ้ง และไขมันขนสัตว์ในการผลิตและผลิตภัณฑ์สุดท้ายได้

 

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องหมายรับรอง Vegan Quality Mark หรือ Vegan Trademark ที่ได้รับการยอมรับระดับสากลและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในสหภาพยุโรป ซึ่งก่อตั้งและให้การรับรองโดย The Vegan Society ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กว่า 65,000 รายการทั่วโลกที่ผ่านการรับรองและได้รับเครื่องหมาย Vegan รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ของใช้ภายในบ้าน และอื่นๆ การได้รับเครื่องหมายรับรองทำให้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มั่นใจในการประชาสัมพันธ์ความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ของตน และได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภควีแกน

 

บทวิเคราะห์และความเห็นของ สคต.

ตลาดอาหาร Plant-based ในยุโรปเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และแม้ว่าตลาดอาหาร Plant-based ในเนเธอร์แลนด์ปีที่ผ่านมาจะทรงตัว แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากกระแสการรักษ์สุขภาพ รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม และการตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงเนเธอร์แลนด์มีผู้บริโภคกลุ่มที่เป็นมังสวิรัติและวีแกน กลุ่มที่เป็น Flexitarian และผู้บริโภคกลุ่มที่มีเป้าหมายที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลงจำนวนมาก อีกทั้งผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์มีการใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based เฉลี่ยต่อคนสูงที่สุดในสหภาพยุโรป และมีปริมาณการบริโภคอาหาร Plant-based ต่อคนมากที่สุดในสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ยังได้แรงสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมอาหารในการคิดค้น วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ให้มีรูปลักษณ์ รสชาติ และเนื้อสัมผัสที่เหมือนหรือใกล้เคียงเนื้อสัตว์แท้ๆ รวมทั้งมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีขึ้น ทำให้มีผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ออกมาวางจำหน่ายมากมายในตลาด ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกจำนวนมากและสามารถเลือกสรรผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ได้ตรงตามความสนใจ ความชอบ และความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคน ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหารเนเธอร์แลนด์ยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีทั้งการซื้อกิจการ การขยายกิจการ และการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ทั้งในเรื่องรสชาติ เนื้อสัมผัส ราคา และความสะดวก รวมถึงบริษัทผู้ผลิตอาหาร Plant-based รายใหญ่จากสหรัฐฯ อย่าง Beyond Meat ก็เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาหาร Plant-based ในเนเธอร์แลนด์ ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ตลาดอาหาร Plant-based ในเนเธอร์แลนด์สามารถเติบโตได้และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากรายงานการศึกษาโอกาสของตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ในเนเธอร์แลนด์ของธนาคาร ABN AMRO คาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2573 หากผลิตภัณฑ์ได้รับการคิดค้น พัฒนา และมีการนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based ที่ได้มาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของ The European Food Safety Authority มีรูปลักษณ์ รสชาติ กลิ่น และเนื้อสัมผัสใกล้เคียงหรือเหมือนเนื้อสัตว์จริง และมีการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตอย่างคุ้มค่าและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อุตสาหกรรมอาหารของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยเป็นที่ยอมรับทั้งด้านคุณภาพและรสชาติ และไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นครัวของโลกหรือ Kitchen of the World จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความสามารถที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถคิดค้นนวัตกรรมในการผลิตอาหาร Plant-based ให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย เพื่อสามารถคว้าโอกาสในการเจาะและขยายตลาดสินค้าอาหาร Plant-based มายังเนเธอร์แลนด์และตลาดอื่นๆ ในยุโรปได้  แต่อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการควรศึกษาเรื่องมาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบของสหภาพยุโรป อาทิ กฎระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร กฎระเบียบเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์อาหารและฉลากอาหาร และกฎระเบียบเรื่องอาหารใหม่ เป็นต้น เพื่อให้สินค้าของไทยเป็นไปตามกฎระเบียบ ข้อกำหนด และมาตรฐานของสหภาพยุโรป และพร้อมที่จะเจาะและขยายตลาดในเนเธอร์แลนด์และยุโรป

ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยที่สนใจจะเจาะและขยายตลาดสินค้าอาหาร Plant-based มายังเนเธอร์แลนด์และยุโรปสามารถเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในเนเธอร์แลนด์ อาทิ งานแสดงสินค้า Free From Functional Food & Health Ingredients ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารเฉพาะทางเพียงหนึ่งเดียวในกลุ่มประเทศ Benelux และเป็นงานแสดงสินค้าแบบเจาะจงที่สุดในยุโรป (Vertical Trade Show) โดยเฉพาะสินค้า Free From, Organic, Plant-based และอาหารเพื่อสุขภาพ และยังเป็นงานแสดงสินค้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการเปิดตัวอาหารแห่งอนาคตอีกด้วย งานแสดงสินค้า HORECAVA ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าด้านอุตสาหกรรมการบริการ (Hospitality Industry) ที่ใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์ มีการจัดแสดงทั้งสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่ไม่ใช่อาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการบริการจัดเลี้ยง โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ ผับ บาร์ และอื่นๆ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มธุรกิจ HORECA ในเนเธอร์แลนด์และยุโรป และงานแสดงสินค้า PLMA World of Private Label ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและสินค้าที่ไม่ใช่อาหารขนาดใหญ่ เพื่อเจาะตลาดสินค้ากลุ่ม Private Label Brand ที่กำลังมีการขยายตัวทั้งในเนเธอร์แลนด์และยุโรป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

————————————————–

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login