หน้าแรกTrade insightอาหารอื่นๆ > แนวโน้มตลาดสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของอิตาลี

แนวโน้มตลาดสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของอิตาลี

แนวโน้มตลาดสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของอิตาลี ปี 2565

1. สถานการณ์ทั่วไป
การเปลี่ยนแปลงระหว่างปี 2550 ถึง 2564 ทำให้เกิดบทบาทใหม่ของสัตว์เลี้ยงในครอบครัว เป็นผลมาจากวิวัฒนาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์เลี้ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้อัตราการหาสัตว์มาเลี้ยงด้วยความรักใคร่เสมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การจัดหาอาหารและผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงปี 2563 ที่ที่มีการล็อกดาวน์โรคระบาดโควิด-19 เป็นส่วนผลักดันให้หลายครอบครัวหาสัตว์เลี้ยงมาอยู่เป็นเพื่อนในช่วงที่ต้องถูกกักตัวอยู่กับบ้านเพื่อคลายความวิตกกังวล และเป็นช่วงที่มีเวลาว่างมากที่สุดในการดูแลสัตว์เลี้ยง เจ้าของสัตว์เลี้ยงเกิดความผูกพันและเอาใจใส่ต่อสัตว์เลี้ยงมากเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องอาหารที่ผู้ซื้อใส่ใจในการอ่านฉลากอย่างรอบคอบและพยายามหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสารกันบูดหรือสารปรุงแต่งในส่วนผสม รวมถึงข้าวของเครื่องใช้สำหรับดูแลสัตว์เลี้ยงก็ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น โดยมีเรื่องของความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นองค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนตลาด ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเจ้าของสุนัข มีแนวโน้มเชื่อมโยงถึงสัตว์อื่นๆด้วย สัตว์เลี้ยงไม่ได้อยู่แต่ในบ้านหรือสวนสาธารณะอีกต่อไป ผู้บริโภคชาวอิตาลีและโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หาอาหารที่สมดุลที่ตอบสนองความต้องการของสัตว์ที่เฉพาะเจาะขึ้น ที่เน้นด้านโภชนาการและสุขภาพโดยไม่ลืมสิ่งแวดล้อม เช่น อาหารประเภทผักหรือแมลง ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมหรือระดับซูเปอร์พรีเมียม หรืออาหารทางเลือก (Functional food) เป็นต้น ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงเรียกร้องและเสาะหาผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้นเรื่อยๆ ย่อยง่ายมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับระยะการเติบโตและวิถีชีวิตของสัตว์ ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายควบคู่ไปกับความใส่ใจในวัตถุดิบที่มีคุณภาพด้วยส่วนผสมจากธรรมชาติและด้วยสูตรพิเศษที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับ(เจ้าของ)สัตว์เลี้ยง ที่เลือกอาหารสัตว์เลี้ยงอย่างพิถีพิถัน ด้วยการติดตามดูข่าวสารล่าสุดและการปกป้องสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของสัตว์เลี้ยงคือสิ่งที่เจ้าของให้ความเอาใจใส่มากกว่าสมัยก่อน

2. ข้อมูลตลาดสัตว์เลี้ยง
ปี 2565 จำนวนสัตว์เลี้ยงในอิตาลี มีจำนวนทั้งสิ้น 65 ล้านตัว แบ่งออกเป็นสัตว์ประเภทต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้
1. ปลา มีจำนวน 29.9 ล้านตัว
2. นก มีจำนวน 12.9 ล้านตัว
3. แมว มีจำนวน 10.2 ล้านตัว
4. สุนัข มีจำนวน 8.8 ล้านตัว
5. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ หนูตะเภา กระรอก ฯลฯ มีจำนวน 1.8 ล้านตัว
6. สัตว์เลื้อยคลาน เช่น เต่า อีกัวน่า กิ้งก่า ฯลฯ มีจำนวน 1.4 ล้านตัว

3. ขนาดและแนวโน้มตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง
ตลาดการจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง(สุนัขและแมว) ในอิตาลี ปี 2565 มีมูลค่า 2,759.5 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น +11.4% เมื่อเทียบกับปี 2564 (ที่มีมูลค่า 2,478 ล้านยูโร) ในด้านปริมาณ มีจำนวน 673 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้น +0.8% เมื่อเทียบกับปี 2564 (ที่มีมูลค่า 668 ล้านกิโลกรัม)
4. ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงอื่นๆ
ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงอื่นๆ(ไม่รวมสุนัขและแมว) มีมูลค่าการค้ามากกว่า 13 ล้านยูโร การจำหน่ายเติบโตเพิ่มขึ้น +5.6% เมื่อเทียบกับปี 2564 มีปริมาณ 3.1 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้น +2.3% เมื่อเทียบกับปี 2564 หรือคิดเป็น 5,422 ชิ้น ราคาเฉลี่ย 4.24 ยูโร/กิโลกรัม สูงขึ้น +3.2% เมื่อเทียบกับปี 2564

5. ตลาดของใช้และอุปกรณ์ดูแลสัตว์เลี้ยง
ในปี 2565 ของใช้และอุปกรณ์ (ยกเว้นกะบะทรายแมว) มีมูลค่า 80.1 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น +3.2% เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีส่วนแบ่งตลาดดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย ส่วนแบ่งตลาด 50.4% จำหน่ายเพิ่มขึ้น +11.7%
2. ผลิตภัณฑ์อื่นๆ (สายจูง คอกสุนัข ชามอาหาร/น้ำ กรงแมว กรงนก ตู้ปลา ตู้เลี้ยงเต่า และเครื่องมือต่างๆ) มีส่วนแบ่งตลาด 17.1%
3. ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิต มีส่วนแบ่งตลาด 14.7%
4. ผลิตภัณฑ์สำหรับขบกัด มีส่วนแบ่งตลาด 9.8%
5. ของเล่น มีส่วนแบ่งตลาด 8.0%
ส่วนกะบะทรายแมว มีมูลค่า 87.7 ล้านยูโร จำหน่ายเพิ่มขึ้น +9.7% เมื่อเทียบกับปี 2564

6. แนวโน้มอาหารสัตว์เลี้ยง
ในปี 2565 จากการสำรวจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงมากกว่า 4,700 รายการ ที่เป็นอาหารประเภท อุดมไปด้วย (Rich in…) เช่น “มีวิตามินสูง” “มีโปรตีนสูง” “อุดมไปด้วยไฟเบอร์” “มีโอเมก้า 3-6” “อุดมด้วยธาตุเหล็ก” “แหล่งแคลเซียม” “พรีไบโอติก” “ส่วนผสมจากธรรมชาติ” “เสริมแร่ธาตุ” หรือ “ทำจากเนื้อ/ปลาสด” เป็นต้น ส่วนอาหารประเภทปราศจาก (Free from…) เช่น “น้ำตาลต่ำ” “แคลอรี่ต่ำ” “ปราศจากน้ำตาล” “ไม่ใช้น้ำมันปาล์ม” “ปราศจากไขมัน” “ปราศจากเกลือ” “ปราศจากสารให้ความหวาน” “ปราศจากสารกันบูด” “ปราศจาก GMO” เป็นต้น และอาหารประเภท “Made in Italy” อาหารสุนัขและแมวมีสัดส่วนประมาณ 80% ของอาหาร 3 ประเภทดังกล่าว

7. การนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงของอิตาลี
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่าระหว่างเดือนมกราคม – เดือนเมษายน 2566 อิตาลีนำเข้าอาหารสุนัขและแมวเพื่อการขายปลีก (HS230910) จากทั่วโลกมีมูลค่า 288.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้าลดลง -8.31% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม – เดือนเมษายน 2565 (ที่มีมูลค่า 314.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยประเทศที่อิตาลีนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ฝรั่งเศส มูลค่า 71.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-8.48%) เยอรมนี มูลค่า 45.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-25.44%) เนเธอร์แลนด์ มูลค่า 37.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+334.65%) ไทย มูลค่า 30.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-50.58%) และ ฮังการี มูลค่า 15.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-0.28%) ซึ่งประเทศคู่นำเข้าที่สำคัญของอิตาลีส่วนใหญ่เป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ส่วนการนำเข้าจากไทยแม้ว่าจะลดลง แต่ไทยก็ยังจัดเป็นคู่นำเข้าเอเชียอันดับแรก และการนำเข้าของปี 2565 อิตาลีนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นถึง 33.79%
8. การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมาอิตาลี
ปี 2566 (เดือนมกราคม – เดือนพฤษภาคม) การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยไปทั่วโลก มีมูลค่า 781.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -26.62% เมื่อเทียบกับปี 2565 (ที่มีมูลค่า 1,065.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และหดตัวลงในทุกตลาดสำคัญ 10 อันดับแรก โดยอิตาลีเป็นตลาดที่หดตัวมากที่สุด
การส่งออกไปอิตาลีเป็นการส่งออกอาหารสัตว์สำหรับสุนัขและแมวทั้งหมด มีมูลค่า 48.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -49.16% เมื่อเทียบกับปี 2565 (ที่มีมูลค่า 94.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) การส่งออกไปอิตาลีเป็นลำดับที่ 4 รองจากสหรัฐอเมริกา (มูลค่า 204.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง-41.52%) ญี่ปุ่น (125.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -7.16%) และ มาเลเซีย (56.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -19.55%) เมื่อเทียบกับห้าเดือนแรกของปี 2565

9. งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหารและอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง
งานแสดงสินค้าสัตว์เลี้ยง (21^Z0OOMARK)
ผู้จัด BolognaFiere S.p.A.
Viale della Fiera, 20 – 40127 Bologna, Italia
E-mail: bolognafiere@pec.bolognafiere.it
กำหนดจัดครั้งต่อไประหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2568 ณ ศูนย์แสดงสินค้าเมืองโบโลญญ่า โดยงานครั้งล่าสุด จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-17 พฤษภาคม 2566
มีผู้เข้าร่วมสดงสินค้า 1,060 ราย จาก 57 ประเทศ (รวมถึงประเทศไทย)
ผู้เข้าชมงานมากกว่า 27,000 ราย จาก 85 ประเทศ
Zoomark International เป็นงานประเภท B2B ที่จัดขึ้นทุก 2 ปี งานระดับนานาชาติสำหรับผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานสัตว์เลี้ยงทั้งหมด ตั้งแต่อาหารไปจนถึงผลิตภัณฑ์สำหรับการดูแลแสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ เครื่องจักร โลจิสติกส์ และงานบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสัตว์เลี้ยง (ตัดขน/เล็บ อาบน้ำ สัตวแพทย์ ฯลฯ) มีการจัดการประชุม การอภิปราย และการพบปะแลกเปลี่ยนทักษาะระหว่างผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีกและเครือข่ายเฉพาะทาง นอกจากนี้ จะมีการจัดงาน Zoomark China ที่เมืองกว่างโจว ระหว่างวันที่ 23 – 24 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นการจัดครั้งแรกร่วมกับประเทศจีน

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็น สคต.มิลาน
1. ผู้ประกอบการควรศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในกลุ่มสัตว์เลี้ยงในอิตาลีที่สัตว์เลี้ยงถูกจัดลำดับความสำคัญให้เป็นสมาชิกในครอบครัว เจ้าของจึงให้ความรักความเอาใจใส่ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ปล่อยปะละเลยในการดูแลด้านสุขอนามัยและอาหาร และต้องเชื่อมั่นในยี่ห้อที่เลือกว่ามีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เจ้าของส่วนใหญ่มักศึกษาจากการอ่านฉลากอย่างรอบคอบ และให้ความสนใจต่ออายุ ขนาด พันธุ์ ฯลฯ ของแมวและสุนัข ตลอดจนอาหารทางเลือกและอาหารสำหรับโรคเฉพาะทาง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการควรศึกษาความต้องการของตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีข้อเสนอหลากหลายและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
2. ผู้ประกอบการควรตระหนักถึงแนวโน้มที่เป็นกำลังเป็นกระแส ที่ช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมคุณค่าอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์ที่อุดมไปด้วย…(Rich in…) หรือปราศจาก…(Free from) ได้แก่ เสริมวิตามินและแร่ธาตุ เสริมโอเมก้า 3 จากวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ หรือปราศจากสารกันบูด สารปรุงแต่ง น้ำตาล ฯลฯ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่มีความใกล้เคียงอาหารเพื่อการบริโภคของมนุษย์จะช่วยสร้างความพึงพอใจและเสริมเกณฑ์ในการพิจารณาซื้อแก่เจ้าของสัตว์เลี้ยง
3. ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับตลาดสินค้าพรีเมี่ยมหรือซุปเปอร์พรีเมี่ยม ที่มุ่งให้ความสำคัญกับข้อได้เปรียบทางสุขอนามัย ความปลอดภัย และคุณภาพสูงสุด รวมถึงบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ที่ผลิตจากวัตดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ง่าย
4. การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน จำเป็นต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้วยการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ข้อมูล นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืนมากขึ้นและใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงและมุ่งการผลิตตามนโยบาย BCG ที่ผลิตภัณฑ์สามารถตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวได้ในทุกกระบวนการของการดำเนินงาน
5. นอกจากจะต้องสร้างความแตกต่างและโดดเด่นเหนือคู่แข่งตามนโยบาย BCG แล้ว ยังจำเป็นต้องพัฒนาการสื่อสารที่เหมาะสมและดึงดูดความสนใจให้แก่ผลิตภัณฑ์ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
6. ผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มตลาดดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ด้านสุขอนามัย เช่น ยาป้องกันเห็บเหาแมลง แชมพู ฯลฯ อุปกรณ์เสริม เช่น แปรง กระเป๋า เสื่อ กระบะทราย สายจูง ปลอกคอ ชามจานอาหาร เสื้อผ้ากันหนาว ฯลฯ และเกมที่เป็นประโยชน์ สามารถพัฒนาจิตใจและร่างกายได้ด้วย
7. การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ ศึกษาแนวโน้มสินค้าและตลาด อีกทั้งสามารถใช้เป็นจุดพบปะและนัดพบนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี
——————————————————————————-
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
จัดทำโดย Business Support Center
มิถุนายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login