หน้าแรกTrade insightอาหาร > แนวโน้มตลาดสินค้ากุ้งในเยอรมนี

แนวโน้มตลาดสินค้ากุ้งในเยอรมนี

แนวโน้มตลาดและความต้องการของผู้บริโภค

ผู้บริโภคชาวเยอรมันบริโภคสัตว์น้ำและอาหารทะเลไม่มากนัก ทั้งนี้ชาวเยอรมันไม่นิยมแกะก้างหรือเปลือก โดยจะเห็นได้ว่าอาหารทะเลส่วนใหญ่ในร้านอาหารหรือสำหรับทำที่บ้านมักเป็นแบบไร้ก้างหรือไร้เปลือก จากสถิติของสมาคมศูนย์ข้อมูลปลาของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Fisch-Informationszentrum e.V. ) พบว่า ในปี 2022 ชาวเยอรมันบริโภคกุ้งประมาณ 55,000 ตันต่อปี หรือชาวเยอรมันบริโภคกุ้งประมาณ 750 กรัมต่อปีต่อคน เมื่อคิดเป็นปริมาณต่อหัวสำหรับประชากรในเยอรมนีประมาณ 83 ล้านคน และมีแนวโน้มการบริโภคลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การบริโภคกุ้งในเยอรมันสูงเป็นอันดับที่ 4 คิดเป็นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกันการบริโภคสัตว์น้ำและอาหารทะเลอื่นๆ รองลงมาจาก ปลาอลาสก้าพอลล็อค (ร้อยละ 19.1) ปลาแซลมอน ร้อยละ 17.1 และปลาเฮร์ริง ร้อยละ 9.9

 

ทั้งนี้ ประเทศในยุโรปต้องรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจจากสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ที่ทำให้ราคาก๊าซและพลังงานพุ่งสูงขึ้นมาก นําไปสู่ต้นทุนการจัดเก็บสินค้าแช่แข็งที่สูงขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้น จากภาวะอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วยุโรป อีกทั้งผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้น นําไปสู่การบริโภคกุ้งที่ลดลง ปัจจัยลบเหล่านี้ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งไปยังสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2024

 

การนำเข้ากุ้งของเยอรมนี

การนำเข้ากุ้งในเยอรมนีส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพื่อการบริโภคในประเทศ ซึ่งแตกต่างจากเนเธอร์แลนด์ที่มีการนำเข้ากุ้งเพื่อการแปรรูปและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป อย่างไรก็ตาม ในเยอรมนีเริ่มมีฟาร์มเพาะพันธ์กุ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถผลิตกุ้งได้ประมาณปีละ 100 ตัน แต่ราคากุ้งที่เพาะเลี้ยงในเยอรมนียังมีราคาแพงกว่ากุ้งแช่แข็งนำเข้าอยู่มาก กุ้งที่จำหน่ายในเยอรมนีส่วนใหญ่เป็นกุ้งแช่แข็งนำเข้ามาจากฟาร์มเลี้ยงกุ้งในประเทศแถบเอเชีย และละตินอเมริกา ชาวเยอรมันบริโภคกุ้งขาวตัดหัวมากที่สุดในยุโรป นอกจากนี้ ยังมีการบริโภคกุ้งกุลาดำแช่แข็งเป็นสัดส่วนรองลงมา ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากเวียดนามและบังคลาเทศ

 

ในปี 2023 (ม.ค. – ก.ย.) เยอรมนีมีมูลค่าการนำเข้ากุ้งจากประเทศไทยเป็นอันดับที่ 14 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.53 ของการนำเข้ากุ้งทั้งหมดของเยอรมนี มูลค่าประมาณ 2.63 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 46.66 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยผลิตภัณฑ์กุ้งที่นำเข้ามาในเยอรมนีจากไทยส่วนใหญ่เป็นกุ้งขาว ได้แก่ (1) กุ้งแปรรูปแช่แข็งบรรจุภาชนะที่อากาศผ่านเข้าออกไม่ได้ มูลค่า 1.86 ล้านเหรียญ สัดส่วนร้อยละ 71 (2) กุ้งสดแช่แข็ง มูลค่า 0.57 ล้านเหรียญ สัดส่วนร้อยละ 22 (3) กุ้งมีชีวิต มูลค่า 0.16 ล้านเหรียญ สัดส่วนร้อยละ 6  อย่างไรก็ตาม ไม่พบข้อมูลการนำเข้ากุ้งก้ามกรามแช่แข็งหรือผลิตภัณฑ์กุ้งก้ามกรามจากไทย

ช่องทางการจำหน่ายสัตว์น้ำและอาหารทะเลในเยอรมนี

ผู้บริโภคส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 50 นิยมซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและอาหารทะเลแช่แข็งใน
ร้าน Discounter และซูเปอร์มาร์เก็ต กว่าร้อยละ 40 ร้าน Discounter และซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ได้รับความนิยมในเยอรมนี ได้แก่ Aldi, Lidl, Penny, Rewe, Kaufland, Edeka เป็นต้น

 

กฎระเบียบและอัตราภาษีการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้ง

กฎระเบียบการนำเข้าสินค้ากุ้งของเยอรมนีใช้ข้อกำหนดเดียวกับของสหภาพยุโรปที่ให้ความสำคัญและเข้มงวดต่อการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำที่นำเข้าเป็นอย่างมาก โดยจะต้องมีคุณภาพ และมีความปลอดภัยตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป ดังนี้

1. ผลิตภัณฑ์จะต้องติดฉลากอย่างถูกต้อง และแสดงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ผู้ส่งออกจะต้องตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิตได้ ตั้งแต่อาหารสัตว์ กระบวนการผลิต การแปรรูป การจำหน่าย การขนส่ง และการขายปลีก

2. สินค้าสัตว์น้ำต้องผลิตจากโรงงานผลิตและแปรรูปที่ผ่านการรับรองจากกรมประมงและมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนรายชื่อโรงงานที่สามารถส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรป รวมทั้งต้องมีหนังสือรับรองสุขอนามัยสินค้าสัตว์น้ำที่ออกโดยกรมประมงประกอบสินค้าทุกรุ่น อีกทั้ง ต้องให้ความเข้มงวดในการควบคุมการผลิตเพื่อให้สินค้ามีความปลอดภัยสอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานยุโรป โดยควรรักษามาตรฐานการผลิตตามหลักการ Hazard Analysis Critical Control Point (HACCP) *สามารถติดต่อได้ที่กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง กรมประมง

3. สารโลหะหนักตกค้างในสัตว์น้ำต้องไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดของสหภาพยุโรป เช่น

ตะกั่ว มีสารตกค้างในกุ้งได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักกุ้ง 1 กิโลกรัม

ปรอท มีสารตกค้างในกุ้งได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักกุ้ง 1 กิโลกรัม

แคดเมียม มีสารตกค้างในกุ้งได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักกุ้ง 1 กิโลกรัม

4. ยาและสารเคมีที่ห้ามใช้ อาทิ คลอแรมฟินิคอล (Chloramphenicol) ไนโทรฟูราโซน (Nitrofurazone) ไนโทรฟูแรนโทอิน (Nitrofuratoin) ฟูราโซลิโดน (Furazolidone) ฟูรอลทาโดน (Furaltadone) มาลาไคท์ กรีน (Malachite Green) เป็นต้น

*ข้อมูลเพิ่มเติม Commission Regulation (EC) No 1881/2006  และ Commission Regulation (EC) No 37/2010

อัตราภาษีนำเข้ากุ้งไทย กุ้งแช่แข็ง อัตราร้อยละ 12 และกุ้งแปรรูป อัตราร้อยละ 20

*ข้อมูลเพิ่มเติม www.auskunft.ezt-online.de

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะของ สคต.

ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมกุ้งและอาหารทะเลมีศักยภาพสูงในการผลิตและแปรรูปสินค้า อีกทั้งมีเทคโนโลยีการผลิตมีความหลากหลาย ควรแปรรูปและพัฒนาสินค้าให้ได้ตรงตามความต้องการของตลาด เนื่องจาก การแข่งขันของกุ้งสดแช่แข็งในตลาดเยอรมนียังสูง อีกทั้งความสามรถในการแข่งขันด้านราคาของกุ้งสดแช่แข็งไทยยังมีน้อยกว่าคู่แข่งอย่าง เวียดนาม อินเดีย และเอกวาดอร์ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรศึกษาความต้องการของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด และรักษามาตรฐานการผลิตให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานของยุโรป รวมทั้งสนับสนุนการใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม ทุกกระบวนการผลิต เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมกุ้งไทย และป้องกันไม่ให้สหภาพยุโรปนำมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า

 

ที่มา: Image by Farhad Ibrahimzade on Unsplash

ที่มาข้อมูล:

Fisch-Informationszentrum e.V.

www. eur-lex.europa.eu

Global Trade Atlas

MenuCom

อ่านข่าวฉบับเต็ม : แนวโน้มตลาดสินค้ากุ้งในเยอรมนี

Login