สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) อยู่ในกลุ่ม GCC ซึ่งประเทศสมาชิกนั้นพึ่งพารายได้จากไฮโดรคาร์บอน ต่างก็วางแผนที่จะกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและแหล่งรายได้ รวมทั้งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ โดยยูเออีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความคืบหน้าในด้านดังกล่าว โดยได้พัฒนาหลายภาคส่วน เช่น การบริการด้านการเงิน การค้า และการท่องเที่ยว รวมไปถึงการปฏิรูปทางสังคมและธุรกิจ ในขณะที่เทคโนโลยีที่ก้าวเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน จึงเน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Sheikh Mohammed bin Rashid รองประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และผู้ปกครองดูไบ ประกาศแผนที่จะพัฒนาเศรษฐกิจยูเออีให้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดีที่สุดและอยู่ในระดับแนวหน้าของเศรษฐกิจโลก โดยมีหลักการสำคัญ 10 ประการที่จะช่วยให้แผนดังกล่าวเป็นจริงได้
รัฐบาลจัดทำเอกสาร “Economic Principles of UAE” แผนการเดินหน้าของประเทศ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจดิจิตัล วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อประกาศว่า ยูเออีเป็นเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีที่เปิดกว้างทั่วโลก ดึงดูดผู้มีความสามารถระดับสูงจากทั่วโลก โดยเน้นการลงทุนของประเทศในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และการส่งเสริมการพัฒนา เสริมสร้างศักยภาพให้กับคนหนุ่มสาวยูเออีพื้นเมือง เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่มีประสิทธิภาพ พร้อมชี้ให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสมดุล ซึ่งแผนดังกล่าวอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่เพื่อมุ่งพัฒนาประเทศสู่อนาคต บนหลักการสำคัญหรือ The Principles of the 50 ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อนำอุตสาหกรรมการผลิตของยูเออีเข้าสู่เวทีโลก รวมถึงผลักดันให้ยูเออีเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรม และแรงงานทักษะ รวมทั้งทางด้านอุตสาหกรรมขั้นสูงในระดับโลก และพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตสินค้านวัตกรรมแห่งอนาคต ให้กลายเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนของการเดินไกลไปอีก 50 ปีข้างหน้า
นอกเหนือจากระบบการเงินที่แข็งแกร่งและมั่นคงแล้ว ยูเออียังแสดงสภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่ยุติธรรม โดยมีความโปร่งใสและยึดถือหลักนิติธรรม สนับสนุนให้กลุ่มนักธุรกิจเข้าถึงบริการธนาคารที่เข้มแข็งอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและลอจิสติกส์ที่ดีที่สุด
แผนงานล่าสุดที่มุ่งเสริมสร้างโมเมนตัมการพัฒนาประเทศภายใน 10 ปีรอบนี้ที่รัฐบาลประกาศมีประเด็นที่สำคัญ คือ
- ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี
ระบบเศรษฐกิจที่บุคคลและธุรกิจสามารถแข่งขันกันขายสินค้าและบริการเพื่อทำกำไรโดยปราศจากการแทรกแซงหรือแทรกแซงเพียงเล็กน้อยจากรัฐบาลหรือหน่วยงานภายนอกอื่น ๆ โดยปล่อยให้ความต้องการสินค้า (Demand) กับการจัดหาหรือการขาย (Supply) เป็นไปโดยปราศจากอุปสรรคจากข้อกำหนดกฎเกณฑ์ของภาครัฐอุปสงค์และอุปทานจะเป็นตัวกำหนดราคาของสินค้าและบริการ และธุรกิจมีอิสระในการกำหนดราคาสินค้าของตนเองตามเงื่อนไขของตลาด ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีจึงเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคเอกชนคิดค้นและแข่งขันเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภค เพื่อขับเคลื่อนการลงทุน สำรวจโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการส่งออก กระจายแหล่งนำเข้าที่หลากหลาย
- ดึงดูดผู้เชี่ยวชาญต่างชาติจากทุกภาคส่วนทั่วโลก
ด้วยจำนวนประชากร 10 ล้านคน มีคนอาหรับท้องถิ่นเพียง 1 ล้านคน (ประชากรต่างชาติ 9 ล้านคน) จำเป็นต้องดึงดูดบุคคลากรที่มีทักษะ ความเชี่ยวชาญและความสามารถจากประเทศอื่นๆ เข้ามารับบทบาทที่สำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ สนับสนุนการเติบโตของภาคส่วนสำคัญ เช่น เทคโนโลยี การเงิน นวัตกรรม และวิศวกรรม ช่วยทำให้ยูเออีรักษาบทบาทที่สำคัญบนเวทีโลกได้อย่างมั่นคง รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งสตาร์ทอัพ การดึงดูดผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติ การดึงคนเก่งเข้ามาพัฒนาประเทศ นับเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่หลายประเทศต่างก็เลือกใช้ เพราะทุกชาติได้ประจักษ์แล้วว่า การมีบุคลากรทักษะสูงเข้ามาในประเทศจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจได้
- “เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy)
เป็นระบบเศรษฐกิจสำคัญที่รัฐบาลใช้ในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศ และภาคธุรกิจ บนฐานของเทคโนโลยีดิจิทัลในการรองรับการเติบโต ผู้ประกอบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสร้างตัวแบบทางธุรกิจใหม่ (New Innovative Business Model) ให้กับผู้บริโภค และผู้ประกอบการมีการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และกระบวนการผลิตใหม่ (Manufacturing 4.0) ที่ช่วยให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- พัฒนาคนหนุ่มสาวนอาหรับท้องถิ่น
รัฐบาลพยายามผลักดันหนุ่มสาวชาวยูเออีพื้นเมืองเข้าทำงานกับบริษัทเอกชนให้เพิ่มมากขึ้น เช่นออกเป็นกฎหมายกำหนดให้บริษัทเอกชน (ที่มีพนักงาน 50 คน ขึ้นไป) จ้างงานคนยูเออีในตำแหน่งงานมีทักษะ สัดส่วน 1% และเพิ่มเป็น 2% ของการจ้างงานภายในปี 2566 เป็นต้น
- เศรษฐกิจหมุนเวียนและสมดุล
ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหลักที่ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ที่ประกอบด้วยวัตถุดิบ พลังงาน และการจัดการของเหลือทิ้งหรือขยะที่เกิดจากการผลิต บริโภค รวมไปถึงเมื่อสินค้าหมดอายุอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลยูเออีให้ความสำคัญกับการออกกฎหมายและวางนโยบายเพื่อสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรและพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แผนและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่มุ่ง “อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อคนรุ่นหลัง”
- ระบบการเงินที่มีเสถียรภาพและมั่นคง
ประเทศนี้ได้รับรองระบบการคลังสาธารณะที่ยืดหยุ่น ภาคการเงินที่มีมาตรฐานสากล บริการทางการเงินโปร่งใส ประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง สร้างสภาพแวดล้อมที่น่าสนใจสําหรับธนาคารและสถาบันการเงินทั่วโลก
- สภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่แข็งแกร่งและเป็นธรรม
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์รับประกันว่าจะสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่มั่นคง โดยจะได้รับการสนับสนุนจากกฎหมายที่ยืดหยุ่นและนโยบายที่เอื้อต่อธุรกิจ ระบบในการออกกฎหมายที่เป็นธรรม เป็นหลักมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้คุ้มครองผู้ลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติ ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ
- ความโปร่งใสและกฎหมาย
ทางการยูเออีสร้างสภาพแวดล้อมทีทำให้การค้าเจริญรุ่งเรือง ภายใต้บริบทของความน่าเชื่อถือความซื่อสัตย์และการจัดการทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบ ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้และให้ข้อมูลสาธารณะที่ถูกต้องเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจทางธุรกิจและข่าวกรอง ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
- การธนาคารที่แข็งแกร่ง
อุตสาหกรรมนี้เป็นไปตามมาตรฐานที่ดีที่สุดในโลก มุ่งมั่นที่จะปกป้องการออมส่วนบุคคลและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงินที่ปลอดภัยของลูกค้า ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการปฏิบัติตามกฎระเบียบการปกป้องข้อมูลของธนาคารและความมั่นคงทางการเงิน
- โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์
ซึ่งรวมถึงท่าเรือ สนามบิน สายการบิน และสายการเดินเรือชั้นนำของโลก สิ่งนี้ตอกย้ำสถานะในฐานะศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและผู้คนหลักของโลก และเป็นศูนย์กลางการค้าที่เชื่อมระหว่างตะวันออกและตะวันตก โลกส่วนเหนือและส่วนใต้
ความเห็นของ สคต.ดูไบ
รัฐบาลยูเออีพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในการตอบรับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะหลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ได้ผลักดันให้เทคโนโลยีถูกนำมาใช้เร็วขึ้น รัฐบาลทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปรับเปลี่ยนแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ออกนโยบายใหม่ แก้ไขกฎหมาย การเร่งดึงดูดคนเก่งไปอยู่ประเทศตนเองเพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง เน้นพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน นำเศรษฐกิจก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่เน้นพัฒนาคุณภาพ (Quality) ความสร้างสรรค์ (Creativity) และความสามารถในการผลิต (Productivity) เพื่อสร้างสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High value-added) มากกว่าการเน้นแต่เฉพาะจำนวนและราคา เพราะหากนโยบายเศรษฐกิจยังเป็นไปในลักษณะแบบเดิม ก็เป็นที่น่ากังวลว่าเศรษฐกิจยูเออีจะไม่สามารถเติบโตได้รท่ามกลางปัญหาและข้อจำกัดที่ผ่านมา
อ่านข่าวฉบับเต็ม : แนวทางการปรับเศรษฐกิจและธุรกิจยูเออี 10 ปีข้างหน้า