หน้าแรกTrade insightดัชนีเศรษฐกิจการค้า > แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสแรกของปี 2563

แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสแรกของปี 2563

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสแรกของปี 2563 ??????????

                     วันนี้ (21 เมษายน 2563) นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสแรกของปี 2563 การส่งออกเดือนมีนาคม 2563 มีมูลค่า 22,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.17 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน จากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก สะท้อนถึงการฟื้นตัวในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างเครื่องคอมพิวเตอร์ มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากการกลับมาขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 17.59 และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากผลของสงครามการค้าเบาบางลง สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ทองคำ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และโซลาร์เซลล์ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

                     นอกจากนี้ สินค้าเกษตรแปรรูป อาทิ ผักและผลไม้ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย และอาหารสัตว์เลี้ยง ยังขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยกดดันมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 8.12 ของการส่งออกในเดือนมีนาคม เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคมขยายตัวร้อยละ 2.12 ขณะที่ภาพรวมไตรมาสแรกปี 2563 การส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 0.91 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ การส่งออกไทยไตรมาสแรกขยายตัวที่ร้อยละ 1.06

                     มูลค่าการค้ารวม ??????
                     ?????? มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมีนาคม 2563 การส่งออก มีมูลค่า 22,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.17 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 20,813 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.25 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 1,592 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมไตรมาสแรกปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 62,672 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 0.91 ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 58,738 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.92 ส่งผลให้ไตรมาสแรกปี 2563 การค้าเกินดุล 3,934 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
                     ??????มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท
เดือนมีนาคม 2563 การส่งออก มีมูลค่า 693,353 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.21 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 653,096 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.32 ส่งผลให้การค้า เกินดุล 40,257 ล้านบาท ภาพรวมไตรมาสแรกปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 1,903,157 ล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ 2.98 ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 1,808,691 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.90 ส่งผลให้ไตรมาสแรกปี 2563 การค้าเกินดุล 94,466 ล้านบาท

                     แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563 ??????
                     การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหารมีความเด่นชัดมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารของโลก สามารถใช้โอกาสดังกล่าวในการขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น ขณะที่ผลของสงครามการค้าเริ่มมีสัญญาณที่ดีตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยอุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพในการฟื้นตัวอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การกลับมาเปิดประเทศของจีนได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้ง สหรัฐอเมริกา และบางประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เตรียมที่จะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้บรรยากาศการค้าโดยภาพรวมกลับมาฟื้นตัว และทำให้การส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีมีทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก

                     1 – ความต้องการสินค้าอาหารในประเทศที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้น เป็นโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย
                     2 – การฟื้นตัวของประเทศที่ผ่านพ้นการระบาด โดยเฉพาะจีน ที่คาดว่าภาคการผลิตจะกลับมาดำเนินการเต็มรูปแบบภายในสิ้นเดือนเมษายน จะทำให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมไทยที่เป็นซัพพลายเชนของจีนมีความต่อเนื่องมากขึ้น
                     3 – ค่าเงินบาทไทยที่ยังอ่อนค่าทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จะช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคาสูง

                     สำหรับ การส่งเสริมการส่งออกปี 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้ความสำคัญกับการแก้ไขสถานการณ์การส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยได้สั่งการให้สำนักงานทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ต่างประเทศ จำนวน 58 แห่งทั่วโลก จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเชิงรุกผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเรื่องการส่งออก หรือ Online export clinic การหาช่องทางจำหน่ายให้กับสินค้าไทย และการจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ หรือ Online business matching เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยด้านการส่งออก ตลอดจนให้คำแนะนำด้านการขยายตลาดส่งออกในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องของการเดินทางและการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยคลายความกังวลในการหาตลาดส่งออกในระยะต่อไป

ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงข่าว ได้ที่ ????http://www.tpso.moc.go.th/th/node/10644

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)

Login