หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > เอกชนเริ่มออกมาแสดงท่าทีต้านการออกกฎระเบียบต่าง ๆ ของ EU

เอกชนเริ่มออกมาแสดงท่าทีต้านการออกกฎระเบียบต่าง ๆ ของ EU

น้อยครั้งที่จะเห็นภาพที่นาย Manfred Weber ผู้นำกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มพรรคประชาชนยุโรป (European People’s Party, EPP) จะอารมณ์ดีเป็นพิเศษ ทั้งนี้ มีมูลเหตุมาจากการที่สหภาพยุโรป (EU) ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะไม่ก่อภาระเพิ่มเติมให้แก่ภาคเอกชน โดยปัจจุบันนาย Weber สังกัดพรรค CDU – Christlich Demokratische Union Deutschlands (พรรคสหภาพคริสต์เตียนเพื่อประชาธิปไตยประเทศเยอรมนี) ได้ออกมากล่าวย้ำว่า “ในที่สุด EU ก็เริ่มเข้าใจสักทีและบรรดาผู้นำประเทศสมาชิก EU ต่างก็เริ่มออกมาแสดงท่าทีที่จะพักการปฏิรูปกฎระเบียบต่าง ๆ” ยกตัวอย่างเช่น นาย Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศส, นาย Alexander de Croo นายกรัฐมนตรีเบลเยี่ยม รวมถึง นาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (CDU) ต่างก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า EU ควรเบรคการปฏิรูปกฎระเบียบต่าง ๆ เอาไว้ก่อน และได้ออกคำสั่งให้กับข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ของ EU ว่า จนถึงช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้สภาฯ ควรจะหาวิธีลดข้อกำหนดต่าง ๆ ของ EU ลงสัก 25% เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชน

ที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องให้ EU ต้องพิจารณาหาแนวทางแก้ไขหรือปรับปรุงระบบเอกสารและกฎระเบียบที่ซับซ้อนให้น้อยลง ยกตัวอย่างในสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการการเกษตรของรัฐสภายุโรป คณะกรรมการฯ ต้องยอมรับกับความพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ EU กลุ่ม Renew Europe ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมของประเทศสมาชิกได้ร่วมมือกับกลุ่ม EPP (กลุ่มพรรคอนุรักษ์นิยม) และกลุ่มประชานิยมฝ่ายขวา ลงคะแนนคว่ำร่างกฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผน “Green Deals” ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของนาง von der Leyen นั่นเอง โดยสมาชิกสภาผู้แทนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รวมตัวกันเพื่อคัดค้านการปรับมาตรฐานไอเสีย Euro 7 ครั้งนี้ 2 ซึ่งผู้นำของประเทศฝรั่งเศสและอิตาลีเองก็ได้แสดงท่าที่จะออกมาปฏิเสธแผนของคณะกรรมาธิการ เพราะเกรงว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ และจะทำให้รถยนต์มีราคาสูงขึ้นไปอีก ในขณะที่ นาย Weber ผู้นำกลุ่ม EEP เห็นว่า การคัดค้านกฎระเบียบบางตัวของ EU กำลังเป็นไปด้วยดี โดยได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ว่า “ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประธานาธิบดี Macron เริ่มเปลี่ยนแนวทางทางการเมือง และหันมาเรียกร้องให้ EU หยุดการกำกับดูแลชั่วคราว” ซึ่งถึงเวลานี้สำหรับเยอรมนีคงต้องฝากความหวังไว้กับนาย Olaf Scholz นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่ควรจะต้องออกมาแสดงจุดยืนหรือท่าทีอะไรบ้าง นอกจากนี้ นาย Weber เห็นว่า ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องเร่งจัดการ นั่นก็คือ พระราชบัญญัติห่วงโซ่อุปทาน ที่ไม่เพียงต้องการจะบังคับให้มีการรักษามาตรฐานด้านสังคมและสิทธิมนุษยชนเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิกเท่านั้น แต่ควรจะบังคับให้ต้องตรวจสอบเรื่องนี้กับสินค้าที่ส่งออกมาจากต่างประเทศด้วย อย่างไรก็ดี นาย Weber ได้ตั้งข้อสังเกตไว้หนึ่งประเด็นนั่นก็คือ “ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยของเยอรมนี และสถานการณ์ตึงเครียดทั่วยุโรป พระราชบัญญัติห่วงโซ่อุปทานนี้ ยังคงมีความจำเป็นจริง ๆ หรือ”

จริง ๆ แล้ว คณะกรรมาธิการยุโรปไม่จำเป็นจะต้องทำตามข้อเสนอของนาย Weber และอาจจะออกมาแย้งว่า “การปฏิรูปกฎระเบียบนั้นควรต้องเหมาะสมกับระยะเวลาและต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการที่จะปฏิเสธแล้วไม่มีกฎระเบียบใด ๆ เลยมาควบคุมก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะก็มีเสียงเรียกร้องจากเอกชนด้วยเช่นกัน อย่างเช่นเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (Ai) หรือการตรวจสอบการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเสียงจากตัวแทนภาคเอกชนใน EU เองก็ออกมาให้ความเห็นว่า “คงเป็นไปไม่ได้ที่จะยกเลิกกฎระเบียบต่าง ๆ ออกไปให้หมด แต่อย่างไรก็ดีตอนนี้อาจจะต้องขอเบรคหรือชะลอไว้ก่อน” ซึ่งความซับซ้อนของกฎระเบียบและเอกสารของ EU มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดึงดูดหรือบรรยากาศการลงทุนในภูมิภาค EU ให้ลดความน่าสนใจลง นอกจากนี้ยังจะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคเอกชนในการปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้ด้วยโดยเฉพาะเรื่อง“พันธสัญญาด้านความยั่งยืน” ที่ล่าสุดพึ่งขยายการรายงานด้าน “Corporate Social Responsibility” ออกไปอีก โดยบังคับให้ภาคเอกชนต้องเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก่อนหน้านี้เยอรมนีมีบริษัทประมาณ 500 บริษัท ที่จำเป็นต้องทำเรื่องนี้ และในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 บริษัท เลยทีเดียว ด้านตัวแทนภาคอุตสาหกรรมให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการ EU ให้ความสำคัญกับผลกระทบเชิงเศรษฐกิจน้อยเกินไป ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ควรจะต้องกลับมาพิจารณาในเรื่องนี้ให้มากขึ้น ในขณะที่ นาย Rasmus Andresen ตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร EU พรรคยุค 90 พันธมิตรสีเขียว (Bündnis 90/Die Grünen) ได้แสดงความกังวลใจว่า “มีผู้สนับสนุนแนวคิดให้ EU ยกเลิกการจัดกฎระเบียบมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตได้โดยในเวลานี้การตัดสินใจจำนวนมากได้ถูกเลื่อนไปไว้หลังช่วงเลือกตั้ง แต่หากกลุ่มอนุรักษ์นิยมหันหลังให้กับกลุ่มสังคมนิยม และกลุ่มเสรีนิยมเริ่มพร้อมที่จะจับมือกับกลุ่มประชานิยมฝ่ายขวามากขึ้นก็จะทำให้แผนการด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากติดขัดแน่นอน”

 Handelsblatt 30 มิถุนายน 2566

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (Thanit Hirungitrungsri)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login