เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 เส้นทางรถไฟความเร็วสูง ฝูโจว – เซี่ยเหมิน ได้ก่อสร้างเสร็จอย่างสมบูรณ์ โดยเริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อ เดือนมีนาคม 2564 ถือเป็นการวางรางฐานที่มั่นคงสำหรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงทั้งสาย ที่จะพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2566 โดยรถไฟความเร็วสูงฝูโจว – เซี่ยเหมิน เป็นส่วนสำคัญหลักของ “เส้นทางเดินชายฝั่ง” ของเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง ที่มีเส้นทางผ่าน 8 สถานี ในจำนวนสถานีนี้ ได้แก่ Fuqing West, Quangang, Quanzhou East และ Quanzhou South เป็นสถานีที่สร้างขึ้นใหม่ ส่วนสถานี Zhangzhou, Fuzhou South, Putian, และ Xiamen North มีการปรับปรุงสถานีเดิม และขยายอาคารสถานีใหม่เป็นสถานีคู่ขนาน ที่จะสามารถโอนย้ายผู้โดยสารระหว่างอาคารเก่าและอาคารใหม่ได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ อาคารสถานีทั้งหมดบนเส้นทาง ฝูโจว- เซี่ยเหมิน มีการออกแบบรูปแบบอาคารโดยบูรณาการให้เข้ากับวิวทิวทัศน์ธรรมชาติในท้องถิ่น การก่อสร้างยังมีการสอดแทรกความเป็นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของมณฑลฝูเจี้ยน ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรม สถานที่ และผู้คนของมณฑลฝูเจี้ยนอีกด้วย
ผู้รับผิดชอบในโครงการก่อสร้าง กล่าวว่า สถานี Xiamen North มีพื้นที่ก่อสร้างรวม 379,909 ตารางเมตร เป็นสถานีที่มีความยากในการสร้างยากที่สุด เนื่องจากอาคารสถานีอยู่ใกล้กับเส้นทางลอดของรถไฟใต้ดิน จึงมีความยากและซับซ้อนในการก่อสร้าง ในระยะเวลาการสร้างมีการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเข้าช่วยในการก่อสร้าง เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยและ สร้างประสิทธิภาพการก่อสร้างของรูปแบบโครงสร้างอาคารให้ดีที่สุด โดยมีการใช้อุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหมด 15 ชนิด อาทิ หุ่นยนต์ปิดพื้นผิวคอนกรีต และ ระบบอัจฉริยะในการตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างเหล็ก เป็นต้น อาคารสถานีทั้งสองแห่งเชื่อมต่อกันด้วยศูนย์การคมนาคมเปลี่ยนเส้นทางที่ครอบคลุมทั้ง เส้นทางรถไฟใต้ดินสาย 1 และ 4 รถสาธารณะประจำทาง BRT และพื้นที่บริการรับส่งผู้โดยสารรูปแบบอื่น ๆ กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งแบบ “One Stop” ที่สามารถเปลี่ยนเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองได้อย่างรวดเร็ว
เส้นทางรถไฟความเร็วสูง ฝูโจว-เซี่ยเหมิน สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายทางการคมนาคม ให้กับประชาชน โดยหลังจากการเปิดใช้เส้นทางสัญจรแล้ว จะสามารถลดเวลาการเดินทางจากเมืองเซี่ยเหมินไปยังนครฝูโจวเหลือเพียง 50 นาที ซึ่งแต่เดิมใช้ระยะเวลาในการเดินทางกว่า 90 นาที นอกจากนี้ การเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ยังเป็นผลให้ เมืองเซี่ยเหมิน จางโจว และเฉวียนโจว (สามเหลี่ยมทองคำแห่งฝูเจี้ยนตอนใต้) กลายเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างเมืองภายใน 1 ชั่วโมง ที่จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลฝูเจี้ยน
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : การก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง (High-speed rail) ฝูโจว – เซี่ยเหมิน จะกลายเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมณฑลฝูเจี้ยนในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง เชื่อมโยงเมืองและภูมิภาคต่างๆ ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจะสร้างประสิทธิภาพในการเดินทางผู้คนและสินค้าให้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ระบบการขนส่งสาธารณะรถไฟความเร็วสูงยังมีส่วนช่วยลดการปล่อยมลพิษในอากาศ ประหยัดพลังงาน ที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมสีเขียวในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโอกาสให้ธุรกิจท้องถิ่นเติบโต สร้างมูลค่าเพิ่มของที่ดินใกล้เคียง และสร้างรายได้จากการบริการที่เชื่อมโยง อาทิ ร้านค้าในสถานี ร้านอาหาร และ โรงแรม เป็นต้น
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1775540133276634018&wfr=spider&for=pc
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1775615000369365517&wfr=spider&for=pc
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
8 กันยายน 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)