การประกาศให้ความสำคัญกับภูมิภาคตะวันออกของรัสเซีย ทำให้รัสเซียให้ความสำคัญกับการมีเส้นทางคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพสำหรับการค้า กับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น โดยที่เส้นทางขนส่งปัจจุบัน เช่น เส้นทางรถไฟสาย ทรานส์ไซบีเรีย เส้นทางสายหลักไบคาล-อามูร์ (BAM) และเส้นทาง Middle Corridor (ผ่านคาซัคสถาน) มีความพลุกพล่านมาก ดังนั้น เร็วๆ นี้รัสเซียจึงมีการเร่งเพิ่มเส้นทางขนส่งภายใต้กรอบของ International North-South Transportation Corridor (INSTC) จากเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ผ่านภูมิภาคแอสตราคาน (Astrakhan) ของรัสเซีย ไปยังอิหร่าน และอินเดีย
ปัจจุบัน ภูมิภาคแอสตราคาน (Astrakhan) ถือเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพที่ดีในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ที่สำคัญของรัสเซีย โดยท่าเรือ Astrakhan และท่าเรือพาณิชย์ Olya แห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโวลก้า ในภูมิภาคแอสตราคาน (Astrakhan) น่าจะเข้ามามีส่วนสำคัญในการขนส่งสินค้าตามแนวเส้นทางขนส่ง INSTC อย่างไรก็ดี เพื่อให้ท่าเรือทั้งสองดังกล่าวรวมถึงคอมเพล็กซ์การขนส่งและโลจิสติกส์ต่างๆ ได้รับการพัฒนาและถูกใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัสเซียยังคงจำเป็นต้องมีความร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรต่างประเทศในการดำเนินงานด้วย ทั้งนี้ แม้ขณะนี้การมีส่วนร่วมในการขนถ่ายสินค้าของเครือข่ายรถไฟอิหร่าน และท่าเรือ Anzali (บริเวณทะเลแคสเปียน) และ ท่าเรือ Bandar Abbas (บริเวณมหาสมุทรอินเดีย) ของอิหร่าน อาจยังไม่ได้มีมากอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะหากเส้นทางรถไฟ Rasht-Astara ของอิหร่านได้ดำเนินการแล้วเสร็จ (คาดว่าในปลายปี 2567)
นอกจากเส้นทาง INSTC จะเป็นเส้นทางขนส่งจากเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ผ่านภูมิภาคแอสตราคาน (Astrakhan) ของรัสเซีย ไปยังอิหร่าน และอินเดียได้แล้ว ยังเป็นเส้นทางขนส่งที่สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางขนส่งสินค้าจากจีน-คีร์กีซสถาน-อุซเบกิสถาน-เติร์กเมนิสถาน จากนั้นไปตามทะเลแคสเปียนไปยังท่าเรือในภูมิภาคแอสตราคาน (Astrakhan) ได้ด้วย Mr. Igor Babushkin ผู้ว่าการภูมิภาคแอสตราคาน (Astrakhan) ของรัสเซียซึ่งตั้งอยู่บริเวณทะเลแคสเปียน กล่าวว่า “เรากำลังเจรจากับเติร์กเมนิสถานในการสร้างสายการเดินเรือระหว่างท่าเรือของเราและการก่อสร้างศูนย์โลจิสติกส์ในภูมิภาคแอสตราคาน (Astrakhan) ตอนนี้เราพร้อมแล้วที่จะรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียกลาง และรับประกันการขนส่งผ่านเส้นทาง INSTC โดยเส้นทาง INSTC นี้มีหลายเส้นทาง รวมทั้งที่ผ่านดินแดนคาซัคสถาน และอิหร่านด้วย”
การที่เส้นทางขนส่ง INSTC สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางขนส่งสินค้าจากจีน-คีร์กีซสถาน-อุซเบกิสถาน-เติร์กเมนิสถาน และภูมิภาคแอสตราคาน (Astrakhan) ของรัสเซียได้นั้น จะทำให้ประเทศตอนใต้ของภูมิภาคเอเชียกลาง เช่น คีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน สามารถสร้างเส้นทางขนส่งหลายรูปแบบเชื่อมต่อกับ INSTC ได้ (ไม่ต้องผ่านคาซัคสถาน) ซึ่งจะสามารถช่วยลดการพึ่งพาคาซัคสถานซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ทางตอนเหนือของภูมิภาคเอเชียกลาง และทำให้คลายข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการขนส่งผ่านคาซัคสถานไปยังรัสเซียได้ ตัวอย่างของข้อห่วงกังวลในการขนส่งสินค้าผ่านคาซัคสถาน เช่น ปัญหาในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนคาซัคสถาน – คีร์กีซสถาน ซึ่งยังคงมีความติดขัด ที่ผ่านมา แม้คีร์กีซสถาน คาซัคสถาน และรัสเซีย จะเป็นสมาชิกของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (EAEU) ที่มีพรมแดนร่วมกัน และการเกิดขึ้นของ EAEU จะตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่ การเคลื่อนย้ายสินค้า ทุน ผู้คน และบริการ อย่างเสรี แต่ก็ยังคงมีปัญหาความติดขัดในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนคาซัคสถาน – คีร์กีซสถาน ในประเด็นนี้ Mr. Igor Shestakov ผู้อำนวยการ Oy Ordo Center for Expert Initiatives จากคีร์กีซสถานระบุว่า ปัญหาการจราจรติดขัดที่ชายแดนนี้มีมาอย่างยาวนาน โดยที่ผ่านมา ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าได้มีการร้องเรียนและกล่าวถึงความต้องการเส้นทางอื่นๆ ในการขนส่งสินค้าไปยังรัสเซีย ทั้งนี้ แม้ว่า EAEU จะพยายามมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหานี้ แต่สถานการณ์ของปัญหาก็เปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ ปัจจุบัน คีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน และจีน ยังได้มองหาเส้นทางขนส่งในการจัดส่งสินค้าไปยังรัสเซียและยุโรป โดยข้ามผ่านคาซัคสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อสร้างทางรถไฟจีน-คีร์กีซสถาน-อุซเบกิสถาน (CKU Railway) ซึ่งจะเริ่มต้นในไม่ช้า ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศของคีร์กีซสถานยังได้กล่าวถึงความสนใจของรัสเซียในการเข้าร่วมโครงการนี้บนดินแดนของคีร์กีซสถานด้วย โดยเส้นทาง CKU Railway จะทำให้สามารถส่งสินค้าจากจีน ผ่านคีร์กีซสถานไปยังอุซเบกิสถานได้โดยตรง และต่อไปยังเติร์กเมนิสถาน และท่าเรือบริเวณทะเลแคสเปียนในภูมิภาคแอสตราคาน (Astrakhan) ของรัสเซียได้
เส้นทางขนส่ง INSTC นับเป็นเส้นทางขนส่งที่มีศักยภาพที่จะสามารถเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียกับรัสเซียได้ จึงเป็นที่น่าจับตามองและต้องติดตามความก้าวหน้าในการพัฒนาเส้นทางขนส่งนี้อย่างใกล้ชิด โดยหากเส้นทาง INSTC ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงเอเชียตะวันออกฉียงใต้ (รวมไทย) ก็น่าจะได้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่งดังกล่าว โดยจะสามารถใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าเข้าไปบุกตลาดรัสเซียและตลาดในภูมิภาคเอเชียกลางได้มากขึ้นด้วย
ที่มา :
New INSTC Transport Corridor Reduces Russia’s Dependence On North Central Asian Transit (https://www.russia-briefing.com/news/new-instc-transport-corridor-reduces-russia-s-dependence-on-north-central-asian-transit.html/?s=06)
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)