เยอรมนีกำลังจะผ่านพ้นช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปอย่างช้า ๆ โดย 4 สถาบันหลักทางเศรษฐกิจได้ออกมาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในปี 2024 จะค่อยขยายตัวขึ้นอย่างช้า ๆ โดย (1) สถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจเยอรมนี (DIW – Deutscher Institut für Wirtschaftsforschung) ออกมาคาดการณ์ว่า ปี 2024 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) น่าจะขยายตัวขึ้น 0.6% และในปี 2025 จะขยายตัว 1% (2) สถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยมิวนิค (Ifo – Institut für Wirtschaftsforschung an der Universität München) คาดการณ์ว่า GDP ของปี 2024 อาจขยายตัวขึ้น 0.9% และ 1.3% ในปี 2025 (3) สถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจแห่งลุ่มน้ำไรน์และภูมิภาคเวสฟาเล่นส์ (RWI – Rheinisch-Westfälisches Institut für Wirtschaftsforschung) คาดการณ์ว่า ปี 2024 GDP น่าจะขยายตัวขึ้น 0.8% และในปี 2025 GDP ของประเทศน่าจะอยู่ที่ 1.4% และ (4) สถาบัน Leibniz เพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจแห่งเมือง Halle (IWH – Leibniz-Institut für Wirtschaftsforschung Halle) คาดการณ์ว่า ปี 2024 GDP เยอรมันจะอยู่ที่ 0.5% และ 1.2% ในปี 2025
อย่างไรก็ดี ขณะนี้เศรษฐกิจของเยอรมนียังอยู่ในช่วงขาลงและยังไม่รู้อย่างแน่ชัด ว่า จะผ่านช่วงเวลานี้ได้เมื่อไร ทั้ง ๆ ที่หลายสถาบันต่างก็เห็นพ้องกันว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังกลับมาเติบโตอีกครั้ง ปัจจัยสำคัญที่ยังคงฉุดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ คงหนีไม่พ้นวิกฤตด้านงบประมาณและการลดการใช้จ่ายของภาครัฐ จึงทำให้ไม่สามารถคาดการณ์สถาการณ์ด้านเศรษฐกิจในอนาคตได้ว่าจะขยายตัวมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายนี้ มีปัจจัย 6 อย่าง ที่พอจะสรุปได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 ปัจจัยที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางขาขึ้น และอีก 3 ปัจจัย ที่แสดงถึงทิศทางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
- อัตราเงินเฟ้อลดลง ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น
สำหรับทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงนับเป็นแสงสว่างที่สำคัญของเยอรมนี เพราะในปี 2023 อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยทั้งปีคาดการณ์ว่า น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6% ทั้งนี้ RWI คาดว่า อัตราเงินเฟ้อน่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ไปอยู่ที่ 2.1% ในปี 2024 และร้อย 1.8% ในปี 2025 ซึ่งเรื่องนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคของครัวเรือน ในขณะเดียวกัน ค่าจ้างและการช่วยเหลือด้านการเงินของรัฐ เช่น เงินเพื่อประชาชน (Bürgergeld) ก็ขยายตัวขึ้น โดยอัตรารายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราเงินเฟ้ออย่างเห็นได้ชัด จากข้อมูลของ Ifo คาดว่า รายได้ครัวเรือนส่วนบุคคลน่าจะเติบโตขึ้น 3.5% ในปี 2024 และ 3.6% ในปี 2025
- ธุรกิจส่งออกน่าจะเริ่มส่งออกไปยังอเมริกาและจีนอีกครั้ง
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาน่าจะกลับมาแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่เองก็ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ เรื่องนี้จะทำให้ภาคการส่งออกของเยอรมันกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง ซึ่งจากข้อมูลของ DIW คาดว่า การส่งออกจะมีส่วนช่วยให้ GDP เติบโตขึ้น 0.2% ในปีหน้า อย่างไรก็ตาม นาย Timm Bönke หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของ DIW ชี้แจงว่า “ภาคการส่งออกไม่ได้มีส่วนทำให้ GDP ของประเทศขยายตัวได้เท่ากับในอดีต และการส่งออกก็มิใช่ปัจจัยเดียวที่จะช่วยผลักดันการขยายตัวของ GDP ได้ เพราะปัจจุบันอุปสงค์จากลูกค้าในต่างประเทศยังคงอ่อนตัวอยู่” โดยเฉพาะตลาดจีน นอกจากนี้ DIW คาดว่า GDP ของสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเติบโตร้อย 4.7% ในปี 2024 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตเป็นอย่างมาก
- การปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วยธุรกิจก่อสร้างกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีไม่ขยายตัวก็คือ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง เพราะอุตสาหกรรมนี้มีส่วนสำคัญให้การเติบโตของ GDP โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ควรดำเนินนโยบายและควรเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยได้แล้ว เพราะตอนนี้อัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวลดลง ซึ่งทาง DIW สันนิษฐานว่า ECB น่าจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลักจากปัจจุบัน (เดิม) ที่ 4.5% คงเหลือที่ 2.75% ซึ่งล่าสุดนาง Isabel Schnabel สมาชิกคณะกรรมการบริหาร ECB ได้ชี้แจงว่า “มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งหากมีการลดดอกเบี้ยจริง ๆ ก็จะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการก่อสร้างให้เติบโตขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่หดตัวอย่างหนักเพราะอัตราดอกเบี้ยงเงินกู้ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว” อย่างไรก็ดี กว่าที่อัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น DIW จึงคาดว่า การลงทุนด้านการก่อสร้างจะยังคงลดลงเล็กน้อยอีกครั้งในปี 2024 แต่คาดว่า จะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งในปี 2025
- การลดงบประมาณส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก
นาย Olaf Scholz นายกรัฐมนตรีสังกัดพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD – Sozialdemokratische Partei Deutschlands) , นาย Robert Habeck รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจฯ และการปฏิบัติการทางสภาพภูมิอากาศสหพันธ์ฯ ในสังกัดพรรคยุค 90 พันธมิตรสีเขียว (Bündnis 90/Die Grünen) และนาย Christian Lindner รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสังกัดพรรคเพื่ออิสรภาพและประชาธิปไตย (FDP – Freie Demokratische Partei) ได้ออกมาร่วมกันนำเสนอแนวทางแก้ไขวิกฤติการณ์ด้านงบประมาณ ตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดช่องว่างในกองทุนรวมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (KTF – Klima- und Transformationsfonds) สูงถึง 60 พันล้านยูโร ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ซึ่งนอกจากรัฐบาลจะต้องการมีราจได้เพิ่มขึ้นแล้ว พวกเขายังต้องตัดค่าใช้จ่ายลงอย่างน้อยหมื่นล้านยูโรโดยประมาณ โดยนาง Geraldine Dany-Knedlik จาก DIW ออกมาประเมินตัวเลขคร่าว ๆ ว่า “การตัดค่าใช้จ่ายดังกล่าวของรัฐบาลจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของ GDP ไม่มากนัก โดยในปี 2024 จะส่งผลต่อ GDP ลดลงเพียง 0.1% เท่านั้น และการที่ผลกระทบไม่มากนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ 3 ลดลงนั่นเอง” อย่างไรก็ดี เรื่องนี้อาจส่งผลกระทบกับแนวโน้มการลงทุนได้ โดยอาจลดลง 1.5% (ซึ่งใกล้เคียงกับสมมติฐานของ DIW) นาง Dany-Knedlik ยังได้กล่าวอีกว่า “ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นนี้ ยังไม่รวมผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่เกิดจากวิกฤตงบประมาณ”
- เอกชนยังคงต้องเจอกับปัจจัยเสี่ยงเป็นจำนวนมาก
ไม่ว่าอย่างไรเศรษฐกิจของเยอรมันก็ยังคงไม่มีความมั่นคง แม้กระทั่งก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิพากษาแล้วก็ตาม ซึ่ง “Economic Policy Uncertainty Index” ที่ประเมินโดยสื่อต่างประเทศ ได้แสดงให้เห็นถึงเรื่องดังกล่าวก่อนคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเสียอีก โดยนาย Torsten Schmidt หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของ RWI ชี้แจงว่า ความไม่แน่นอนด้านนโยบายจะชะลอการร่วมลงทุนของภาคเอกชน“บริษัทต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะเลื่อนการลงทุนบางส่วนออกไปก่อน จนกว่าจะมีความมั่นคงหรือแน่นอนด้านในเชิงนโยบาย” จากการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่เผยแพร่ครั้งล่าสุด ทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่า ความไม่แน่นอนดังกล่าวจะคลี่คลายลงในเร็ววันแน่นอน โดยการตัดสินใจของรัฐบาลเยอรมันในดังกล่าวในบางประเด็นก็ต้องมีการตีความในบางจุดใหม่ และบางประเด็นก็ยังต้องมีการชี้แจงเพิ่มเติมอีกด้วย
- สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนได้ทำให้ผู้บริโภคหันมาประหยัดมากขึ้น
ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจต่างๆ นั้นมิได้ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว โดยนาย Timo Wollmershäuser หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของ Ifo กล่าวว่า “ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวช้า เพราะผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะออมมากขึ้น” โดย Ifo สันนิษฐานว่า ในระยะยาวอัตราการออมของครัวเรือนจะไม่กลับคืนสู่อัตราเฉลี่ย จนกว่าจะถึงปี 2025 ครัวเรือนจะออมเงินไว้ประมาณ 10.6% ของรายได้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับอัตราในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเพราะครัวเรือนชาวเยอรมันมีเงินออมจำนวนมากอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วการบริโภคของครัวเรือนเยอรมันก็ไม่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดได้เพียงอย่างเดียว
จาก Handelsblatt 29 ธันวาคม 2566
อ่านข่าวฉบับเต็ม : เศรษฐกิจเยอรมนีปี 2024 จะเป็นไปในทิศทางใด…ยังคงเป็นปริศนา