หน้าแรกTrade insightเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า > เศรษฐกิจฮ่องกงเติบโตกว่าที่คาดการณ์

เศรษฐกิจฮ่องกงเติบโตกว่าที่คาดการณ์

หัวข้อข่าว : เศรษฐกิจฮ่องกงเติบโตกว่าที่คาดการณ

ข่าวประจำสัปดาห์ สคต. ณ เมืองฮ่องกง ระหว่าง 19 – 25 มิถุนายน 2566

     เศรษฐกิจของฮ่องกงในปีนี้คาดว่าจะเติบโตเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคฟื้นตัวขึ้น ในขณะที่การเติบโตของศูนย์กลางการเงินของประเทศคู่แข่งอย่างสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลดลงเนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนกำลังลง

จากผลสำรวจล่าสุดของนักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 1-7 มิถุนายน 2566แสดงให้เห็นว่าการเติบโตในฮ่องกงในปี 2566 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.6% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 3.4% และจากผลการสำรวจพบว่าจีดีพีภายในประเทศของสิงคโปร์คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4% ซึ่งลดลงมาร้อยละ 0.5%

นาย Gary Ng นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Natixis SA (บริษัทลูกในเครือของ BPCE ที่ให้บริการด้านบริการทางการเงินและการลงทุน มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส)  กล่าวว่า “เราจะได้เห็นเศรษฐกิจของฮ่องกงฟื้นตัวจากการขับเคลื่อนการบริโภคภายในโดยได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มความเสี่ยงต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

จากการสำรวจครั้งล่าสุด นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของฮ่องกงในไตรมาสที่สองจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.7 เปอร์เซ็นต์เป็นร้อยละ 3.3% และคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.7% ในไตรมาส 3 และร้อยละ 7.1% ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของผู้บริโภคในสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้นจนถึงปีหน้า โดยคาดว่าจะมีอัตราร้อยละ 5% ตลอดทั้งปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.7% จากที่คาดการณ์ไปก่อนหน้านี้ และร้อยละ 3.1% ของปี 2567 เมื่อเทียบกับตัวเลขร้อยละ 2.8% จากการสำรวจครั้งก่อน แต่สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อของฮ่องกงสำหรับปีนี้คาดว่าจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยจะอยู่ที่ร้อยละ 2.4% และ ร้อยละ 2.3% สำหรับปีหน้า

จากคำกล่าวของ Alvin Liew นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ United Overseas Bank สำหรับประเทศสิงคโปร์ อาจเป็นไปได้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจของประเทศอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ซึ่งได้รับแรงกดดันส่วนใหญ่จากการอ่อนกำลังลงในภาคการผลิต (โดยทั่วไปภาวะเศรษฐกิจถดถอย หมายถึง จีดีพีหดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน)

ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็นจาก สคต.

จับสัญญาณภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงระยะเวลาผันผวน อันมีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ฯ เพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อที่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะลดลง ความตึงเครียดของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ ฯ และประเทศจีน รวมถึงสงครามยืดเยื้อระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน

ปัญหาที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวไป หากจะกล่าวโดยสรุป คือ เป็นปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อความรู้สึกของผู้บริโภค  เนื่องจากต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องจากราคาสินค้าที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ฯลฯ ผู้บริโภคจึงเลือกที่จะจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็นสำหรับในชีวิตประจำวัน อาทิ ข้าวสาร อาหาร แห้ง หรือสินค้าที่สามารถรักษามูลค่าของสกุลเงินได้ เช่น เครื่องประดับทอง

ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ถือเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่มีความเหมาะสมทั้งด้านคุณภาพและราคา ในฐานะของผู้ประกอบการไทย หากเป็นสินค้าอาหาร ควรปรับขนาดแพกเกจจิ้งของสินค้าให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาย่อมเยาว์ หรือเป็นสินค้าที่เหมาะสมทั้งราคาและมีคุณค่าโภชนาการครบครัน หากเป็นสินค้าข้าวของเครื่องใช้อย่างเช่น เสื้อผ้า ควรเน้นที่มีสไตล์ และราคาที่ผู้บริโภคจับต้องได้ โดยอาศัยจากการที่ฮ่องกงยังคงมีนโยบายกระตุ้นให้ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยอยู่เนือง ๆ โดยผ่านโครงการ Consumption Voucher ที่รอบแรกได้แจกไปแล้วคนละกว่า 12,000 บาท และในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ซึ่งจะเป็นรอบที่สองที่จะได้อีกคนละกว่า 8,000 บาท ดังนั้น จะเห็นได้ว่าไม่ว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางเป็นอย่างไร ผู้คนก็จะยังคงมีการจับจ่ายใช้สอย และยังคงรักสวยรักงามกันอยู่

หากผู้ประกอบการท่านใดที่มีสินค้าแปลกใหม่ และประสงค์จะนำเข้ามาในตลาดฮ่องกง สามารถรับคำปรึกษาได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง หรือสามารถติดต่อได้ที่อีเมล์ thaicomm@netvigator.com

หนังสือพิมพ์ The Standard ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login