หน้าแรกTrade insight > เศรษฐกิจย่านมหาวิทยาลัยในจีน

เศรษฐกิจย่านมหาวิทยาลัยในจีน

ด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจสังคม และรูปแบบการบริโภคยังคงพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคอย่างกลุ่มนักศึกษา จึงมีความต้องการรูปแบบในการบริโภคที่หลากหลาย ที่สามารถรวบรวม การจับจ่ายซื้อของ เข้ากับวัฒนธรรม จิตวิญญาณ การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และความพึงพอใจของตนเอง ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการจีน ระบุว่า ในปี 2565 จำนวนผู้สมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยในจีนสูงถึง 11.93 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.53 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2559 ปัจจุบันถึง วันที่ 15 มิถุนายน 2566 ประเทศจีนมีจำนวนมหาวิทยาลัยรวมทั้งสิ้น 3,072 แห่ง การเติบโตอย่างต่อเนื่องของจำนวนมหาวิทยาลัย บวกกับจำนวนครูและนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น และเขตพื้นที่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองมาก ย่านมหาวิทยาลัยจึงเป็นพื้นที่ศูนย์รวมผู้คน ที่มีศักยภาพทางธุรกิจสูง

ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของปักกิ่งอยู่ที่ 700,540 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 YoY ในจำนวนนี้ ยอดค้าปลีกสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ที่ 634,870 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 YoY ยอดค้าปลีกจากร้านอาหารและภัตตาคารอยู่ที่ 65,670 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.3 YoY ข้อมูลตั้งแต่ช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2566 จำนวนผู้คนในย่านธุรกิจหลัก 60 แห่งของกรุงปักกิ่งมีผู้คนเข้าออก 25.31 ล้านครั้ง กลับมาคึกคักถึงร้อยละ 88.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า คาดว่าในปี 2566 ตลาดร้านอาหารและภัตตาคาร รวมไปถึงตลาดการค้าปลีกจะเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟู ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจในย่านมหาวิทยาลัยฟื้นฟูขึ้นเช่นกัน

ข้อมูลจาก iiMedia Research ระบุว่า ในปี 2566 การบริโภคเฉลี่ยต่อเดือนของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยอยู่ที่ 501-1,000 หยวน (คิดเป็นร้อยละ 49.5 ของจำนวนผู้บริโภคทั้งหมด) และร้อยละ 51.8 ของผู้บริโภค มีการใช้จ่ายเพื่อบริโภคอยู่ที่ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ จากตัวเลขแสดงให้เห็นว่านักศึกษาส่วนมากมีศักยภาพในการบริโภคสูง แต่ยังไม่ถูกแสดงออกมาอย่างเต็มที่

ความคาดหวังสูงสุดของกลุ่มผู้บริโภคหลักต่อธุรกิจในย่านมหาวิทยาลัยในจีน คือการบริการที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตใจ ความรู้ หรือภาพลักษณ์ เป็นต้น ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 76.4 ของผู้บริโภค ชอบธุรกิจบริการด้านความบันเทิง อย่างบริการภาพยนตร์ ดนตรี เป็นต้น ร้อยละ 67.7 ของผู้บริโภคชอบธุรกิจบริการด้านกิจกรรมชุมนุม และร้อยละ 40.3 ของผู้บริโภคชอบธุรกิจบริการด้านการอบรมภาษาต่างประเทศ เทศกาลภาพยนตร์ เทศกาลดนตรี กลายเป็นหน้าต่างที่สะท้อนความเป็นวัยรุ่น การเติบโตของอุตสหกรรมธุรกิจในย่านมหาวิทยาลัยสอดคล้องไปพร้อมกับความชอบและความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคนักศึกษา ย่านมหาวิทยาลัยที่รายล้อมด้วยธุรกิจประเภทต่าง ๆ จะเป็นการเสริมให้ “วงกลมการค้า + เศรษฐกิจด้านความบันเทิง + เศรษฐกิจกลางคืน” โดดเด่นขึ้น

ปัจจุบัน การพัฒนาธุรกิจในย่านมหาวิทยาลัย ยังไม่ถูกพัฒนาให้เป็นไปตามแผนเท่าที่ควร ธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ยังคงมีช่องว่างในการพัฒนาในอุตสหกรรมธุรกิจย่านมหาวิทยาลัยอีกมาก จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของจำนวนมหาวิทยาลัย ย่านมหาวิทยาลัยจึงเป็นแหล่งรวมของธุรกิจอาหาร บันเทิง ช้อปปิ้ง และอื่นๆ ที่บูรณาการเข้ากันได้อย่างลงตัว สร้างการบริโภคที่หลากหลายและสมบูรณ์ของย่านธุรกิจ ที่ไม่เพียงสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังสามารถดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคอื่นๆ เข้ามาอีกด้วย

   ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : ย่านมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวบรวมและเชื่อมโยงความหลากหลายทางธุรกิจเข้าไว้ในที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านช้อปปิ้ง ร้านหนังสือ  ร้านคาเฟ่ ฟิตเนส และธุรกิจหอพัก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งรวบรวมด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะและความรู้ด้านต่าง ๆ ที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรและธุรกิจ จึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่ก่อเกิดธุรกิจการค้า จุดประกายโอกาสทางการค้าและการขยายตัวทางเศรษฐกิจรายล้อมมหาวิทยาลัยกลายเป็นสถานที่ดึงดูดกลุ่มคนและผู้บริโภคที่หลากหลายให้เข้าเยี่ยมชมและใช้บริการจำนวนไม่น้อย ย่านมหาวิทยาลัยจึงมีความเหมาะสมในการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจมือใหม่ และยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางการกระจายสินค้าสำคัญ สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการบุกตลาดจีน โดยเฉพาะการใช้พลังของซอฟพาว์เวอร์ อย่างร้านอาหารไทย นวดสปาไทย สถาบันสอนภาษา หรือจุดประกายเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเทศกาลภาพยนต์ เทศกาลดนตรี รวมไปจนถึงการแข่งขันกีฬาอีกด้วย

https://www.iimedia.cn/c1020/95870.html

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

22 กันยายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login