ปี 2567 ถือว่าเป็นปีที่ภาคธุรกิจออสเตรเลียเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา ปัญหาค่าครองชีพสูงจากภาวะเงินเฟ้อ ที่มีผลต่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ มีผลให้อุตสาหกรรมผลิต โดยเฉพาะธุรกิจค้าส่งหดตัวลงร้อยละ 4 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ อาทิ ธุรกิจบริการ รับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจผลิตภัณฑ์เนยนม ผู้ค้าปลีกสินค้าอาหาร และร้านค้าปลีกสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นต้องปิดกิจการลง ดังนี้
1. Carl’s Jr Australia
ปี 2559 Carl’s Jr จำหน่ายเบอร์เกอร์แบบเครือข่ายจากสหรัฐอเมริกา เปิดสาขาแรกในออสเตรเลียขยายสาขารวมกว่า 14 สาขาทั่วออสเตรเลีย ได้ยุติกิจการลงในเดือนกรกฎาคม 2567
2. Beston Global Food
บริษัท Beston Global Food เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เนยนมใน South Australia (ชีสต์ Beston’s Edwards Crossing และ Mables dairy) ได้ปิดกิจการลง หลังประสบภาระหนี้สิน อัตราดอกเบี้ย ราคานมและต้นทุนที่สูงขึ้น ประกอบกับการขายโรงงาน (มีคนงานกว่า 159 คน) ให้กับบริษัทญี่ปุ่นล้มเหลวในเดือนกันยายน 2567 แม้ว่าจะมีรายได้ 170 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
3. Godfreys
บริษัท Godfreys Group ร้านค้าปลีกเครื่องดูดฝุ่นและเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าชั้นนำ ยุติกิจการในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในเดือนมีนาคม 2567 หลังจากไม่สามารถสร้างรายได้และไม่สามารถหาบริษัทมาซื้อกิจการได้ ทำให้ต้องเลิกจ้างงานกว่า 193 คน
4. Harrolds
บริษัท Harrolds Group (มีธุรกิจในเครือ 4 บริษัท) ดำเนินธุรกิจนำเข้าเสื้อผ้า สูท กระโปรง เสื้อกีฬาและรองเท้า เป็นร้านค้าปลีกเสื้อผ้าระดับหรูในนครซิดนีย์และนครเมลเบิร์น รวมถึงร้านค้าออนไลน์ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 40 ปี ได้ปิดตัวลงในเดือนตุลาคม หลังเป็นหนี้มากกว่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ
5. The Essential Ingredient
ร้านค้าปลีกสินค้าประเภท Grocer และสินค้าอาหารที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 38 ปี ประกาศขายกิจการในเดือนตุลาคม 2567 เนื่องจากต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นกระทบต่อผลกำไร
6. King Island Dairy
บริษัท Saputo Dairy Australia ประกาศยุติการผลิตชีสต์แบรนด์ King Island Dairy ในรัฐ Tasmania ภายในเดือนกันยายน 2568 หลังดำเนินธุรกิจมานานกว่า 120 ปี เนื่องจากไม่สามารถหาผู้มาซื้อกิจการเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้
7. Booktopia
บริษัท Booktopia Group ดำเนินธุรกิจร้านจำหน่ายหนังสือ/ออนไลน์ ในนครซิดนีย์ ประกาศขายกิจการในเดือนกรกฎาคม 2567 หลังยอดขายลดลงร้อยละ 21 เนื่องจากผู้บริโภคใช้จ่ายเฉพาะสินค้าจำเป็นในช่วงวิกฤตค่าครองชีพสูง ก่อนที่บริษัท digiDirect เข้าซื้อกิจการในเดือนสิงหาคม 2567
8. Tupperware
บริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แบรนด์ Tupperware สหรัฐอเมริกา ประกาศยุติกิจการในออสเตรเลียเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เนื่องจากยอดขายลดลง โดยจะเน้นการผลิตและจำหน่ายในตลาดหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก บราซิล จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และมาเลเซียแทน
9. Mosaic Brands
ปี 2567 บริษัท Mosaic Brands Group (ผู้จำหน่ายปลีกสินค้าเสื้อผ้าแบรนด์ต่างๆ) ประกาศยุติกิจการแบรนด์สินค้าในเครือ (Millers, Rivers และ Noni B ยุติกิจการในเดือนตุลาคม 2567 และแบรนด์ในเครือ Rockmans, Crossroads, W Lane, BeMe และ Autograph) และภายในเดือนมกราคม 2568 จะปิดร้านเสื้อผ้าแบรนด์ Katies และร้านค้าอี่นๆในเครือมีสาขารวมกว่า 160 แห่งทั่วออสเตรเลียหลังผลประกอบการโดยรวมลดลง ซึ่งในปี 2568 แรงงานกว่า 480 คนจะตกงาน
10. Dion Lee
Dion Lee ผู้ผลิตแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นออสเตรเลียที่ได้รับความนิยมจากผู้มีชื่อเสียง (Taylor Swift, Kylie Minogue และ Duchess of Sussex Meghan Markle) ต้องยุติกิจการลงเนื่องจากไม่สามารถหาผู้มาซื้อหุ้นกิจการได้หลัง Cue ถอนหุ้นบริษัทในช่วงต้นปี 2567
11. Rex
ปี 2567 Rex ผู้ให้บริการเที่ยวบินในประเทศ ประสบภาวะขาดทุนกว่า 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงครึ่งปีแรก 2567 และล้มเลิกกิจการในเดือนกรกฎาคม 2567 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลออสเตรเลียได้ทุ่มงบประมาณกว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯเข้าช่วยเหลือในเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้สายการบินสามารถให้บริการเที่ยวบินต่อไปได้
12. Stevens Construction
บริษัท Stevens Construction ก่อตั้งปี 2549 ในรัฐ New South Wales รับเหมาโครงการก่อสร้างใหญ่หลายโครงการเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการหนี้สินในเดือนพฤษภาคม 2567 หลังประสบปัญหาต้นทุนก่อสร้าง ขาดแรงงานและโครงการหยุดชะงักในช่วงวิกฤต COVID-19 ทำให้ต้องปิดกิจการ
13. Bonza
Bonza เป็นผู้ให้บริการเที่ยวบินระดับภูมิภาคในออสเตรเลียเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการหนี้สินในเดือนเมษายน 2567และยุติการให้บริการลง เนื่องจากไม่สามารถหาผู้มาซื้อหุ้นกิจการได้มีผลให้แรงงาน 500 คนตกงาน
14. Hawkers beer
บริษัท Hawkers ก่อตั้งปี 2557 เป็นผู้ผลิต Craft beer รายใหญ่ในนครเมลเบิร์นเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการหนี้สินในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เนื่องจากต้นทุนสูงและข้อจำกัดด้านต่างๆในการทำตลาดเบียร์ในออสเตรเลีย
15. Marquee Retail Group
บริษัท Marquee Retail Group (MRG) ผู้ค้าปลีกสินค้าเครื่องประดับแฟชั่น Colette by Colette Hayman และ Daily Edited ในออสเตรเลียเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการหนี้สินหลังยอดขายลดลงอย่างมากจากภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูง
สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียระบุว่า ผลกำไรภาคธุรกิจออสเตรเลียไตรมาสเดือนกันยายน 2567 ลดลงร้อยละ 4.6 และร้อยละ 8.5 ต่อปี เนื่องจากต้นทุนสูงและค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4 ต่อปี นอกจากนี้ ผลสำรวจโดยธนาคาร NAB พบว่า ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจออสเตรเลียเดือนพฤศจิกายน 2567 ลดลงร้อยละ 3 (ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2563) เป็นความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงเกือบทุกสาขา (ยกเว้นก่อสร้างที่มีแนวโน้มขยายตัวดีในปี 2568)
การปิดตัวลงของภาคธุรกิจต่างๆในออสเตรเลีย สะท้อนให้เห็นภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศออสเตรเลียที่ซบเซาอย่างมาก รวมถึงการบริโภคในประเทศที่ได้รับความกดดันจากค่าครองชีพ และส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน คาดว่า ปี 2568 การจ้างงานจะลดลงและอัตราการว่างงานจะสูงขึ้น และการใช้จ่ายในประเทศจะรัดกุมขึ้น
…………………………………………………………………………………………..
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์
ที่มา:
Source: www.9news.com.au/ www.abc.net.au / www.abs.gov.au
อ่านข่าวฉบับเต็ม : เศรษฐกิจซบเซา…ภาคธุรกิจออสเตรเลียเข้าสู่ภาวะวิกฤต