หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ขยายตัว 0.3% ในไตรมาสแรก แต่การส่งออกชะงัก ข่าวเด่นรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 21 – 27 เมษายน 2566

เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ขยายตัว 0.3% ในไตรมาสแรก แต่การส่งออกชะงัก ข่าวเด่นรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 21 – 27 เมษายน 2566

การเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ขยายตัว 0.3% ในไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อย จากตัวเลขประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ล่วงหน้าที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศเกาหลีเมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา การใช้จ่ายภาคเอกชนเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยหลักอยู่ที่ ธุรกิจบันเทิง ที่พัก และธุรกิจบริการอาหาร ในขณะที่การส่งออกลดลง แต่การนำเข้าเพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์เคมี

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากมักจะนิยามภาวะเศรษฐกิจถดถอยว่า เป็นภาวะการหดตัวทางเศรษฐกิจติดต่อกันสองไตรมาส ชินซึงชุล ผู้อำนวยการฝ่ายสถิติเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศเกาหลีกล่าวว่า “การเติบโตในไตรมาสแรกนั้นดีเกินคาด แม้ว่าจะมีปัจจัยลบต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมด้าน IT ที่ซบเซาและการเปิดประเทศของจีนที่ล่าช้าก็ตาม” และกล่าวอีกว่า “การเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจที่ไม่ใช่ด้าน IT และการใช้จ่ายของภาคเอกชน สถานการณ์เชิงลบคาดว่าจะยังคงมีอยู่ระยะหนึ่ง แต่คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี”

เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 1 ขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การใช้จ่ายภาคเอกชนขยายตัว 4.5% การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว 3.9% การส่งออกลดลง 3.0% ในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 4.4% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

ผู้อำนวยการชินกล่าวว่า “กิจกรรมกลางแจ้งที่กลับมาเป็นปกติและการเพิ่มขึ้นของการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศจะส่งผลในเชิงบวกต่อการใช้จ่ายภาคเอกชน แต่การส่งออกจนถึงวันที่ 20 เมษายนยังคงเป็นลบเนื่องจากยังคงมีช่องว่างขนาดใหญ่”

ในช่วง 20 วันแรกของเดือนเมษายน 2566 การส่งออกของเกาหลีลดลง 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากข้อมูลของกรมศุลกากรเกาหลี การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ลดลง 39.3% โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์และอุปกรณ์การขนส่ง ในขณะที่สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์

ผู้อำนวยการชินกล่าวเสริมว่า ผลของการยกเลิกกฎระเบียบด้านอสังหาริมทรัพย์ต่อการลงทุนด้านการก่อสร้างและผลจากการดำเนินการเร่งใช้จ่ายของรัฐบาลจะเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ธนาคารแห่งประเทศเกาหลีได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีในปีนี้ อยู่ที่ 1.6% แต่ผู้ว่าการธนาคารกลาง อี ชางยอง กล่าวเมื่อต้นเดือนเมษายนว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลง อนึ่ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีในปีนี้เหลือ 1.5% จาก 1.7% เมื่อต้นเดือนนี้ ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งที่ 4 ติดต่อกัน โดยมีสาเหตุจากความต้องการไมโครชิปที่ลดน้อยลง และปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยหลัก

Samsung Electronics รายงานผลกำไรจากการดำเนินงานลดลง 96% จากการประมาณการในไตรมาสแรก และผู้ผลิตไมโครชิปหน่วยความจำรายใหญ่ที่สุดของโลกกำลังลดการผลิตไมโครชิปลง

นอกจากนี้ การที่จีนเริ่มเปิดประเทศอีกครั้ง ก็ยังไม่มีผลกระทบบวกที่ชัดเจน จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศเกาหลีเมื่อวันที่ 17 เมษายน การเปิดประเทศอีกครั้งของจีนหลังจากการล็อกดาวน์นั้น คาดว่าจะมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่อิทธิพลดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นในเกาหลีและประเทศอื่นๆโดยรอบ

การฟื้นตัวของประเทศจีน ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่การใช้จ่ายด้านบริการ มีผลกระทบอย่างจำกัดต่อเศรษฐกิจของเกาหลี ชอง ซองเท นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Samsung Securities เขียนในรายงานเมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายนว่า “การส่งออกและการผลิตของเกาหลีใกล้จะถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่การคุมเข้มทางการเงินอย่างต่อเนื่องโดยธนาคารกลางในประเทศสำคัญๆ และการทำให้การใช้จ่ายของสินค้าและบริการที่เข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าจะทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป”

รายได้รวมภายในประเทศ (GDI) ของเกาหลีลดลง 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งดีขึ้นกว่าการติดลบ 2% ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ เมื่อเทียบเป็นไตรมาส ไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 GDI เติบโตขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2565

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ยังคงขยายตัว แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก แต่ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่หลายๆ ประเทศยังอยู่ระหว่างชะลอตัว การขยายตัวของเกาหลีนับว่าเป็นโอกาสอันดีต่อผู้ส่งออกไทยที่จะบุกตลาดเกาหลี ในส่วนของสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น อาหาร บันเทิง สินค้าบริการต่างๆ เช่น Food Service หรือกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นต้น โดยผู้ประกอบการไทยอาจจะให้ความสำคัญกับตลาดเกาหลีให้มากขึ้น และเร่งพัฒนาสินค้าและบริการไทยให้เหมาะกับผู้บริโภคเกาหลี เช่น สินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สินค้าอาหาร plant based meat เป็นต้น

(สำนักข่าว Korea JoongAng Daily ฉบับวันที่ 25 เมษายน 2566)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login