หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP7 เรื่อง ระดับคงคลังสินค้าสหรัฐฯ ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ

“เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP7 เรื่อง ระดับคงคลังสินค้าสหรัฐฯ ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ

“เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP7 เรื่อง ระดับคงคลังสินค้าสหรัฐฯ ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ

 

 

ภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและก่อให้เกิดปัญหาในระบบการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานของโลก โดยปัจจัยดังกล่าวงเป็นอุปสรรคที่ผู้ประกอบการค้าปลีกในสหรัฐฯ ต่างต้องเร่งปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ทั้งการต้องเปลี่ยนไปเลือกนำเข้าสินค้ากลุ่มที่ผู้บริโภคในตลาดมีความต้องการสูงในขณะนั้น เช่น เสื้อผ้าอยู่บ้าน เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์สำนักงาน รวมถึงการเพิ่มปริมาณการนำเข้าเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนสินค้าจากปัญหาในระบบกาขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน โดยผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่บางราย เช่น ห้าง Target และห้าง Walmart ที่มีปริมาณความต้องการนำเข้าสูง ถึงขั้นต้องเช่าเหมาลำเรือขนส่งสินค้าเพื่อให้มีสินค้าพร้อมจำหน่ายในตลาด

 

จนกระทั่งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่สถานการณ์ด้านการแพร่ระบาดในสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นมาก ผู้บริโภคชาวอเมริกันสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ส่งผลทำให้พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคในตลาดเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว (Demand Shifting) จากเดิมที่ผู้บริโภคมักจะเลือกซื้อสินค้าสำหรับการอยู่อาศัยที่บ้าน เมื่อสามารถออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ก็เปลี่ยนไปซื้อสินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง เสื้อผ้า เครื่องประดับ สำหรับการออกไปทำงานและพบปะผู้คนมากขึ้น รวมถึงกลุ่มสินค้ากลุ่มสันทนาการและบันเทิงที่ไม่สามารถทำได้ในช่วงที่ผ่านมา เช่น ร้านอาหาร การแสดง คอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา และสวนสนุก เป็นต้น

 

ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคในตลาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกในตลาดไม่สามารถปรับตัวและวางแผนคงคลังสินค้าที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในตลาดได้ทันที ซึ่งส่งผลทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกในตลาดต่างต้องประสบกับปัญหาปริมาณสินค้าคงคลังที่เหลืออยู่เป็นจำนวนมาก  อีกทั้ง ปัจจัยด้านสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศของสหรัฐฯ ที่ยังคงเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่อยู่ในระดับสูงยังส่งผลทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ และอสังหาริมทรัพย์ด้วย จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกในสหรัฐฯ จำนวนมากมีแนวโน้มชะลอปริมาณการนำเข้าสินค้าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความพยายามของผู้ประกอบการค้าปลีกในตลาดที่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชั่นลดราคา การกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านแคมเปญต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ด้านปริมาณสินค้าคงคลังในสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้น ข้อมูลจากสำนักการสำรวจสำมะโนประชากร (U.S. Census Bureau)  กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ พบว่า อัตราส่วนสินค้าคงคลังต่อยอดจำหน่าย (Inventories to Sales Ratio) ผู้ประกอบการค้าสหรัฐฯ ปัจจุบันปรับตัวเข้าสู่ระดับเดียวกันกับช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดที่ระดับ 1.36 ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ในตลาดยังรายงานปริมาณสินค้าคงคลังของกิจการลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีทีผ่านมาด้วย เช่น

  • บริษัท  Best Buy ผู้จำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รายงานปริมาณสินค้าคงคลังไตรมาสที่ 3 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
  • บริษัท GAP ผู้จำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รายงานปริมาณสินค้าคงคลังไตรมาสที่ 3 ปรับตัวลดลงร้อยละ 22 เมื่อบเทียบกับปีทีผ่านมา
  • บริษัท Macy’s รายงานปริมาณสินค้าคงคลังไตรมาสที่ 3 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ Mr. David Bassuk ตัวแทนบริษัท AlixPartners ที่ปรึกษาทางธุรกิจกล่าวว่า พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาด ดังนั้น การบริหารจัดการคงคลังสินค้าจึงปัจจัยที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีก หากกิจการคาดการณ์หรือวางแผนคงคลังผิดพลาด ก็จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการและผลประกอบการของกิจการในอนาคตได้ ดังนั้น ผู้ประกอบในตลาดจึงมีแนวโน้มที่จะระมัดระวังการวางแผนสั่งซื้อสินค้าให้รอบคอบเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

 

แม้ว่าแนวโน้มทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า ยังมีโอกาสที่จะชะลอตัวจากปัจจัยด้านความผันผวนในตลาดอยู่บ้าง แต่ก็คาดว่า ไม่น่าจะรุนแรงมากนัก เนื่องจากสถานการณ์ด้านภาวะเงินเฟ้อในตลาดปัจจุบันที่ปรับตัวดีขึ้นมาก อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนตุลาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.2 ซึ่งเข้าใกล้กับระดับอัตราเงินเฟ้อคาดหวังที่ระดับร้อยละ 2.0 ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve Bank จะค่อยๆ พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดลงเหลือร้อยละ 4.5 ในปีหน้า ซึ่งน่าจะมีส่วนกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันกลับมาใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง สถานการณ์ด้านสินค้าคงคลังในตลาดสหรัฐฯ ที่คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติจะช่วยให้ผู้ประกอบการค้าปลีกในตลาดเริ่มมีความต้องการนำเข้าสินค้าที่เป็นที่สนใจของผู้บริโภครายการใหม่ๆ มากขึ้นในปีหน้าด้วย

 

ดังนั้น จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในปีหน้า โดยผู้ประกอบการไทยจึงควรที่จะเตรียมพร้อมศึกษาแนวโน้มและความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดปัจจุบันเพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับการรักษาต้นทุนด้านราคาสินค้า ให้อยู่ในระดับแข่งขันได้ในตลาดเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอที่จะแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยยังควรพิจารณาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการผลิตและขนส่งสินค้าเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดอย่างยั่งยืนด้วย

 

นอกจากนี้ ปัจจุบันแนวโน้มผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดยังคงสนใจเลือกบริโภคสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและสันทนาการ รวมถึงกลุ่มการบริการร้านอาหารมากขึ้น ดังนั้น การพิจารณาวางกลยุทธ์เจาะตลาดกลุ่มผู้ประกอบการสนันทนาการ เช่น โรงแรม สวนสนุก ธีมพาร์ค รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารไทยที่มีจำนวนมากในตลาดสหรัฐฯ ก็น่าจะเป็นช่องทางผลักดันการค้าที่สำคัญสำหรับกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มและกลุ่มวัตถุดิบการปรุงอาหารไทย ไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่ไทยมีมูลค่าส่งออกสูงถึงเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

 

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://www.youtube.com/watch?v=Cw0rEzWsO58

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

อ่านข่าวฉบับเต็ม : “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP7 เรื่อง ระดับคงคลังสินค้าสหรัฐฯ ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ

Login