หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP8 เรื่อง มะขามรสชาติมาแรงในปีหน้า

“เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP8 เรื่อง มะขามรสชาติมาแรงในปีหน้า

“เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP8 เรื่อง มะขามรสชาติมาแรงในปีหน้า

 

 

 

ในช่วงปลายปีของทุกปี บริษัท McCormick & Co. ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องเทศและเครื่องปรุงรสรายใหญ่ในสหรัฐฯ จะเปิดเผยข้อมูลรายงานแนวโน้มรสชาติเครื่องเทศและเครื่องปรุงอาหาร ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมในปีต่อไป โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการติดต่อกันมาแล้วกว่า 20 ปี (เริ่มครั้งแรกในปี 2543) โดยการพยากรณ์ในแต่ละปีก็จะมีอิทธิพลสำคัญขับเคลื่อนกระแสความนิยมของกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดทำให้มีความต้องการทดลองเลือกรับประทานสินค้าอาหารและเครื่องดื่มรสชาติที่กำลังเป็นกระแสในขณะนั้นมากขึ้น

 

สำหรับปีนี้ บริษัทฯ ได้เลือกให้รสมะขามเป็นรสชาติยอดนิยมแห่งปีในปี 2567 เนื่องจากรสชาติมะขามมีรสชาติหวานอมเปรี้ยวที่พิเศษเฉพาะตัวที่ค่อนข้างน่าสนใจ โดยมะขามเองยังเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่มักจะพบในการปรุงอาหารพื้นเมืองในกลุ่มลาตินอเมริกา แคริบเบียน รวมถึงเม็กซิโก ซึ่งเป็นที่รู้จักในสหรัฐฯ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันความนิยมในรสชาติมะขามของผู้บริโภคชาวอเมริกันเริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นไปสู่กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มใหม่ ๆ เช่น มันฝรั่งทอดกรอบรสมะขาม ไอศกรีมรสมะขาม รวมถึงกาแฟรสมะขาม เป็นต้น

 

นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังได้ระบุเทรนด์ด้านรสชาติอาหารที่น่าจะเป็นที่สนใจในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันปีหน้าด้วย ได้แก่

 

เทรนด์รสชาติที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร (Boost Craveability) ซึ่งน่าจะกระตุ้นให้อาหารและเครื่องดื่มรสเปรี้ยวได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากรสเปรี้ยวมีส่วนที่จะช่วยกระตุ้นประสาทการรับรสและช่วยกระตุ้นความอยากอาหารของผู้บริโภค

 

เทรนด์รสชาติที่มีกลิ่นอายของรากเหง้าทางวัฒนธรรม (Thoughtfully Borrowed) ซึ่งนำรสชาติอาหารจากวัฒนธรรมและประสบการณ์ดั่งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์มาผสมผสานออกแบบรสชาติอาหารและเครื่องดื่มที่น่าสนใจ

 

เทรนด์อาหารครบเครื่อง (Food Maximalism) ซึ่งผสมผสานรสชาติ เนื้อสัมผัส และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ที่น่าสนใจในทุกมิติเข้าด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์บรรยากาศและประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการรับประทานสำหรับผู้บริโภค

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

 

มะขามเป็นผลไม้เมืองร้อนและพืชเศรษฐกิจที่สามารถเพาะปลูกได้มากในประเทศไทย แต่ละปีไทยสามารถผลิตมะขามได้เป็นปริมาณ เกือบ 1 แสนตันคิดเป็นมูลค่าเกือบ 6 พันล้านบาท นอกจากการบริโภคภายในประเทศแล้วไทยยังส่งออกมะขามไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย

 

ในระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2566 ไทยส่งออกมะขามไปยังตลาดสหรัฐฯ เป็นมูลค่าประมาณ 36.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยราวครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดมะขามไทยในสหรัฐฯ ทั้งหมด เป็นผลิตภัณฑ์มะขามฝักบรรจุกล่องทั้งแบบสดและแบบแห้ง ส่วนที่เหลือเป็นมะขามแปรรูป เช่น น้ำมะขามเปียกเข้มข้น มะขามเปียกแห้ง น้ำมะขาม ขนมจากมะขาม มะขามคลุกพริกเกลือ และลูกอม เป็นต้น

 

แนวโน้มกระแสความนิยมรสชาติมะขามในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในปีหน้าน่าจะเป็นโอกาสในการผลักดันการขยายตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มรสชาติมะขามของไทยที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว นอกจากนี้ แนวโน้มดังกล่าวยังน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาและนำเสนอสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนวัตกรรมที่มีรสชาติมะขามรายการใหม่ๆ ในตลาดสหรัฐฯ อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์มะขามสดและมะขามแปรรูปเป็นกลุ่มสินค้าที่องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ U.S. FDA. ดำเนินมาตรการอนุญาตนำเข้าที่ค่อนข้างเข้มงวดและอาจจะดำเนินการกักสินค้าโดยไม่ต้องตรวจสอบ (Detain Without Physical Examination หรือ DWPE) สำหรับสินค้านำเข้าที่มีความเสี่ยงได้ เนื่องจากลิตภัณฑ์มะขามเป็นสินค้าสุ่มเสี่ยงที่จะมีสิ่งสกปกปนเปื้อน รวมถึงแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ย ที่อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกษตรสหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามที่หน่วยงานกำหนดก่อนส่งออก นอกจากนี้ การลงทะเบียนกิจการในบัญชีรายการสีเขียว หรือ Green List ขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ โดยการส่งตัวอย่างสินค้าที่ได้มาตรฐานปราศจากสิ่งปนเปื้อนไปยังหน่วยงานเพื่อตรวจสอบตามข้อกำหนดก็จะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าจากการกักกันหรือห้ามนำเข้าสินค้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

ปัจจุบันแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มชาวอเมริกันโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้สนใจและนิยมเลือกบริโภคสินค้าและบริการที่ช่วยสร้างประสบการณ์มากขึ้น  ดังนั้น การนำปัจจัยดังกล่าวไปใช้พิจารณาร่วมในการพัฒนาออกแบบสินค้าอาหารและเครื่องดื่มก็น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูงและมีศักยภาพในตลาดได้มากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ปัจจัยด้านสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันยังมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการของกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันรุ่นใหม่มาก ดังนั้น การเลือกดำเนินกิจกรรมประชาสัมพันธ์หรือการส่งเสริมการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเหมาะสม ไม่ผลักดันหรือยัดเยียดจนเกินไปก็จะช่วยให้สามารถในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ที่มีศักยภาพ และกำลังซื้อสูงในตลาดได้มากขึ้นในอนาคตด้วย

 

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://www.youtube.com/watch?v=4_fw83IgFcE

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

 

อ่านข่าวฉบับเต็ม : “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP8 เรื่อง มะขามรสชาติมาแรงในปีหน้า

Login