สัปดาห์ที่แล้วนักวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่ภาครัฐของจีน คาดการณ์ว่า ด้านการค้าต่างประเทศของจีนจะสามารถเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนทั่วโลกได้ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัว (อย่างค่อยเป็นค่อยไป) ที่จะช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้เรียกร้องให้มีการสนับสนุนทางด้านนโยบายมากขึ้น เพื่อรับมือกับอุปสงค์ภายนอกที่ลดลงและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงซบเซา และยังมีปัจจัยต่างๆ หลายประการที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคง/ไม่มีเสถียรภาพและความไม่แน่นอนของตลาดเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากกรมศุลกากรจีน ระบุว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 การค้าต่างประเทศของจีนมีมูลค่าถึง 20.1 ล้านล้านหยวน (100.5 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่สกุลเงินดอลลาร์ พบว่า มูลค่าการค้าต่างประเทศของจีนรวมอยู่ที่ 2.92 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงร้อยละ 4.7 ในขณะที่บางภาคส่วนเกิดความกังวลเกี่ยวกับอัตราการเติบโตด้านการค้าต่างประเทศของจีน นาย Lyu Daliang อธิบดีกรมสถิติฯ กล่าวว่ารัฐบาลจีนยังคงมีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพโดยรวมของภาคการค้าต่างประเทศ กอปรกับผลการดำเนินงานจากความมุ่งมั่นของจีนในการเปิดกว้างและความพยายามเชิงรุกในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศซึ่งกำลังปรากฏชัดขึ้น จะนำไปสู่การขับเคลื่อนทั้งด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการค้าต่างประเทศ (ทั้งในแง่ของขนาดและโครงสร้าง) นาย Lyu ยังกล่าวเสริมอีกว่า “นับเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกที่มูลค่าการค้าต่างประเทศของจีนพุ่งสูงทะลุ 20 ล้านล้านหยวนภายในเวลาเพียงครึ่งปีเท่านั้น”
นาย Zheng Houcheng (หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มหภาค ของ Yingda Securities Co., Ltd.) มีความเห็นว่า หากมองช่วงครึ่งหลังของปี 2566 อัตราการเติบโตสะสม (Y-o-Y) ของมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 3 มีแนวโน้มว่าจะยังคงอยู่ในระดับลดต่ำ แต่คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนนาย Guan Tao (หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก BOC International) คาดการณ์ว่า เป้าหมายการเติบโตของ GDP จีนในปีนี้ ซึ่งตั้งไว้ประมาณร้อยละ 5 น่าจะบรรลุผลได้ตามเป้า โดยผ่านการดำเนินนโยบายการคลังที่มีประสิทธิภาพและการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องของโครงสร้างอุตสาหกรรมและกลุ่มสินค้าของผู้ส่งออกจีน นอกจากนี้ Guan ยังกล่าวว่า จีนจะได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขที่ได้เปรียบหลายประการในระยะกลางถึงระยะยาว การพัฒนาอุตสาหกรรมและการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วของประเทศ ควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างมากในตลาดทุนมนุษย์ ส่งผลให้ประเทศมีศักยภาพมหาศาล
ขณะที่จีนก้าวเข้าสู่ยุคของการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การเร่งสปีดด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้น หากจีนต้องการรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ปัจจัยเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพที่สำคัญของจีน ตัวอย่างเช่น การขับเคลื่อนด้วยผลิตภัณฑ์สีเขียวที่เน้นเทคโนโลยี จำนวน 3 รายการหลัก ได้แก่ แบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์, แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และยานยนต์ไฟฟ้า (การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องกลไฟฟ้าของจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 คิดเป็นมูลค่า 6.66 ล้านล้านหยวน ในช่วงเวลา 6 เดือนแรกของปีนี้ หรือร้อยละ 58.2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด)
นาย Zhou Maohua นักวิเคราะห์จาก China Everbright Bank กล่าวว่า เมื่อพิจารณามูลค่าการค้าต่างประเทศของจีน (รูปสกุลเงินหยวน) ในเดือนมิถุนายน พบว่า ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่า 3.89 ล้านล้านหยวน และมูลค่าการส่งออกในรูปสกุลเงินหยวน ลดลงร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น รัฐบาลควรใช้มาตรการสนับสนุนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อบรรเทาความยากลำบากและส่งเสริมการเติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแรงในด้านการค้าต่างประเทศของจีนต่อไป ขณะที่นาย Li Dawei นักวิจัยจาก Academy of Macroeconomic Research กรุงปักกิ่ง กล่าวว่า การยกระดับการเติบโตด้านการค้าต่างประเทศขึ้นอยู่กับการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันหลักของสินค้าส่งออกและตอบสนองความต้องการของลูกค้าในต่างประเทศได้ดีขึ้น นายหลี่ ต้าเว่ย ยังกล่าวอีกว่า จีนจำเป็นต้องเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่/ยกระดับอุตสาหกรรมด้วยการส่งเสริมความคิดริเริ่มทางด้าน Green (เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม), ดิจิทัล, และอัจฉริยะ
ด้านนาย Wang Yongxiang รองประธานบริษัท Zoomlion Heavy Industry Science and Technology ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์วิศวกรรมในเมืองฉางซา มณฑลหูหนาน กล่าวว่า บริษัทฯ จะปรับใช้แนวทาง “Go Green” เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงดีเซล ผู้ผลิตในประเทศจีนหลายรายได้เร่งพัฒนาเครื่องจักรก่อสร้างที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อจะขยายส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นในตลาดต่างประเทศอีกหลายแห่ง
ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต.
ล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน รายงานว่า GDP จีนในไตรมาส 2 ของปีนี้ ขยายตัวร้อยละ 6.3 ซึ่งขยายตัวมากกว่า GDP ไตรมาส 1 (ร้อยละ 4.5) แต่ก็ต่ำกว่าที่คาดไว้ว่า GDP ไตรมาส 2 จะขยายตัวร้อยละ 7.3 ด้านยอดค้าปลีกเดือนมิถุนายน 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ส่วนยอดค้าปลีกทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7ขณะที่ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 (เทียบรายปี) และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้
ความน่ากังวลใจที่สำคัญประการหนึ่ง ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบไม่น้อยต่อเศรษฐกิจจีน ก็คือ อัตราการว่างงานของจีน โดยอัตราการว่างงานโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 5.2 (เทียบรายปี) ขณะที่อัตราการว่างงานของคนวัยหนุ่มสาว (อายุ 16-24 ปี) สูงถึงร้อยละ 21.3 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลจีนจะเร่งดำเนินนโยบาย/ออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ซึ่งคงไม่ใช่การใช้มาตรการแบบอัดยาแรง แต่เป็นมาตรการแบบรักษาสมดุล อาทิ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การส่งเสริมภาคอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เป็นต้น เพื่อให้ GDP จีนในปี 2566 สามารถเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ตามที่ตั้งเป้าไว้
————————————————–
www.chinadaily.com.cn/a/202307/14/WS64b05b5aa31035260b8164b7.html
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)