หน้าแรกTrade insightเคมีภัณฑ์และพลาสติก > เยอรมันกำลังประสบปัญหาขาดแคลนขวดแก้วบรรจุเครื่องดื่มและอาหารอย่างหนัก

เยอรมันกำลังประสบปัญหาขาดแคลนขวดแก้วบรรจุเครื่องดื่มและอาหารอย่างหนัก

Henkell Freixenet

คาดการณ์กันว่าโดยเฉลี่ยแล้วบริษัท Henkell Freixenet ผู้ผลิต Sparkling Wine รายใหญ่อันดับ 1ของโลก มีการใช้ขวดกว่า 300 ล้านใบ สำหรับบรรจุสินค้าจำพวก Sekt, Prosecco หรือ Cava แต่พอเกิดเหตุการณ์ที่รัสเซียบุกยูเครนขึ้น บริษัทฯ ก็ประสบปัญหาขาดแคลนขวดแก้วในการบรรจุสินค้าเป็นอย่างมาก โดยนาย Andreas Brokemper เจ้าของบริษัทฯ ได้ออกมาเปิดเผยว่า “ปัจจุบันขวดแก้วที่ใช้ในการบรรจุสินค้าของบริษัทฯ นั้นหายากและมีราคาแพงมาก ในขณะที่หากจะหวังพึ่งการรีไซเคิลขวดแก้วก็ยังไม่สามารถทำได้” ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนขวดแก้วมาจาก มีโรงงานผลิตแก้วถึง 2 แห่ง ในยูเครนถูกทำลายจากเหตุการณ์สงคราม ซึ่งนาย Brokemper ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “ทั้ง 2 โรงงานดังกล่าวสามารถผลิตขวดแก้วได้ปีละเฉลี่ยถึง 2 ล้านใบ” นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญก็มาจากการที่รัสเซียก็ไม่สามารถส่งออกสินค้ามายังสหภาพยุโรป (EU) ได้ เพราะติดมาตรการคว่ำบาตรของ EU นั่นเอง ด้านนาย Nikolaus Wiegand ผู้บริหารของบริษัทผลิตแก้ว Wiegand จากแถบ Oberfranken เปิดเผยว่า “ขณะนี้เกิดความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ทำด้วยแก้วเพิ่มสูงมาก แต่อุตสาหกรรมชนิดนี้ (ผู้ผลิตแก้ว) มีความยืดหยุ่นต่ำ ไม่สามารถที่จะเพิ่มกำลังการผลิตได้ง่าย ๆ และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่จะปรับกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้” แม้แต่ Wiegand เอง ก็ไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งหมดได้ และกล่าวว่า “หากโชคร้ายจริง ๆ Wiegand ก็ต้องส่งขวดสีน้ำตาลให้แทนขวดเขียวที่ปกติใช้ใส่ Sekt แทนไปก่อน และตอนนี้บริษัทฯ ก็ชะลอการผลิตขวดรุ่นเขียวใสไปแล้วด้วย อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มต่างก็ประสบปัญหาขาดแคลนแก้วบรรจุภัณฑ์มากว่า 1 ปีแล้ว โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ ได้แก่ เครื่องดื่ม แยม อาหารเด็ก ผักผลไม้ดอง ซอสมะเขือเทศ และ น้ำมัน เป็นต้น โดยปัญหาขาดแคลนสินค้า และปัญหาสินค้าราคาแพงขึ้นได้ส่งผลกระทบกับผู้บรรจุเครื่องดื่มแบบนำกลับมาใช้ใหม่ด้วย ผู้ผลิตเครื่องดื่มจำนวนหนึ่งจึงออกมาร้องขอให้เพิ่มราคาค่ามัดจำขวดให้สูงขึ้น สำหรับขวดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้”

Johann Overath

ด้านสมาพันธ์อุตสาหกรรมแก้ว (Bundesverband Glasindustrie) ให้ข้อมูลว่า “ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแก้วส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก และพบว่าค่าใช้จ่ายในการผลิตแก้วในหลาย ๆ พื้นที่ได้ปรับตัวสูงขึ้น” สำหรับ ผู้ประกอบการในเยอรมนีแล้ว ต่างก็พยายามที่จะรักษาความมั่นคงในการผลิตไว้ แต่ปัญหาหลักก็คือ ราคาพลังงาน โดยนาย Johann Overath ผู้บริหารของสมาพันธ์ฯ กล่าวเสริมว่า “ในการผลิตแก้วต้องใช้พลังงานค่อนข้างมาก” โดยนับตั้งแต่ปี 2022 ที่เกิดสงครามรัสเซีย – ยูเครนขึ้น ราคาแก๊สในตลาดก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 16 เท่า ในขณะที่ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 12 เท่า ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมวัตถุดิบอย่างอื่น อาทิ ทราย ปูนขาว และโซดา ที่ต่างก็ปรับราคาสูงขึ้นมาก ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันราคาโซดาเพิ่มขึ้นถึง 70 – 80% แน่นอนที่ราคาเหล่านี้จะส่งผลกระทบกับราคาค่าการผลิตขวดแก้วโดยอัตโนมัติ” สำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี (Statistisches Bundesamt) รายงานว่า โดยเฉลี่ยในปี 2022 มีต้นทุนการผลิตแก้วได้ปรับตัวสูงขึ้นถึง 60% เมื่อเทียบกับปี 2015 โดยต้นทุนตัวนี้จะขึ้นสูงมากน้อยอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่า แก้วที่ผลิตได้เป็นแก้วชนิดไหน ด้านนาย Cord Meiners หัวหน้าฝ่ายจัดซื้อของบริษัท Zentis จากเมือง Aachen กล่าวว่า “ต้นทุนการซื้อแก้วของเราเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา” สำหรับบริษัท Zentis เป็นผู้ผลิตที่นำแยม น้ำผึ้ง และครีมช็อกโกแลตมาบรรจุขวดแก้วเพื่อจัดจำหน่าย โดยบริษัทฯ ให้ข้อมูลว่า จากสถานการณ์ขาดแคลนแก้ว ทำให้ผู้ผลิตแก้วจำนวนหนึ่งพยายามที่ใช้สถานการณ์นี้ให้เป็นประโยชน์ในการแอบนราคาสินค้า ซึ่งบริษัท Schloss Wachenheim (ผู้ผลิต Faber Sekt) ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีประสบการณ์ตรงกับปัญหาดังกล่าว นาย Oliver Gloden ผู้บริหารของ Schloss Wachenheim กล่าวว่า “บริษัทฯ ถูกบีบคั้นให้ต้องเลือกระหว่าง จะยอมจ่ายแพงหรือจะไม่ได้ขวดแก้วเลย” ในขณะที่ บริษัทผู้ผลิตอาหารเด็ก Hipp เองก็เปิดเผยว่า “ปัจจุบันราคาแก้วได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” โดยสมาพันธ์อุตสาหกรรมแก้วเองก็ออกมาแจ้งว่า ในเวลานี้ ความต้องการแก้วสำหรับใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ยังสูงอยู่ โดยเฉลี่ยเยอรมนีจะมีการใช้แก้วที่ 2.9 ล้านตันต่อปี บริษัท Wiegand Glas ซึ่งเป็นผู้ผลิตขวดแก้วกว่า 3 พันล้านขวดต่อปี (จัดว่าเป็นผู้ผลิตแก้วชั้นนำของเยอรมนี) กล่าวว่า “1 ใน 4 แก้วที่จำหน่ายในเยอรมนีมาจากเรา” จากข้อมูลของบริษัทฯ ในเบื้องต้น พบว่า “บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากแก้วกำลังกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง” เพราะสำหรับผู้บริโภคจำนวนมากบรรจุภัณฑ์จากแก้วเรียกได้ว่าเป็นวัตถุดิบที่ยั่งยืน บริษัท Coca Cola กล่าวว่า “บรรจุภัณฑ์เป็นหนึ่งในแรงผลักดันหลักในการลดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ของเรา” ทำให้บริษัทที่รับสัมปทานบรรจุเครื่องดื่มยี่ห้อ Cola, Fanta และ Sprite ลงทุนกว่า 40 ล้านยูโรกับขวดแก้วที่นำกลับมาใช้ใหม่ นาย Florian von Salzen บริษัท Coca-Cola Europacific Partners Deutschland ผู้รับสัมปทานบรรจุเครื่องดื่มฯ กล่าวว่า “สำหรับอนาคตแล้ว เรามองเห็นศักยภาพในการเติบโตของขวดแก้วที่นำกลับมาใช้ใหม่ สำหรับเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ทุกประเภท” และยังเห็นทิศทางว่า “การใช้แก้วกับธุรกิจเครื่องดื่ม Take Away น่าจะขยายตัวขึ้นเท่ากับปีที่ผ่านมา” แต่ปัญหาขาดแคลนขาดแก้วในยุโรปน่าจะเป็นมีผลให้เกิดการชะลอตัวในการดำเนินธุรกิจลงได้ โดยในปีที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี ที่ผู้รับสัมปทานบรรจุเครื่องดื่มฯ ประสงค์จะนำขวดคลาสสิกรุ่น 0,33 แบบ Sixpack แบบขวดแก้วที่นำกลับมาใช้ใหม่ออกสู่ตลาดเยอรมันอีกครั้ง แต่หลังจากที่โรงงานแก้วในเมือง Kiew ถูกทำลายในสงคราม ทำให้ผู้รับสัมปทานบรรจุเครื่องดื่มฯ ต้องเลื่อนแผนดังกล่าวออกไป 1 ปี

Riegele Brauerei

ผู้ผลิตเครื่องดื่มส่วนหนึ่งออกมาแจ้งความประสงค์ว่า ต้องการให้มีการปรับราคามัดจำขวดแก้วที่นำกลับมาใช้ใหม่ขึ้นเป็น 25 เซ็นต์ เท่ากับขวดพลาสติก PET ซึ่ง 1 ในบริษัทที่ออกมาเรียกร้องกรณีดังกล่าว ได้แก่ บริษัท Riegele Brauerei จากเมือง Augsburg ที่จำหน่ายสินค้ายี่ห้อ Spezi โดยนาย Sebastian Priller ผู้บริหารบริษัท Riegele Brauerei กล่าวว่า “เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ขวดแก้วมีราคาระหว่าง 11-15 เซ็นต์โดยประมาณ แต่ตอนนี้อยู่ที่ 30 เซ็นต์ เข้าไปแล้ว และมีความเป็นไปได้ที่อาจปรับสูงขึ้นไปอีก โดยจะอยู่กับประเภทของขวด” สำหรับราคามัดจำขวดในปัจจุบันที่อยู่ที่ 8 เซ็นต์/ขวด นั้นเป็นราคาที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและไม่ผลักดันให้ผู้บริโภคนำขวดกลับมาคืน ซึ่งจะเป็นการสร้างขยะมากกว่าที่ควรจะเป็น โดยนาย Priller กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “มันไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและกลายเป็นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างไร้เหตุผลเนื่องจากการขึ้นราคาแก้วที่สูงเกินไป” หากราคามัดจำขวดอยู่ที่ 25 เซ็นต์ ก็จะมีการสะสมนำขวดแก้วเหล่านี้กลับมาคืนมากขึ้น ทุกปีผู้ผลิตเบียร์ต้องซื้อขวดเบียร์มูลค่าหลายล้านขวดเพราะผู้บริโภคไม่นำขวดเปล่ากลับมาคืน บริษัท Fritz-Kulturgüter GmbH จากเมือง Hamburg เองก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันให้มีการปรับราคาขวดแก้วที่นำกลับมาใช้ใหม่เช่นกัน ผู้ที่ยังไม่กล้าสนับสนุนอย่างเป็นทางการก็คือกลุ่มผู้ผลิตเบียร์จำนวนหนึ่ง และผู้ผลิตน้ำแร่ที่กลัวว่า การปรับค่ามัดจำขวดนี้จะเพิ่มภาระให้กับผู้ผลิตเครื่องดื่มมากเกินไป

บริษัท Wiegand เห็นว่า มีแนวโน้มที่สถานการณ์ของบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากแก้วจะตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าแก้วและขวดแก้วที่ถูกคว่ำบาตรของรัสเซียส่วนหนึ่งจะแอบผ่านตุรกีเข้ามาใน EU บ้างก็ตาม นาย Wiegand กล่าวว่า “ปัญหานี้ภาคการเมืองก็ทราบดี แต่ก็ยังไม่จัดการอะไร” สำหรับโรงงานผลิตแก้วในยูเครนแม้ว่าจะถูกทำลายจากระเบิดไปส่วนหนึ่ง แต่ในเวลานี้เริ่มมีการซ่อมแซมกันบ้างแล้ว โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท Vetropack จากสวิสเซอร์แลนด์ได้ออกมาประกาศว่า จะไปตั้งโรงงานผลิตแก้ว ไกล้ ๆ กับเมือง Kiew ในขณะที่ นาย Johann Reiter ผู้บริหารบริษัทกล่าวว่า “เป็นไปได้ที่โรงงานจะเริ่มทำการผลิตในช่วงสิ้นปีนี้ หากพื้นที่ดังกล่าวไม่ถูกกลับมาโจมตีอีกครั้ง” อย่างไรก็ตามราคาแก้ว และขวดแก้วในช่วงนี้ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะถูกลง แม้ว่าราคาพลังงานจะลดลงไปบ้างแล้วก็ตาม โดยนาย Wiegand อธิบายว่า “เราไม่รู้สึกถึงราคาน้ำมันที่ลดลงเลย เพราะตอนนี้เรากำลังใช้น้ำมันเตาที่ซื้อมาแพง ๆ เผาแก้วอยู่” โดยบริษัทได้ลงทุนในปี 2022 จำนวนมหาศาล เพื่อที่หากมีความจำเป็นก็สามารถที่จะใช้น้ำมันเตามาเป็นแหล่งเชื้อเพลิงได้ แต่นาย Wiegand เองก็ไม่สามารถรับประกันราคาถูกให้กับผู้ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มได้ และกล่าวส่งท้ายว่า “ลูกค้าของเราต้องเตรียมปรับตัวรับระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างถาวร เนื่องจากล่าสุดมีการปรับอัตราค่าจ้างให้สูงขึ้นไปอีกด้วย”

 

Handelsblatt 19 มิถุนายน 2566

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (Thanit Hirungitrungsri)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login