หน้าแรกTrade insightสุกร > เยอรมนีผ่านร่างกฎหมายฉลากสวัสดิภาพสัตว์ จะเริ่มบังคับใช้กับเนื้อสุกรที่ยังไม่ผ่านการแปรรูปเป็นอันดับแรก

เยอรมนีผ่านร่างกฎหมายฉลากสวัสดิภาพสัตว์ จะเริ่มบังคับใช้กับเนื้อสุกรที่ยังไม่ผ่านการแปรรูปเป็นอันดับแรก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

 

© BMEL

 

วันนี้ (16 มิ.ย. 2566) รัฐสภาแห่งเยอรมนีได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติฉลากการเลี้ยงสัตว์ (Act on Animal Husbandry Labelling) ที่เสนอโดยนาย Cem Özdemir รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาหารและการเกษตร โดยจะเริ่มบังคับให้ติดฉลากสวัสดิภาพสัตว์กับเนื้อสุกรที่ยังไม่ผ่านการแปรรูปเป็นอันดับแรก และจะขยายการบังคับให้ติดฉลากกับเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ประเภทอื่น ๆ ในลำดับต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว จะถูกนำขึ้นหารือในวุฒิสภาในวันที่ 7 กรกฎาคม 2566

 

ในเยอรมนีมีฉลากสวัสดิภาพสัตว์ของภาคเอกชนหลายแห่ง เช่น ฉลาก Haltungsform, Initiative Tierwohl, Für mehr Tierschutz เป็นต้น อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการติดฉลากสวัสดิภาพสัตว์ยังเป็นมาตรการสมัครใจ ไม่มีข้อกำหนดการติดฉลากตามกฎหมายที่ให้ข้อมูลเหมือนกันเพื่อสร้างความโปร่งใสแก่ผู้บริโภค การติดฉลากสวัสดิภาพสัตว์ที่เป็นข้อบังคับของรัฐจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อได้อย่างชาญฉลาด และเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปรับปรุงและพัฒนาสภาพการเลี้ยงสัตว์ให้ดีขึ้น

 

ร่างพระราชบัญญัติฉลากการเลี้ยงสัตว์มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • อาหารที่ผลิตจากสัตว์ในเยอรมนีและเป็นอาหารที่จำหน่ายให้กับผู้บริโภคในเยอรมนี จะต้องติดฉลากสวัสดิภาพสัตว์
  • ข้อกำหนดการติดฉลากครอบคลุมการจำหน่ายอาหารที่มาจากสัตว์ทุกรูปแบบให้กับผู้บริโภค โดยครอบคลุมทั้งการขายปลีก เคาน์เตอร์บริการ ออนไลน์ และตลาดนัด โดยในระยะแรกจะเป็นการบังคับใช้กับเนื้อสุกรที่ยังไม่ผ่านการแปรรูปทั้งในรูปแบบสด แช่เย็น แช่แข็ง บรรจุในหีบห่อหรือไม่บรรจุในหีบห่อก็ตาม ทั้งนี้ ในระยะเวลาต่อไปจะขยายการบังคับติดฉลากการเลี้ยงสัตว์ให้กับสัตว์ประเภทอื่นอีก
  • การติดฉลากจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่สัตว์ถูกเลี้ยงไว้ในช่วงที่สัตว์กำลังเติบโตหรือช่วงขุนสัตว์ โดยแบ่งเป็น 5 ระบบ ได้แก่
      1. เลี้ยงในโรงเรือน (Indoor)
      2. เลี้ยงในโรงเรือน แบบมีพื้นที่ให้สัตว์ (Indoor+space)
      3. เลี้ยงในโรงเรือนแบบสัตว์สัมผัสอากาศภายนอกได้ (Indoor with fresh air)
      4. เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ (Outdoor runs/free-range)
      5. ระบบเกษตรอินทรีย์ (Organic)

 

ลักษณะเฉพาะของการเลี้ยงสุกรตามระบบการเลี้ยงต่าง ๆ

  1. การเลี้ยงในโรงเรือน (Indoor)
    ในระหว่างการขุน ปศุสัตว์จะถูกควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมาย
  1. การเลี้ยงในโรงเรือน แบบมีพื้นที่ให้สัตว์ (Indoor+space)
    สุกรมีพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมาย โรงเรือนมีโครงสร้างโดยใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น ผนังกั้นห้อง พื้นต่างระดับ พื้นที่ที่มีอุณหภูมิหรือสภาพแสงต่างกัน
  1. การเลี้ยงในโรงเรือนแบบสัตว์สัมผัสอากาศภายนอกได้ (Indoor with fresh air)
    ภายในโรงเรือน สุกรสามารถสัมผัสกับสภาพอากาศภายนอกได้อย่างถาวร ซึ่งทำได้โดยการเปิดอย่างน้อยหนึ่งด้านของโรงเรือนเพื่อให้สัตว์สามารถสัมผัสได้ถึงสภาพแวดล้อม เช่น แสงแดด ลม และสายฝน สุกรมีพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมาย
  1. การเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ (Outdoor runs/free-range)
    ต้องจัดให้สุกรวิ่งเล่นกลางแจ้งหรือเลี้ยงไว้กลางแจ้งโดยไม่มีโรงเรือนถาวรตลอดทั้งวันหรือเป็นระยะเวลาอย่างน้อยแปดชั่วโมงต่อวัน สุกรมีพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมาย
  1. ระบบเกษตรอินทรีย์ (Organic)
    ตามข้อกำหนดของ EU Organic Farming Regulation (EU) 2018/848 ซึ่งหมายถึงพื้นที่วิ่งกลางแจ้งที่ใหญ่ขึ้นและพื้นที่ในโรงเลี้ยงปศุสัตว์ที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับการเลี้ยงแบบอื่น

 

ข้อสังเกต/ข้อคิดเห็น

  1. เยอรมนีให้ความสำคัญกับประเด็นสวัสดิภาพสัตว์มาก มาตรการติดฉลากการเลี้ยงสัตว์จะช่วยผลักดันให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสวัสดิภาพสัตว์อย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยยกระดับสุขภาพสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคอันจะนำไปสู่การบริโภคที่ยั่งยืนต่อไป
  2. มาตรการติดฉลากการเลี้ยงสัตว์ในเยอรมนีที่จะเริ่มบังคับใช้กับเนื้อสุกรเป็นอันดับแรกนั้น คาดว่าไม่ส่งผลกระทบต่อไทย เพราะไทยยังไม่สามารถส่งออกเนื้อสุกรไปยังเยอรมนี/สหภาพยุโรปได้ และกฎระเบียบดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะอาหารที่ผลิตจากสัตว์ในเยอรมนีเท่านั้น
  3. อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมพร้อม หากในอนาคตมีการขยายการบังคับใช้กับอาหารอื่น ๆ เช่น เนื้อสัตว์ปีก โดยเฉพาะไก่แปรรูป ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของสหภาพยุโรป การแก้กฎระเบียบสวัสดิภาพสัตว์ อาจส่งผลกระทบต่อไทย เพราะสหภาพยุโรปจะเรียกร้องให้ผู้ส่งออกเนื้อสัตว์จากประเทศที่สามต้องปฏิบัติตามมาตรฐานระดับเดียวกันกับผู้ประกอบการในสหภาพยุโรป เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน

 

แหล่งที่มาของข้อมูล
Federal Ministry of Food and Agriculture
สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Login