หน้าแรกTrade insightถั่วเหลือง > เยอรมนีผลิตโปรตีนทางเลือกจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์มากขึ้น

เยอรมนีผลิตโปรตีนทางเลือกจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์มากขึ้น

ตลาดผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากพืชเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ (Plant-based Product) กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในเยอรมนี ในขณะเดียวกันการบริโภคเนื้อสัตว์ในเยอรมนีก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงมูลค่าของตลาด ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์จากพืชยังคงมีมูลค่ากับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์อยู่มาก

 

ตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ทั้งแบบวีแกน และมังสวิรัติ เช่น ไส้กรอกเต้าหู้ ซอสถั่วเหลือง เนื้อเบอร์เกอร์มังสวิรัติ เติบโตขึ้นอย่างมาก แม้ว่าในเยอรมนีจะมีสภาวะอัตราเงินเฟ้อสูง จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมัน (Statistische Bundesamt) พบว่า หลายบริษัทในเยอรมนีผลิตโปรตีนทางเลือกจากพืชเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับปี 2021 และเมื่อเทียบปริมาณการผลิตกับปี 2019 พบว่ามียอดการผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 72.7 โดยมีผลิตโปรตีนทางเลือกจากพืชเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ทั้งหมด 104,300 ตันในปี 2022 และประมาณ 97,900 ตันในปี 2021

จำนวนผู้ผลิตเพิ่มขึ้น

มูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ในปี 2022 มีจำนวน 537.4 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.3 โดยจำนวนบริษัทผู้ผลิตในเยอรมนีเพิ่มขึ้นจาก 44 บริษัทเป็น 51 บริษัท ถึงแม้ว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าของผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ยังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับมูลค่าผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ในปี 2022 มูลค่าของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่ผลิตในเยอรมนีมีจำนวน 42.4 พันล้านยูโร คิดเป็นเกือบ 80 เท่าของมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ตาม ถือว่าส่วนต่างของมูลค่าผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2019 มูลค่าตลาดของเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่ผลิตในเยอรมนีอยู่ที่ 40.1 พันล้านยูโร ซึ่งสูงเกือบ 150 เท่าของมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ซึ่งอยู่ที่มูลค่าประมาณ 300 ล้านยูโร

ปี 2022 พฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ 52 กิโลกรัมต่อคน

ชาวเยอรมันมีการรับประทานเนื้อสัตว์น้อยลงเรื่อย ๆ เป็นเวลาหลายปี ตามข้อมูลของสำนักงานเกษตรและอาหารแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี Bundesanstalt für Landwirtschaft und Ernährung (BLE) พบว่า ชาวเยอรมันบริโภคเนื้อสัตว์ต่อหัวอยู่ที่ 52.0 กิโลกรัมต่อคนในปี 2022 ซึ่งลดลงเกือบร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปี 2012 และในขณะเดียวกันก็เป็นค่าที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติมาในปี 1989 และคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต ตามรายงานของ BLE รายงานว่า เป็นไปได้ว่าสาเหตุของการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ลดลงอาจเกิดจากแนวโน้มของผู้บริโภคที่เริ่มนิยมการรับประทานอาหารจากผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพืชมากขึ้น

ข้อคิดเห็นของ สคต. แฟรงก์เฟิร์ต

ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืชถูกวางจำหน่ายในประเทศเยอรมนีมาหลายปีแล้วจากกระแสความนิยมของผู้บริโภคเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) การให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์จากพืชมากขึ้น ส่งผลให้ทำให้มูลค่ายอดขายสินค้าประเภทดังกล่าวขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประการการไทยที่ต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากวัตถุดิบต่อผู้บริโภคในตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ประเทศเยอรมนี ที่มีความแตกต่าง มีความแปลกใหม่ หรือทำมาจากวัตถุดิบในท้องถิ่นของไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้รับได้มาตรฐานสากล และหาช่องทางในการติดต่อผู้นำเข้า ทั้งนี้ การเข้าร่วมงานนิทรรศการแสดงสินค้าอาหาร เช่น BIOFACH, ANUGA ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการพบปะกับผู้นำเข้า และศึกษาเทรนด์อาหารรูปแบบใหม่ๆ ได้

 

ที่มา:
Tagesschau,
Federal Office for Agriculture and Food

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login