เยอรมนีกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยและมีทีท่าว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไม่สู้จะดีนัก ผู้บริโภคส่วนใหญ่พากันลดการบริโภคลง เพราะราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ผู้ขายสินค้ามีกำไรลดลงหรือบางเจ้าก็โชคร้ายจนต้องประกาศล้มละลายในที่สุด กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องจักรกลและโรงงานต่างก็ประสบปัญหายอดคำสั่งซื้อลดลง ในขณะที่ ธุรกิจเคมีซึ่งเคยเป็นตัวชี้วัดสำคัญ ที่เอาไว้คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า ยอดขายในปีนี้อาจลดลงถึง 14% สำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี (Statistisches Bundesamt) เปิดเผยล่าสุดว่า “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) คงที่ และนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ออกมาคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจของเยอรมันในปีนี้จะหดตัวลง”
- อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังอยู่ในสถานการณ์ Over Supply : สำหรับเยอรมนีแล้วอุตสาหกรรมรถยนต์ถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ โดยพบว่า ปีนี้อาจอยู่ในช่วงขาลงและถึงแม้ว่ายอดขายและผลประกอบการของผู้ผลิตรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรก ของ Volkswagen (VW) และ Mercedes-Benz จะขยายตัวขึ้น ก็ตาม แต่กลุ่มบริษัทผู้ผลิตก็ยังคงกังวลใจเป็นอย่างมาก ล่าสุด VW ก็ออกมาประกาศลดยอดการประเมินยอดขายรถยนต์ในทั่วโลกลง จากเดิมที่เคยตั้งไว้ที่ 5 ล้านคัน ในปีนี้ ในขณะที่ นาย Ola Källenius ผู้บริหารของ Mercedes-Benz ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt และแสดงความกังวลต่อสถานการณ์โดยรวมที่ดำเนินธุรกิจได้ค่อนข้างยากลำบาก ว่า “ธนาคารต่าง ๆ เล็งปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เศรษฐกิจโลกก็ไม่ขยายตัวอย่างที่เคยคาดไว้” ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่มาพร้อม ๆ กับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยจะพยายามหลีกเลี่ยงหรือชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์คันใหม่ โดยจะเห็นว่า ยอดขายรถยนต์ในหลาย ๆ ภูมิภาคลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ซึ่งพบว่า ความต้องการรถ EV ในเยอรมนี ลดลง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ด้านสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมัน (VDA – Verband der deutschen Automobilindustrie) ออกมาคาดการณ์ว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 “จะเป็นช่วงที่ท้าทายมากสำหรับเรา เพราะสถานการณ์รถยนต์ล้นตลาด” ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารเพื่อการลงทุน UBS คาดการณ์ว่า “ผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายน่าจะมีกำไรลดลงในช่วงไตรมาสที่จะมาถึงนี้”
- อุตสาหกรรมเคมีจะได้กำไรลดลงซึ่งเป็นสัญญาณร้ายต่อภาคเศรษฐกิจ : บริษัท BASF, Evonik และ Lanxess ต่างก็พากันลดเป้าทางธุรกิจลง และยังลดค่าการประเมินผลกำไรลงด้วย โดยนาย Markus Steilemann ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเคมี (VCI – Verband der chemischen Industrie) และเจ้าของบริษัทผู้ผลิตพลาสติก Covestro เปิดเผยว่า “อุตสาหกรรมเคมีน่าจะเป็นโดมิโน่ชิ้นแรกที่ล้มลง โดยอุตสาหกรรมอยู่ในช่างต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานประสบปัญหา ก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ตามมา” ทั้งนี้ เป็นเพราะความต้องการสินค้าของอุตสาหกรรมเคมีลดลงมากกว่าปกติ จึงเป็นเครื่องสะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศใ นภาพรวม เพราะกว่า 95% ของสินค้าอุตสาหกรรมต้นน้ำเป็นสินค้าของอุตสาหกรรมเคมีแทบทั้งสิ้น โดยลูกค้าของอุตสาหกรรมเคมีส่วนใหญ่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหา สต๊อกสินค้าล้นโกดัง ทำให้หยุดหรือชะลอการสั่งซื้อสินค้า/วัตถุดิบล๊อตใหม่ ซึ่งจากข้อมูลของ VCI พบว่า ยอดขายในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ลดลง 5% ด้านนาย Steilemann ออกมาติงว่า “ตัวเลขที่ติดลงในช่วงครึ่งปีแรกนั้นสะท้อนให้เห็นว่า เยอรมนีไม่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้” ที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมเคมีได้มีการประชุมสมาชิกกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด ได้รับแจ้งว่า “เหล่าบรรดาสมาชิกกำลังประสบปัญหากำไรถดถอยอย่างหนัก และที่ผ่านมามีการคาดการณ์กันว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศจะกลับมาดีขึ้น เพราะกว่า 45% ของสินค้าเคมีจากเยอรมนีส่งออกไปจีน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขณะนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กำลังเจอกับปัญหาความต้องการสินค้าลดลง” สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง หลายฝ่ายคาดว่า ยังไม่มีทีท่าที่จะปรับตัวดีขึ้น โดยนาย Martin Brudermüller ผู้บริหารของ BASF กล่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “ขณะนี้เราคงหวังได้เพียงว่า จะมีการฟื้นตัวได้บ้าง และเมื่อดูโดยรวมแล้ว ก็พบว่า ความต้องการสินค้าอุปโภค/บริโภคทั่วโลกน่าขยายตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์กันไว้” VCI คาดการณ์ว่า ยอดขายของอุตสาหกรรมเคมีและเวชภัณฑ์ยาในปี 2023 น่าจะลดลง 14% และกำลังการผลิตอาจลดลงถึง 8%
- การบริโภคหดตัวมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ : สมาคมผู้ค้าปลีกชาวเยอรมัน (HDE – Handelsverband Deutschland) ได้ออกมาเตือนว่า มีความเป็นไปได้ที่ใน 2 – 3 เดือนข้างหน้านี้ ทิศทางการบริโภคในครัวเรือจะหดตัวลง หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงก่อนหน้านี้ และจากข้อมูลในแบบสอบถามของ HDE ที่ทำการสัมภาษณ์บริษัทเอกชนกว่า 900 ราย พบว่า “35% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามคาดการณ์กันว่า ยอดขายของตนในช่วงปลายปีมีนี้จะลดลง เฉลี่ย 4% โดยประมาณ” ด้าน นาย Alexander von Preen ประธาน HDE เปิดเผยว่า “ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในระยะยาว” กล่าวคือ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี (Statistisches Bundesamt) เปิดเผยว่ายอดขายของธุรกิจค้าปลีกหลังจากนำอัตราเงินเฟ้อมาหักลบแล้วลดลง 5% และถ้าต้องการที่จะทราบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับราคามากขนาดไหน ก็ต้องมาศึกษาจากธุรกิจสินค้าบริโภคที่วางขายในร้าน Discounter โดยพบว่า ลูกค้าได้หันไปซื้อสินค้า Private Label มากขึ้นแทนที่จะซื้อสินค้าที่มียี่ห้อ จึงทำให้ผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคจำนวนมากประสบปัญหาตาม ๆ กัน โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุด เห็นจะเป็นกลุ่มผู้ขายสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ เครื่องเรือน เครื่องนุ่งห่ม หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ลูกค้าจำนวนมากชะลอการซื้อสินค้าเหล่านี้ออกไปก่อน หรือตัดสินใจไม่ซื้อไปเลย ทั้งนี้ เป็นเพราะในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคส่วนหนึ่งได้ซื้อสินค้าเหล่านี้ไปแล้ว เพราะตอนนั้นไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวที่ไหนได้ สำหรับ สถานการณ์ของกลุ่มสินค้าเหล่านี้เป็นอย่างไรสามารถดูได้จากร้าน About You ซึ่งเป็นร้านค้า Online ที่มียอดขายในช่วงต้นปีโตขึ้นเพียงเล็กน้อย ในปีงบประมาณ 22/23 นั้นยอดขายของบริษัทขยายตัวถึง 10% ด้านนาย Tarek Müller ผู้บริหารบริษัท About You ให้ข้อมูลว่า “ผลประกอบการของ About You ได้สะท้อนความท้าทายในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างดี” โดยหลายร้านค้าเครื่องนุ่งห่มกว่า 40 ร้าน ในประเทศได้ประกาศล้มละลายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ร้าน Hallhuber, Gerry Weber และ Peek & Cloppenburg รวมไปถึงร้าน Zapata ที่ประกาศล้มละลายครั้งที่ 3 ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา
- อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุตสาหกรรมไฟฟ้าเจอปัญหายอดคำสั่งซื้อหายไป : ผู้ผลิตเครื่องจักรกลและโรงงานต่าง ๆ ถือเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยยอดคำสั่งซื้อสินค้าในเดือนพฤษภาคม 2023 ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า ด้านนาย Ralph Wiechers หัวหน้ากองเศรษฐศาสตร์ของสมาคมผู้สร้างเครื่องจักรและโรงงานเยอรมนี (VDMA -Verband Deutscher Maschinen- und Anlagenbau) กล่าวว่า “ทิศทางการหดตัวของยอดการสั่งซื้อดังกล่าวจะยังคงต่อเนื่องมาจนถึงเดือนนี้” โดยกว่า 57% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม แจ้งให้ทราบว่า ยอดการสั่งซื้อที่มีอยู่ลดลงเล็กน้อย และหรือลดลงมาก ในเวลานี้บริษัทส่วนหนึ่งทำงานตามยอดการสั่งซื้อเก่าอยู่ “ซึ่งจะทยอยหมดลงในไม่ช้า” นาย Wiechers ยังได้กล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 , สงครามยูเครนกับรัสเซีย และผลจากการคว่ำบาตร ได้ทำให้ไม่สามารถทราบได้เลยว่า วัฏจักรธุรกิจในตอนนี้เป็นอย่างไรกันแน่ อย่างไรก็ตามนาย Wiechers คาดการณ์ว่า “เมื่อดูจากสถานการณ์ในปัจจุบันก็มีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์ในปีหน้า จะปรับเปลี่ยนไปในเชิงบวกได้อีกครั้ง” สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องไฟฟ้าอาจมีทิศทางดีกว่าอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเล็กน้อย โดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์เยอรมนี (ZVEI – Zentralverband Elektrotechnik- und Elektronikindustrie) เปิดเผยว่า ปริมาณการส่งออก เดือนพฤษภาคม 2023 ขยายตัวขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่ผ่านมา ในขณะที่ นาย Jürgen Polzin ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของ ZVEI กล่าวว่า “ธุรกิจปี 2021 และ 2022 กลับมาดีขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของการผลิต ยอดจำหน่าย การส่งออก และการจ้างงาน” ยอดจำหน่ายรวมของกลุ่มธุรกิจดังกล่าวอยู่ที่ 19.7 พันล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้น 8.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ปริมาณการสั่งซื้อสินค้ายังสูงอยู่แต่ก็ทยอยลดตัวลงเช่นกัน นาย Polzin กล่าวว่า “เราเห็นเทรนด์ในการลดการสั่งสินค้าบ้างเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่เป็นไปในเชิงลบ”
Handelsblatt 18 สิงหาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (Thanit Hirungitrungsri)
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)