เขตหนานคัง เมืองก้านโจว มณฑลเจียงซี เป็นฐานการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุด และเป็นศูนย์กลางการกระจายไม้ และเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของจีน ถึงแม้ว่าเขตหนานคังไม่ได้มีทรัพยากรต้นน้ำอย่าง ไม้ แร่ธาตุ และสิ่งทอ อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่กลับสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเฟอร์นิเจอร์ แร่ เสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นอุตสาหกรรมเสาร์หลักของท้องถิ่นได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไม้มีรากฐานที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยปัจจุบันในเขตหนานคัง เมืองก้านโจว มีนิติบุคคลด้านเฟอร์นิเจอร์กว่า 7,000 แห่ง และผู้ที่ประกอบธุรกิจด้านเฟอร์นิเจอร์ 500,000 คน มีมูลค่าทางแบรนด์สินค้าเฟอร์นิเจอร์กว่า 10,000 ล้านหยวน นอกจากนี้ ยังมีนิติบุคคลด้าน E-Commerce ที่ดำเนินธุรกิจเฟอร์นิเจอร์กว่า 4,000 แห่ง มีมูลค่าค้าขายผ่านทางออนไลน์สูงถึง 60,000 ล้านหยวนต่อปี ส่งผลให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของเขตหนานคัง ติดอันดับต้นๆ ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของจีน
ในช่วงปี 2563-2565 ท่ามกลางการระบาดของโควิด มูลค่าตลาดของเฟอร์นิเจอร์เขตหนานคังมีมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านหยวน มีปริมาณการค้าขายไม้ 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของเขตหนานคัง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของเขตหนานคังเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว มาจาก เขตหนานคังมีระบบโลจิสติกส์ที่สะดวก ครอบคลุมทั้งทางรถไฟ ถนนหลวงและทางด่วน โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟที่เป็นเมืองหนึ่งในเส้นทางสำคัญของ One Belt One Road โดยสามารถเชื่อมโยงโลกตะวันออก กับยุโรปอย่างไร้รอยต่อ และคาดว่าเส้นทางรถไฟลาวจีน จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่เชื่อมโยงการขนส่งไม้แปรรูปเข้ามาซัพพลายให้กับเมืองหนานคังได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีบริษัทขนส่งกว่า 400 แห่ง รวมถึงบริษัทขนส่งที่มีชื่อเสียงของจีน อาทิ Cainiao Express, SF Express, Deppon Express, JD Express, Zto Express, Yto Express, Sto Express, Yunda Express เป็นต้น ที่สามารถกระจายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของเขตหนานคังไปทั่วประเทศได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว
ศูนย์ส่งเสริมคุณค่า และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไม้ ร่วมกับสำนักงานกิจการป่าไม้มณฑลเจียงซี และเทศบาลเมืองก้านโจว ได้ร่วมจัดงานนิทรรศการสินค้าไม้นำเข้าครั้งที่ 3 (The 3rd International Import Wood Trade Expo) โดยจัดขึ้น ณ เขตหนานคัง เมืองก้านโจว มณฑลเจียงซี ระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน 2566 ภายใต้หัวข้อ “รวมตัวไม้ในเมืองก้านโจว เชื่อมโยงทั่วโลกผ่านด่านต่างๆ” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างโอกาสในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไม้ในประเทศ สนับสนุนสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ และร่วมวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ของเมืองให้ก้าวขึ้นสู่ระดับสากล
งานแสดงสินค้ามีพื้นที่จัดแสดงกว่า 20,000 ตารางเมตร มีโซนจัดแสดงไม้นำเข้าชนิดต่างๆ รวมทั้งไม้จากอเมริกาเหนือและใต้ ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัสเซีย แอฟริกา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงสินค้าไม้จากต่างประเทศกว่า 60 ประเทศ ที่รวบรวมผู้แสดงสินค้าที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกถึง 115 ราย ซึ่งงานนี้ได้ดึงดูดผู้ประกอบการในวงการไม้กว่า 100 รายจากทั่วประเทศ อาทิ นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลซานตง มณฑลกว่างตง มณฑลฝูเจี้ยน เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน เขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วง มณฑลห่ายหนาน เป็นต้น
ภายในงาน ยังมีตัวแทนจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงานครั้งนี้ อาทิ ผู้บริหารจากสำนักงานป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งชาติจีน ตัวแทนจากสถานทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศจีน ตัวแทนฝ่ายพาณิชย์ของสถานทูตโคลัมเบียประจำประเทศจีน สมาคมไม้เลื่อยและไม้แปรรูปอินโดนีเซีย และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ซึ่งนางสาวนันท์ภัส งามแม้น ผู้อำนวยการสำนักงานฯ ได้ขึ้นกล่าวในงานพิธีเปิด โดยกล่าวขอขอบคุณประชาชนชาวจีน โดยเฉพาะเขตหนานคัง เมืองก้านโจวที่ได้สนับสนุนไม้ยางพาราของไทย และหวังว่าความร่วมมือของทั้งสองประเทศจะสามารถพัฒนาก้าวหน้าอย่างเหนี่ยวแน่นต่อไปในอนาคต
ผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ ของจีนที่เข้าร่วมงาน กล่าวว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าไม้ทั้งสิ้น 81.288 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณค้าขายสินค้าไม้ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร และปริมาณการบริโภคไม้อยู่ที่ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมไม้ของจีนเกิดปัญหาต่างๆ เช่น การอุปทานไม้เลื่อยไม่เพียงพอ กำลังการขนส่งมีข้อจำกัด และราคาไม้มีความผันผวนสูง เป็นต้น ส่งผลให้จีนต้องกระตุ้นและปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานของไม้อย่างเร่งด่วน
ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ของไทย มีทรัพยากรไม้ยางพาราที่อุดมสมบูรณ์ มีการส่งออกสู่ประเทศจีนเป็นจำนวนมาก และยังเป็นแหล่งส่งออกไม้เลื่อยใบกว้างที่ใหญ่ที่สุดของจีน ไม้ยางพาราเป็นประเภทไม้ที่มีใบกว้างมีปริมาณนำเข้ามากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของการนำเข้าไม้ใบกว้างทั้งหมดของจีน ไม้ยางพาราของไทยเป็นไม้ชนิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพดี มีความยั่งยืน มีการปริมาณผลิตและแปรรูปอย่างมีเสถียรภาพ และราคาเหมาะสม ไม้ยางพาราของไทยได้แสดงบทบาทที่สำคัญมากกับการพัฒนาของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของจีน โดยเฉพาะเขตหนานคัง เมืองก้านโจว มณฑลเจียงซี และเมืองซุ่นเต๋อ เมืองโฝซาน มณฑลกว่างตง ในช่วงปี 2554-2564 การนำเข้าไม้ยางพาราจากไทยของจีนได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 (โดยเฉลี่ย) และใน 5 ปีล่าสุด จีนมีมูลค่านำเข้าไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราอยู่ที่ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 3 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากไทยทั้งหมดของจีน ปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกไม้เลื่อยยางพารายังจีน 3.84 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 YoY คิดเป็นมูลค่า 990 ล้านเหรียญสหรัฐ ราคาต่อลูกบาศก์เมตรอยู่ที่ 256.4 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ร้อยละ 80 ของไม้เลื่อยยางพารา ได้กระจายไปยังเขตหนานคัง เมืองก้านโจว
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์เป็นอุตสาหกรรมหลักของ เขตหนานคัง เมืองก้านโจว โดยอุตสาหกรรมภายในเขตมีการเติบโตในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ช่วยผลักดันเศษฐกิจของเมืองก้านโจว โดยในปี 2565 GDP ของเขตหนานคังอยู่ที่ 44,390 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 YoY โดยการผลิตขั้นปฐมภูมิเป็น 100 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 YoY การผลิตขั้นทุติยภูมิเป็น 17,650 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 YoY การผลิตขั้นตติยภูมิเป็น 15,190 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 YoY
งานนิทรรศการสินค้าไม้นำเข้า (เขตหนานคัง เมืองก้านโจว มณฑลเจียงซี) ครั้งที่ 3 ในครั้งนี้ เป็นเวทีสะท้อนการเปิดกว้างทางด้านการค้าและการลงทุน ส่งเสริมและเปิดโอกาสในการเจรจาการค้า การร่วมลงทุนกับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจด้านการค้าไม้ นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์ไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ผลักดันขยายตลาดสินค้าไม้ไทย และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรชั้นนำในอนาตค
อนึ่ง ข้อมูลสถิติจากศุลกากรจีน ประมวลโดย Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่า ปี 2566 (ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน) ที่ผ่านมา จีนนำเข้าสินค้าไม้ (HS Code 4407 : Wood Sawn Or Chipped Lengthwise, Sliced Or Peeled, More Than 6 Mm.) มูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,332 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.06 YoY โดยจีนนำเข้าสินค้าไม้จากประเทศรัสเซียมูลค่าสูงสุดที่ 848 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.58 YoY (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.37) รองลงมาอันดับ 2 คือประเทศไทย มีมูลค่าการนำเข้า 315 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 9.77 YoY (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.51) และ ประเทศสหรัฐอเมริกามีมูลค่าการนำเข้า 296 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.88 YoY (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.70 ของการนำเข้าไม้ทั้งหมด) ตามลำดับ โดยนำเข้าผ่านทาง มณฑลกว่างตงปริมาณสูงสุด รองลงมาคือ มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลเฮยหลงเจียง มณฑลเจียงซู และ เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ตามลำดับ
ที่มา :
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1764228095632850722&wfr=spider&for=pc
https://zhidao.baidu.com/question/1765045864215442108.html
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
9 มิถุนายน 2566