หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > เปรูและกลุ่มประเทศ Pacific Alliance กลับมาร่วมหารืออีกครั้ง

เปรูและกลุ่มประเทศ Pacific Alliance กลับมาร่วมหารืออีกครั้ง

ประธานาธิบดีเปรูเข้ารับตำแหน่งผู้นำของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก[1] (Pacific Alliance: PA) หรือ (Alianza del Pacifico- AP) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2566 ภายหลังจากสถานการณ์การเมืองที่ไม่สงบและยืดเยื้อเป็นเวลากว่า 7 เดือนในเปรู โดย PA เป็นกรอบความตกลงด้านการค้ามีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 (เริ่มมีการก่อตั้งเมื่อปี 2554)  วัตถุประสงค์หลักของการจัดทำความตกลง PA เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศสมาชิกและการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าส่งออกของสมาชิกในกลุ่ม PA ทั้งนี้ เปรู ในฐานะผู้นำของกลุ่ม PA ได้เน้นความสำคัญของการส่งเสริมการค้า การลงทุน และประเด็นทางสังคม โดยประเด็นดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนตลอดช่วงการเป็นผู้นำของกลุ่ม PA (วาระ 1 ปี จนถึงเดือนมีนาคม 2567) และเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2567

กลุ่ม PA ถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยกลุ่ม PA ประกอบด้วยประชากรจำนวน 233.6 ล้านคน และ GDP ต่อคนเฉลี่ยที่ 9,207 เหรียญสหรัฐ ปริมาณการค้ารวมของกลุ่มคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.4 ของปริมาณการค้ารวมของภูมิภาคลาตินอเมริกา และสามารถดึงดูดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 ของการลงทุนฯ ทั้งหมดในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน  มูลค่า GDP ของกลุ่ม PA คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.9 ของ GDP รวมของภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน  ซึ่งถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของโลก และมีอำนาจการส่งออกอยู่ในลำดับที่ 6 ของโลก นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่ม PA เป็นประเทศที่ความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา[1]

การส่งเสริมและพัฒนา MSMEs เป็นวาระสำคัญหนึ่งของการดำเนินงานของกลุ่ม PA โดยการดำเนินงานที่มีความคืบหน้ามากที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งกลุ่ม PA คือความร่วมมือด้านการลดอุปสรรคทางภาษี ที่สามารถลดภาษีศุลกากรระหว่างประเทศสมาชิกได้ถึงร้อยละ 92 และมีการลดเงื่อนไขเกี่ยวกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้า รวมทั้ง ประเด็นสำคัญที่สมาชิกมีความสนใจร่วมกัน เช่น ความร่วมมือด้านการพัฒนาการศึกษา การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาความสัมพันธ์กับอาเซียน เป็นต้น[2] ทั้งนี้ กลุ่ม PA มุ่งให้ความสำคัญต่อการบูรณาการเศรษฐกิจภายในกลุ่มสมาชิก และเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเน้นจุดเด่นด้านความสามารถทางการแข่งขันของกลุ่ม และมุ่งให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความสันพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น[3]

จากข้อมูลของกระทรวงการค้าและการท่องเที่ยวของเปรู (Mincetur) ปี 2565 การค้าของเปรูกับประเทศในกลุ่ม PA  มีปริมาณการค้าสูงที่สุด โดยมีมูลค่า 8,418 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกของเปรูไปยังประเทศสมาชิก PA มีมูลค่ารวม 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.1 ของการส่งออกทั้งหมดของเปรู[4] ซึ่งมีการส่งออกเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.7 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ สินค้าส่งออกกว่าร้อยละ 50 ผลิตโดยภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) ของเปรู ซึ่งมีจำนวนกว่า 3,100 บริษัท เปรูตั้งเป้าหมายขยายการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม PA เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในปี 2573[5]

กลุ่ม PA ได้กำหนดวิสัยทัศน์สำหรับปี 2573 ในการบูรณาการและยกระดับการสร้างความเชื่อมโยงกับพันธมิตรและประเทศในกลุ่มสมาชิกภาพต่าง ๆ ที่ประกอบด้วย (1) รัฐสมาชิก (2) รัฐสมทบ ได้แก่ สิงคโปร์ และ (3) รัฐผู้สังเกตการณ์ จำนวน 60 ประเทศ รวมอาเซียน 3 ประเทศ ( ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศแรกของอาเซียนที่มีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับกลุ่ม PA  หรือความตกลง Pacific Alliance-Singapore Free Trade Agreement (PASFTA) ซึ่งสิงคโปร์เจรจาจัดทำความตกลงฯ ร่วมกับกลุ่ม PA เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ซึ่งสมาชิกภาคีทั้ง 5 ประเทศ ได้บรรลุการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีดังกล่าวแล้ว โดยการลงนามความตกลงฯ และปฏิญญาร่วม (Joint Declaration) ร่วมกันระหว่างประเทศภาคี ในขั้นต่อไป สิงคโปร์และประเทศภาคีจะดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยความตกลงฯ จะเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อสิงคโปร์และประเทศ Pacific Alliance อย่างน้อย 2 ประเทศให้สัตยาบันแล้ว

บทวิเคราะห์/ความเห็นของ สคต.

กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก หรือกลุ่ม PA ถือเป็นพัฒนาการทางความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคที่สำคัญล่าสุดในลาตินอเมริกาเพื่อตอบสนองต่อกระแสเศรษฐกิจดังกล่าว และได้กลายเป็นกลุ่มการค้าที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดทั้งจากในภูมิภาคเองและระดับนานาชาติ แม้กลุ่ม PA จะมีนโยบายเน้นเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งแต่ละประเทศต่างก็มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่ม PA ยังคงประสบปัญหาและอุปสรรคจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ยังไม่เพียงพอและโอกาสทางการศึกษาที่ยังไม่ทั่วถึง นอกจากนี้ประเทศสมาชิกยังคงพึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกสินค้าวัตถุดิบซึ่งมีความอ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจโลก รวมถึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในลาตินอเมริกาที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น

กลุ่ม PA ถือเป็นการรวมกลุ่มของประเทศที่มีศักยภาพสูงในภูมิภาคลาติน มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของโลก มี GDP รวมกันคิดเป็นร้อยละ 36 ของภูมิภาค และมีประชากรกว่า 225 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิต อาทิ ทองแดง ลิเทียม แร่เหล็ก ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และผลิตผลทางการเกษตร จึงถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีความน่าสนใจสำหรับไทย แม้ที่ผ่านมา ไทยได้จัดทำ FTA กับเปรู และชิลี ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปี 2554 และ 2558 ตามลำดับ แต่การจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับกลุ่ม PA จะส่งผลดีต่อ (1) การขยายและต่อยอดโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าสู่ภูมิภาคลาตินอเมริกาได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดเม็กซิโกที่ไทยยังไม่มีการจัดทำความตกลง FTA และ (2) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

หลายประเทศ รวมทั้งไทยได้รับการเสนอขอให้เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในกลุ่ม PA เนื่องจากสมาชิกกลุ่ม PA เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งหากไทยสามารถจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับกลุ่ม PA ได้เช่นเดียวกับสิงคโปร์ จะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถเข้าถึงสินค้าเกษตรของกลุ่มประเทศ PA ได้มากยิ่งขึ้น เช่น อาโวคาโดของเม็กซิโก ไวน์ของชิลี กาแฟและโกโกของโคลอมเบีย รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากความตกลงการค้าเสรี เช่น การยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าส่วนใหญ่ การลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การส่งเสริมความเท่าเทียมในการค้าการลงทุนระหว่างภาคีสมาชิก การเปิดโอกาสให้ไทยสามารถเข้าร่วมประมูลในโครงการของรัฐบาลในกลุ่มประเทศ PA  รวมทั้ง การส่งเสริมด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์และความร่วมมือด้านการบริการขนส่งทางทะเล นอกจากนี้ การค้าบริการในกลุ่ม PA ยังคงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาและร่วมลงทุน อาทิ บริการท่องเที่ยว บริการด้านการเกษตร ซึ่งการพัฒนาความร่วมมือในสาขาดังกล่าวจะเป็นโอกาสในการขยายการส่งออกของสินค้าที่เกี่ยวข้องด้วย

_________________________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

สิงหาคม   2566

 

[1] https://www.latercera.com/mundo/noticia/los-desafios-de-dina-boluarte-al-mando-de-la-alianza-del-pacifico/EGWO2U6DLFH7TD2YPQZ5L5W3UU/

[2] https://hir.harvard.edu/the-future-of-the-pacific-alliance/

[3] https://alianzapacifico.net/en/what-is-the-pacific-alliance/

[4] https://gestion.pe/economia/peru-toma-el-mando-de-la-alianza-del-pacifico-que-retos-enfrenta-en-el-grupo-noticia/?ref=gesr

[5] https://gestion.pe/economia/peru-asume-presidencia-pro-tempore-de-la-alianza-del-pacifico-desde-hoy-noticia/?ref=gesr

Thai Trade Center
Av. Andrés Bello 2777, Of.2802, Las Condes, Santiago, CHILE 

 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศระหว่างเม็กซิโกและโคลอมเบีย[2] ส่งผลให้การเข้ารับตำแหน่งผู้นำกลุ่ม PA ล่าช้าออกไป ซึ่งเดิมกำหนดไว้ในเดือนธันวาคม 2565 โดยชิลีได้ทำหน้าที่ผู้นำของกลุ่ม PA เป็นการชั่วคราวก่อนส่งมอบตำแหน่งให้เปรูเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2566 แม้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม PA  จะเริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น[3] เพื่อผลักดันการค้าและการลงทุนของกลุ่ม PA แต่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเปรูกับเม็กซิโก และเปรูกับโคลอมเบียยังคงอยู่ในสถานะที่อ่อนไหว

[1] ความตกลง PA เป็นความตกลงทางการค้า ที่มีวัตถุประสงค์ขยายการค้าระหว่างกันโดยขจัดอุปสรรคทางการค้าและบูรณาการเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาการแข่งขันของสมาชิก ก่อตั้งขึ้นในเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ ชิลี เปรู โคลอมเบีย และเม็กซิโก

[2] https://www.france24.com/es/am%C3%A9rica-latina/20230218-amlo-niega-la-presidencia-de-la-alianza-del-pac%C3%ADfico-a-per%C3%BA-por-considerar-espurio-a-su-gobierno

[3] The Estrada Doctrine is one of Mexico’s core foreign policy ideals (from 1930 to the early 2000s, and again since 2018). Its name derives from Genaro Estrada, Secretary of Foreign Affairs during the presidency of Pascual Ortiz Rubio (1930–1932). The doctrine claims that recognition of a government should be based on its de facto existence rather than on its legitimacy and that foreign governments should not judge positively or negatively the governments or changes in the government of other states or countries, as such an action would imply a breach of state sovereignty. The policy was said to be based on the principles of non-intervention, peaceful resolution of disputes, and self-determination of all nations. https://en.wikipedia.org/wiki/Estrada_

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login